เมื่อโลงศพมีชีวิตด้วยเส้นใยเห็ดรา ‘Mycelium’ ผลิตภัณฑ์ทางเลือกรักษ์โลกแห่งอนาคต
ใครจะคาดคิดว่าเทรนด์รักษ์โลกในปัจจุบันไม่ได้วนเวียนอยู่แค่ในชีวิตประจำวันของเราเท่านั้น แต่ชีวิตหลังความตายยังสามารถเลือกให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
Highlights
- เส้นใยเห็ดรา ‘Mycelium’ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Ultimate green material for the future หรือ วัตถุดิบสีเขียวที่ดีที่สุดแห่งอนาคต เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เพื่อผลิตสินค้าแบบไม่ทำลายโลก
- โลงศพยุคใหม่ ไม่ต้องฝังกลบให้เปลืองพื้นที่ ไม่ต้องเผาให้เกิดควันมลพิษทำลายชั้นบรรยากาศ เมื่อตัวมันเองสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้
- โปรตีน Plant-Based เตรียมหลบไป เมื่อ mycelium-based หรือโปรตีนจากเส้นใยเห็ดรากำลังมา
--------------------
ในปัจจุบันอุตสาหกรรมต่างๆเริ่มมีความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและปรับภาพลักษณ์ของธุรกิจให้มีความรักษ์โลกมากขึ้น โดยหลายๆแบรนด์ได้หันมาเลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมไปมากกว่าเดิม เราเองคงเคยเห็นวัสดุทางเลือกเพื่อสิ่งแวดล้อมมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็น พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) หรือ ผักตบชวาแปรรูป
แต่ด้วยสมองและสองมือ รวมถึงเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอยู่ในทุกๆวัน ‘เส้นใยเห็ดรา หรือ ไมซีเลียม (Mycelium)’ วัสดุทางเลือกรักษ์โลกชนิดใหม่จึงถูกค้นพบ และนักวิจัยยังเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงอนาคตได้
รู้จักกับเส้นใยเห็ดรา ‘Mycelium’ ทางเลือกเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
ไมซีเลียม (Mycelium) หรือ เส้นใยจากเห็ดรา เป็นเส้นใยที่ได้ขึ้นมาจากธรรมชาติ เติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีอยู่ทุกหนแห่ง มีจุดเด่นในเรื่องความสามารถสลายตัวเองได้ตามธรรมชาติ และยังได้รับการขนานนามว่าเป็น Ultimate green material for the future หรือ วัตถุดิบสีเขียวที่ดีที่สุดแห่งอนาคต
ในปัจจุบันในหลายอุตสาหกรรมเริ่มมีการปรับตัวขยับมาใช้ไมซีเลียมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ผลิตอิฐจากไมซีเลียม อุตสาหกรรมแฟชั่น ความงาม บรรจุภัณฑ์ อาหาร หรือแม้กระทั่งในวงการแพทย์ที่คาดกันว่า ในอนาคตไมซีเลียมจะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์และอาจล้ำไปถึงการสร้างอวัยวะ!
ไม่ต้องเผา ไม่ต้องกลบ เมื่อ ‘โลงศพ’ ย่อยสลายได้
ใครจะรู้ว่าโลกสมัยใหม่ขนาดโลงศพยังสามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ ไม่ต้องฝังกลบ ไม่ต้องเผาให้เกิดควันมลพิษอีกต่อไปกับ ‘Living Cocoon โลงศพมีชีวิต’ ชิ้นแรกของโลก ที่สามารถย่อยสลายตัวเองได้ภายใน 45 วัน (ระยะเวลาย่อยสลายขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่)
ซึ่งสาเหตุที่เรียกโลงศพมีชีวิต ก็เพราะวัสดุที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตมาจาก ‘เส้นใยเห็ดรา’ หรือ ‘ไมซีเลียม (Mycelium)’ ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดวัฏจักรการย่อยสลายได้ ทำให้ประหยัดพื้นที่ในการฝังกลบ ศพและโลงย่อยเป็นปุ๋ยกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ไวขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆโดยรอบ
Living Cocoon ถูกคิดค้นโดยบ็อบ เฮนดริกซ์ (Bob Hendrikx) นักออกแบบผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม โดยความพิเศษของการนำไมซีเลียมมาใช้คือ มันสามารถย่อยสลายสสารได้หลากชนิด แถมยังชะล้างสิ่งปนเปื้อน สารพิษ โลหะหนัก ยาฆ่าแมลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงทรัพย์สินต่างๆที่ถูกใส่เข้าไปในโลงก็จะถูกย่อยสลายโดยไม่ทิ้งสารตกค้างใดๆให้เป็นพิษต่อธรรมชาติ
ซึ่งตัวของเฮนดริกซ์ กล่าวว่า “การคิดค้นผลิตภัณฑ์นี้ใช้ระยะเวลานานมากๆ เพราะเป็นแนวทางใหม่ที่ต้องทำงานร่วมกับสิ่งมีชีวิตอย่าง ไมซีเลียมซึ่งไม่เหมือนกับวัสดุอื่นๆที่เคยทำมา” ซึ่งก่อนเฮนดริกซ์จะค้นพบเส้นใยจากราชนิดนี้ เขาต้องทำการทดลองและเฟ้นหาวัสดุต่างๆจากธรรมชาติอย่างยากเย็น ดังนั้นการค้นพบนี้เปรียบเสมือนความสำเร็จอันยิ่งใหญ่
เพราะไมซีเลียมเปรียบเสมือนพี่เบิ้มแห่งการรีไซเคิลรายใหญ่ที่สุดในธรรมชาติ แถมยังเป็นวัสดุที่มาแรงในตลาดยุคปัจจุบันและสอดคล้องกับเทรนด์รักษ์โลกในขณะนี้ โดยปัจจุบันต้นทุนของโลงศพ Living Cocoon อยู่ที่ 1,600 ดอลลาร์ (ราวๆ 54,000 บาท) ซึ่งคาดว่าหากในอนาคตเกิดการผลิตที่มากขึ้น ราคาก็มีแนวโน้มว่าอาจจะลดลงตามกลไกตลาด
เทรนด์ Plant-based หลบไป เมื่อเส้นใยจากราผลิตโปรตีนได้
ตลาดโปรตีนทางเลือกก็ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ยังโตได้ เจ้าของธุรกิจหลากหลายเจ้าต่างออกหน้ากันเสนอไอเดียล้ำๆกันอย่างสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นทั้งเนื้อจากพืช หรือ Plant-based meat เนื้อจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ อาหารทะเลจากพืช แต่ไอเดียต่างๆอาจต้องเริ่มถอยให้กับ mycelium-based หรือโปรตีนจากเส้นใยเห็ดรา!
‘Atlast Food’ และ ‘Meati Foods’ สตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกาเดินหมากไปไกลกว่านั้นมาก เมื่อพวกเขาไม่ได้คิดผลิตแค่เนื้อแปรรูปจากโปรตีนทางเลือก อย่าง เบอร์เกอร์หรือไส้กรอก แต่พวกเขาเลือกที่จะผลิตเนื้อทั้งก้อนจากไมซีเลียมหรือเส้นใยรา ซึ่งนับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มากแต่ยังยังไม่มีใครกล้าเข้าไปเล่นมากนัก
เส้นใยไมซีเลียมนั้นมีความหนาแน่นที่ใกล้เคียงกับมัดกล้ามเนื้อในเนื้อวัว ดังนั้นเส้นใยที่ได้จึงสามารถนำมาจัดเรียงเพื่อให้มีช่องว่าง เนื้อสัมผัส ความแข็งและอ่อนนุ่ม ในลักษณะที่ใกล้เคียงกันได้ นอกจากนี้ ยังมีกรดอะมิโนเหมือนเนื้อสัตว์ ที่เป็นประโยชน์ แถมยังอุดมไปด้วยวิตามิน และแร่ธาตุ เหมือนกับพืช เส้นใยเห็ดรา ไมซีเลียม จึงเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการสูงที่สุดตัวหนึ่ง
DELL กับ IKEA ขยับก่อน โฟมกันกระแทกจากเส้นใยเห็ดรา
โฟมพลาสติก หนึ่งในปัญหาที่ชวนกุมขมับ หากจะพูดถึงในแง่ประโยชน์การใช้สอยแล้วก็ถือได้ว่ามีประโยชน์มากล้น แต่หลังจากการใช้กลับกลายเป็นขยะทำลายสิ่งแวดล้อมไปอีกนับพันปี ไม่ว่าจะบริษัทใหญ่ๆหรือสตาร์ทอัพในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จึงเกิดการคิดค้นวัสดุกันกระแทกที่ผลิตจากธรรมชาติขึ้นมาหลากหลายชนิด
ในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ‘Ecovative’ บริษัทสตาร์ทอัพ ได้คิดค้นผลิตภัณฑ์กันกระแทกชนิดใหม่ขึ้นมา โดยผลิตขึ้นจากเส้นใยเห็ดรา หรือ ไมซีเลียม ซึ่งคุณสมบัติพิเศษของเจ้าเส้นใยคือมีความ เบา นิ่ม และกำหนดรูปร่างเฉพาะเองได้ แถมยังย่อยสลายได้ภายในไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น
แม้ว่ายังมีข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาในการเพาะเห็ด โฟมไมซีเลียม 1 ก้อนจึงจะใช้ระยะเวลาในการสร้างนานมาก แถมยังมีราคาที่สูงขึ้นตามอีกด้วย ก้อนหนึ่งก็ตกหลักร้อยกันเลยทีเดียว แต่ทาง Ecovative ก็ได้ออกมาแก้ปัญหานี้ โดยการผลิตชุด kit สำหรับใครก็ตามที่ต้องการเพาะโฟมกันกระแทกจากธรรมชาตินี้เอง
ซึ่งในตอนนี้เอง บริษัทชื่อดังก้องโลกอย่าง DELL และ IKEA ถือเป็นบริษัทแรกที่นำโฟมจากเส้นใยเห็ดรานี้ไปใช้งานจริงกับสินค้าของตัวเอง
จากเห็ดราสู่สินค้าแฟชั่นยุคใหม่
หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าสินค้าแฟชั่นสวยๆจำพวกเครื่องหนังนั้นแลกมาด้วยสิ่งแวดล้อมราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรมหาศาลกว่าสัตว์ตัวหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาได้ ก๊าซเรือนกระจกก็ถูกปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศไปไม่น้อย ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มไม่สะดวกใจที่จะใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังดังกล่าว แต่หากจะหันไปใช้หนังเทียมที่ผลิตจากพลาสติกก็จะกลายเป็นขยะย่อยสลายยาก เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมขึ้นไปอีก
ปัญหาดังกล่าวได้ถูกแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยเมื่อ ‘Mycotech’ บริษัทสตาร์ทอัพจากอินโดนีเซียได้คิดค้นวัสดุหนังเทียม ‘Mylea’ ที่ผลิตขึ้นจากเส้นใยเห็ดราไมซีเลียม โดยเจ้าเส้นใยเห็ดรานี้จะมีความเหนียว ทนทาน ย้อมสีติดง่าย และมีผิวสัมผัสใกล้เคียงหนังจริง จึงถูกนำไปปรับใช้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเอาใจสายแฟชั่นจำนวนไม่น้อย ซึ่งสายนาฬิกา เป็นผลิตภัณฑ์แรกๆที่ถูกผลิตออกมา
ขั้นตอนการผลิตนวัตกรรมเครื่องหนังจากเส้นใยเห็ดรานั้นมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่น้อยกว่าการผลิตจากหนังสัตว์ หรือพลาสติก เนื่องจากแทบไม่มีการเผาไหม้ในการแปรรูป ซึ่งจากสถิติเปรียบเทียบข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสายนาฬิกาจากไมซีเลียม มีเพียงแค่ 0.7 กิโลกรัมเท่านั้น เทียบกับการผลิตจากหนังสัตว์ที่ปล่อยก๊าซถึง 300,000 กิโลกรัม
นอกจากนี้ในขั้นตอนการย้อมสียังเป็นสีที่ถูกสกัดมาจากดอกไม้ หรือเปลือกไม้ตามธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะปลอดสารเคมีและเป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้เป็นอย่างดี สามารถนำไปทำเครื่องหนังได้สารพัด ทั้งกระเป๋า รองเท้า ซองบัตร ฯลฯ
คาดว่าในอนาคตอีกไม่ไกลไมซีเลียมจะถูกพัฒนาและใช้ไปในแทบจะทุกวงการอุตสาหกรรม และเมื่อถึงเวลานั้นอัตราการเผาไหม้ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกก็คงจะพอลดลงได้บ้าง รวมถึงอาจมีวัตถุดิบผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อถนอมโลกของเราผุดขึ้นมาเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
--------------------
อ้างอิง:
- https://www.treehugger.com/living-coffin-reunites-faster-nature-5214276
- https://brandinside.asia/mycelium-based-protein-on-the-move/
- https://www.dell.com/learn/bo/en/bocorp1/corp-comm/mushroom-packaging
- https://www.dell.com/en-us/blog/supporting-sustainability-innovators-how-one-dell-business-partner-has-grown-their-idea-into-success/
- https://urbancreature.co/loop-living-cocoon/#:~:text=Living%20Cocoon%20%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B6%E0%B9%88%E0%B8%87,%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88)