posttoday

ปฎิวัติอุตสาหกรรมแฟชั่น: จากนมบูดสู่เสื้อยืด ‘Milk Tee’

25 เมษายน 2565

ไม่รอดถ้าไม่ใส่ใจ! บอกลา Fast Fashion พร้อมแก้ไขปัญหา Food Waste กับแบรนด์แฟชั่นยุคใหม่ที่ต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย ‘Milk Tee’ เสื้อยืดจากเส้นใยนม แฟชั่นล้ำๆที่ใครจะคาดถึง?

นอกจากปัญหาเรื่อง Food waste แล้ว Fast Fashion ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่อุตสาหกรรมแฟชั่นต้องเผชิญ เมื่อผู้บริโภคเริ่มมีความตระหนักถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เสื้อผ้าดีไซน์ตามเทรนที่คุณภาพไม่คงทน ราคาต่ำ แถมเน้นการใช้งานแบบใส่ไม่กี่ครั้ง ดูจะไม่สามารถตีตลาดคนรุ่นใหม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นแบรนด์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายจึงพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตเพื่อลดมลพิษ และทำลายสิ่งแวดล้อมให้ได้น้อยที่สุด

 

ปฎิวัติอุตสาหกรรมแฟชั่น: จากนมบูดสู่เสื้อยืด ‘Milk Tee’

Food waste ปัญหาที่ถูกซ่อนกับผลกระทบใหญ่เกินคาดคิด

 

ขยะอาหาร’ หรือ ‘Food waste’ ตามคำนิยามของ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) หมายถึง การสูญเสียอาหารในตอนปลายของห่วงโซ่อาหาร (ขั้นตอนการขายปลีกและการบริโภค) ซึ่งเชื่อมโยงไปยังพฤติกรรมของผู้ค้าปลีก ผู้บริโภค และการบริโภค นอกจากนี้ FAO ยังเผยสถติตัวเลขที่น่าตกใจว่า ในแต่ละปีทั่วโลกจะเกิดขยะจากอาหารที่ถูกทิ้งราวๆ 1.3 ล้านตัน หรือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นทั้งปี ในขณะเดียวกันกลุ่มคนที่ขาดแคลนอาหารก็กลับเพิ่มขึ้นทุกปีด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นคำถามที่น่าสงสัยว่าในเมื่อเกิด Food waste มากขนาดนี้ ทำไมในบางพื้นที่ยังเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร?

 

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ ‘พศิษฐ์ คณาศิริชัยนนท์’ ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ไว้ว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการ ‘Over production’ หรือผลิตอาหารออกมามากเกินไป ซึ่งเราสามารถเห็นได้ตามร้านอาหารขนาดใหญ่ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคภาคครัวเรือนบางส่วน ที่ชอบซื้อของมากเกินความจำเป็น

 

โปรโมชั่นเพื่อสนับสนุนการขายจากภาคการตลาดก็เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้ผู้บริโภคหยิบจ่ายใช้สอยมากเกินกว่าความจำเป็นเช่นกัน แต่กลุ่มคนที่สามารถใช้จ่ายแบบนี้ได้ ก็ต้องเป็นระดับชนชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้น

 

ในอีกมุมหนึ่ง จำนวนคนยากไร้ที่ไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานแม้กระทั่งอาหารได้นั้น เกิดจากการเกลี่ยสัดส่วนอาหารที่ยังทำได้ไม่ดีพอ ความสามารถในการเข้าถึงอาหารจึงค่อนข้างต่ำ และทำให้เกิด Food waste เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆทุกปี

 

ในส่วนของผลกระทบจาก food waste นั้นส่งผลต่อชีวิตเรามากกว่าที่คิด สำนักข่าว Al Jazeera กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขยะจากเศษอาหารทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 8% ซึ่งมีผลกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยรวมของโลก ผลผลิตทางการเกษตรที่ถูกแปรรูปแล้วเหลือทิ้ง ก็ส่งผลให้เกิดความสูญเสียอันหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้นด้วย

 

นอกจากนี้ ขยะจากการทำการเกษตร และการขุดบ่อเลี้ยงปลา ได้กลายเป็นการสร้างพื้นที่ปิดให้กับระบบนิเวศทางน้ำ สายใยอาหารหรือ food web ถูกเปลี่ยนแปลง และจะส่งผลกระทบต่อวงจรอาหารในระยะยาวได้

ปฎิวัติอุตสาหกรรมแฟชั่น: จากนมบูดสู่เสื้อยืด ‘Milk Tee’

ไม่รอดถ้าไม่ใส่ใจ ‘Mi Terro’ แบรนด์ Gen ใหม่ เพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม

 

สตาร์ทอัพหน้าใหม่จากลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ‘มี เทอร์โร (Mi Terro)’ จึงได้คิดผลิตเสื้อยืดที่แปรรูปมาจากนมบูดหรือนมเหลือใช้ โดยพยายามนำมารีไซเคิลเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อลดปัญหา Food waste อันเป็นปัญหาใหญ่ทำลายสิ่งแวดล้อมที่หลายคนอาจมองข้าม และรบกวนการใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด

 

โรเบิร์ต ลูโอ และแดเนียล จวง สองผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ผุดไอเดียนี้ขึ้นจากครั้งที่โรเบิร์ตได้ไปเยี่ยมเยือนฟาร์มโคนมของลุง แล้วดันพบว่าภายในฟาร์มมีนมบูดที่ไม่ถูกนำเข้ากระบวนการผลิตจนต้องทิ้งไปอย่างไร้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก แถมฟาร์มโคนมอีกหลายๆแห่งก็เผชิญกับปัญหาการนำเข้ากระบวนการผลิตไม่ทัน จึงต้องทิ้งน้ำนมไปอย่างสูญเปล่าเช่นกัน

 

นอกจากปัญหาภายในฟาร์ม นมแปรรูปในบรรจุภัณฑ์ต่างๆก็มีจุดจบที่ไม่ต่างกันคือ เมื่อขายสินค้าออกไม่หมด นมก็เสียก่อนถึงมือผู้บริโภค (สถิติจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ FAO รายงานว่าในแต่ละปี ของเสียจำพวกนมมีสัดส่วนที่มากถึงร้อยละ 20 ของเศษอาหารที่ถูกทิ้ง และอาจสูงขึ้นถึงร้อยละ 30 ในปีที่โลกเผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรงอย่างน้ำท่วมหรือ โรคระบาดโควิด-19)

ปฎิวัติอุตสาหกรรมแฟชั่น: จากนมบูดสู่เสื้อยืด ‘Milk Tee’

แล้วนมบูดเหล่านี้สามารถเปลี่ยนกลับไปเป็นอย่างอื่นได้ไหม? สมมติฐานและไอเดียนี้ผุดขึ้นในหัวของโรเบิร์ต และถูกสานฝันโดยทีมงานซึ่งร่วมคิดกระบวนการวิจัย “Pro-Act (Protein Activation)” ขึ้นมา เพื่อสกัดนมและนำส่วนที่ไม่ต้องการออกไป จนเหลือสิ่งที่สามารถนำมาแปรรูปกลายเป็นเส้นใยและยังสามารถถักทอขึ้นมาให้กลายเป็นเสื้อผ้าได้

 

กระบวนการผลิตเสื้อโดยบริษัท มี เทอร์โร (Mi Terro) ใช้น้ำในการผลิตน้อยกว่าใยฝ้ายธรรมชาติถึง 60% ไม่มีสารพิษหรือสารตกค้างใดๆ แถมยังปราศจากการใช้สารเคมีในระหว่างการผลิต 100% ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากสำหรับแบรนด์จากบริษัทสตาร์ทอัพเล็กๆแบบนี้

 

เมื่อไอเดียดังกล่าวถูกแพร่งพรายออกไปยังสาธารณชน มี เทอร์โร (Mi Terro) ได้รับเม็ดเงินสนับสนุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากไม่มีทุนทรัพย์เหล่านี้ เสื้อยืด ‘Milk Tee’ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ไอเดียและความรู้ของโรเบิร์ตจะกลายเป็นเพียงแค่ฝันเท่านั้น ปัจจุบัน มี เทอร์โร (Mi Terro) กำลังมีความพยายามในการบรรลุข้อตกลงกับยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายอย่าง Nike และ H&M เพื่อเป็นพาร์ทเนอร์ในการกระจายวัตถุดิบให้บริษัทใหญ่ไปผลิตสินค้าภายใต้ชื่อแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งหากดีลนี้ประสบความสำเร็จขึ้นมา จะเปรียบเสมือนการปฎิวัติอุตสาหกรรมแฟชั่นให้เดินไปในทิศทางรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ปฎิวัติอุตสาหกรรมแฟชั่น: จากนมบูดสู่เสื้อยืด ‘Milk Tee’

ดีต่อโลก ดีต่อผิว ผลิตภัณฑ์ยุคใหม่จาก ‘เส้นใยนม’

 

ความตั้งใจหลักของแบรนด์ มี เทอร์โร (Mi terro) คือต้องการแทนที่ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมแบบก้าวกระโดด โดยเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติทั้งหมด โดยการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนเม็ดเงินด้วยของเสียจากภาคเกษตรกรรม นอกจากการผลิตเสื้อยืดแล้วทางแบรนด์ยังพยายามปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่เพื่อแปรรูปเวย์โปรตีนที่เหลือจากการสกัดนม ให้กลายเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ

วัสดุที่มาจากนมไม่เพียงแต่ดีต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์อื่นๆอีกหลายประการ

 

“เราพบว่าเคซีนจากนมผลิตเส้นใยที่ให้สัมผัสที่นุ่มนวลกว่าเสื้อผ้าฝ้ายถึง 3 เท่า ซึ่งแตกต่างจากวัสดุอื่นที่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งเส้นใยนี้เหมาะมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง นอกจากนี้ Milk Tee ยังมีคุณสมบัติดูดซับความชื้นและต้านเชื้อแบคทีเรีย ไม่ยับย่นง่าย ระบายอากาศได้ดี ที่สำคัญเลยคือย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แต่จุดหนึ่งที่คิดว่าได้ใจผู้บริโภคมากที่สุดคือ กรดอะมิโน 18 ชนิดที่อยู่ในเส้นใยเสื้อ สามารถช่วยบำรุงผิวของผู้สวมใส่นุ่มน่าสัมผัสเหมือนอาบน้ำนมอีกด้วย”

โรเบิร์ตและแดเนียล จวง ผู้ร่วมก่อตั้งอธิบายถึงจุดเด่นของเสื้อยืดจากเส้นใยนม

 

ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ของสองผู้ก่อตั้ง ไม่เพียงสร้างความโดดเด่นให้กับแบรนด์และผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งก้าวที่แสนสำคัญในการพลิกโฉมวงการแฟชั่น สร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกที่ยั่งยืนสืบต่อไป