posttoday

ปะการังเทียมจากเถ้ากระดูก โลกหลังความตายแบบยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม

28 เมษายน 2565

ทางเลือกจัดการศพในปัจจุบันนอกจากการเผาและฝังกลบ คาดว่าคนไทยเรายังไม่คุ้นหูกับวิธีอื่นๆนัก แต่ในต่างประเทศทางเลือกจัดการชีวิตหลังความตายมีมากมาย และหนึ่งในนั้นคือการตอบแทนธรรมชาติเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนด้วยการแปลงเถ้ากระดูกให้กลายเป็นปะการังเทียม

          ตายแล้วไปไหน ปัญหาที่หลายคนตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้งซึ่งคำตอบที่ตามมาก็อาจเต็มไปด้วยความว่างเปล่า แต่ทุกวันนี้เราสามารถเลือกได้แล้วว่าชีวิตหลังความตายของเราจะไปอยู่ตรงจุดไหนเมื่อมีสิ่งประดิษฐ์อย่าง ‘Reef ball’ หรือปะการังเทียมจากเถ้ากระดูก เพื่อเป็นทางเลือกในการจัดการศพสำหรับผู้ที่ต้องการตอบแทนสิ่งแวดล้อม แบบ Back to nature 100 เปอร์เซ็น!

ปะการังเทียมจากเถ้ากระดูก โลกหลังความตายแบบยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม

โลกหลังความตายแบบยั่งยืน เผา ฝังกลบ หรือวิธีอื่น?

          คำถามที่ว่าระหว่างการเผา และฝังกลบ การจัดการกับศพวิธีไหนที่ยั่งยืนและดีกับสภาพแวดล้อมมากกว่ากัน? ซึ่งจากการประมาณการแล้วในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกจะอยู่ที่ราว 80 ล้านรายต่อปี และจะเพิ่มสูงถึง 102 ล้านรายต่อปีภายใน 2060 โดยการจัดการศพไม่ว่าจะทั้งการเผา ฝัง เก็บในห้องหรือโลงจนกว่าจะย่อยสลายไปเอง ทุกวิธีล้วนกินพลังงานและพื้นที่ แถมยังส่งมลภาวะที่เป็นพิษต่อสภาพอากาศ 

          ข้อมูลจาก Northwoods Casket Company จากประเทศสหรัฐฯชี้ว่า การฝังกลบจำเป็นต้องใช้พื้นที่จำนวนมากและใช้ทรัพยากรที่ใช้ในการฝัง เช่น เหล็กเกือบ 100,000 ตัน คอนกรีต 1.5 ล้านตัน และต้นไม้เกือบ 77,000 ตัน แต่ผลท้ายสุดซากต่างๆกลับไม่ย่อยสลาย นอกจากนี้การใช้ฟอร์มาลีนดองศพไม่ให้เน่าเสียยังส่งผลร้ายกลายเป็นพิษในอากาศเมื่อสารดังกล่าวค่อยๆแตกสลายตัว

          อีกทางเลือกในการจัดการศพที่ค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก และใช้พื้นที่น้อยกว่าคือ การเผา  แต่ข้อมูลจาก Natural Death Centre ชี้ว่าการเผาแต่ละครั้งใช้พลังงานไฟฟ้าและก๊าซพอๆกับการขับรถยนต์ราว 800 กิโลเมตร แถมการเผาศพ 1 แต่ละราย ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 113 กิโลกรัม

          ด้วยแนวคิดที่เริ่มหันมาใส่ใจโลกและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ‘การจัดการศพแบบยั่งยืน’ จึงเข้ามามีบทบาทในจุดนี้ พร้อมกับโจทย์สุดท้าทายว่าจะมีวิธีใดบ้างที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้

 

 

ปะการังเทียมจากเถ้ากระดูก โลกหลังความตายแบบยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม

แปลง ‘กาย’ เป็นปะการัง ทางเลือกหลังความตายเพื่อตอบแทนธรรมชาติ 

          Janet Hock อดีตศาสตราจารย์ด้านทันตกรรม และเธอยังเป็นนักดำน้ำตัวยงที่หลงไหลในท้องทะเลไม่แพ้ใคร ซึ่งจากการสำรวจท้องทะเลและมหาสมุทรมาแล้วทั่วโลกเธอพบว่า ใต้ท้องทะเลมีสิ่งมีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์อยู่อย่างคับคั่ง แต่ตอนนี้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นกลับลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด

          ในปี 2020 ศาสตราจารย์ Hock ได้เปิดเผยความตั้งใจของเธอว่า เมื่อเธอสิ้นชีวิตลงเธออยากให้ร่างกายของเธอได้เป็นส่วนหนึ่งกับปะการัง ซึ่งใครจะรู้ว่าคำขอนั้นสามารถทำได้จริงโดยมูลนิธิ ‘Eternal Reefs’ โดยการผสมเถ้ากระดูกเข้ากับคอนกรีตเพื่อแปลงเป็นปะการังรูปโดมหรือ ‘Reef ball’

          Eternal Reefs มูลนิธิจากรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกาให้ความเห็นว่า “เรามีลูกค้าจำนวนมากที่หลงไหลในมหาสมุทร และมีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบแนวคิดเกี่ยวกับการให้เพื่อตอบแทนโลก ซึ่งการจัดการศพแบบทางเลือกโดยการแปลงเป็นปะการังเทียม ถือเป็นวิธีที่ช่วยคืนชีวิตให้กับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ในขณะเดียวกันผู้ให้ก็เหมือนได้รับชีวิตที่ 2 ในการดำรงอยู่ใต้ทะเลกับสิ่งที่เขารัก”

ปะการังเทียมจากเถ้ากระดูก โลกหลังความตายแบบยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม

          นับตั้งแต่ปี 1998 Eternal Reefs ได้ช่วยแปลงสภาพร่างไร้วิญญาณของลูกค้ามากมายให้เป็นปะการังเทียมรูปโดม โดยการนำเถ้ากระดูกของพวกเขาผสมเข้ากับคอนกรีตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยให้กับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยอดเสียชีวิตของประชากรโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งทำให้บริการของ Eternal Reefs ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นมาก และทำให้ผู้คนเปิดรับแนวคิดใหม่ๆที่นอกเหนือไปจากการทำศพแบบทำเนียมดั้งเดิม

 

          ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิได้วางปะการังเทียมจากเถ้ากระดูกผู้เสียชีวิตไปวางยังทะเล 25 จุดนอกชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ กว่า 2,000 ชิ้น โดยครอบครัวจะได้รับพิกัดตำแหน่งของปะการังเทียมดังกล่าวด้วย

         

          แนวคิดหวนคืนสู่ท้องทะเลหลังความตาย ไม่ใช่สิ่งใหม่อย่างที่เราคาดคิดกัน แต่แนวคิดนี้มีหลักฐานปรากฏชัดมามากกว่า 1,000 ปีแล้ว อย่างในยุคอียิปต์โบราณ และยุคโรมัน ก็มีบันทึกว่ามีการฝังศพใต้ทะเลเกิดขึ้น หรือในประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ก็มีวัฒนธรรมการนำร่างของผู้เสียชีวิตลอยเรือแคนูออกสู่ทะเลเช่นกัน ในขณะที่ทุกวันนี้แนวคิดเกี่ยวกับการฝังศพใต้มหาสมุทรกลายเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แทนการเผาศพแบบดั้งเดิม แถมแนวคิดการสร้างแนวจำลองปะการังยังช่วยฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยใต้ท้องทะเลได้ดีอีกด้วย

ปะการังเทียมจากเถ้ากระดูก โลกหลังความตายแบบยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม

Climate Change กับวิกฤตของปะการัง

          ตามรายงานของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ในปัจจุบันจำนวนปะการังทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต เกิดการฟอกขาวทั่วโลก จากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น มลพิษทางอากาศ ความเป็นกรดของน้ำการทำประมงมากเกินขนาด ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก เพราะปะการังมีความสำคัญในการช่วยปกป้องแนวชายฝั่งและรักษาระบบนิเวศทางทะเล

          ปะการังเทียมจากเถ้ากระดูกที่มูลนิธิ Eternal Reefs ร่วมพัฒนาขึ้น มีขนาดความสูงราว 1 เมตร กว้าง 2 เมตร และมีน้ำหนักตั้งแต่ 250 กิโลกรัม ไปจนถึง 1,800 กิโลกรัม ซึ่งพื้นผิวและลักษณะของปะการังเทียมจะมีโพรงกลมรอบๆ ที่เหมาะกับการเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับพืชและสัตว์ทะเล โดย Murray Roberts ศาสตราจารย์สาขาชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยเอดิบะระห์ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า ปะการังเทียมจากเถ้ากระดูกมนุษย์มีประโยชน์กับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลมาก และเรายังไม่เห็นถึงข้อเสียใดๆของมันเลย

          สำหรับราคาเพื่อสร้าง ‘Reef ball’ ปะการังเทียมจากเถ้ากระดูกมนุษย์จะอยู่ที่  3,000 ถึง 7,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 100,350 - 250,875 บาท) ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวจะช่วยให้มูลนิธิสามารถสร้างแนวปะการังเทียมได้มากขึ้นตามเป้าหมายหลักของการก่อตั้งองค์กร และยังสามารถเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถช่วยให้รำลึกถึงผู้เสียชีวิตได้

          ปะการังเทียมเปรียบเสมือนบ้านสำหรับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลกว่า 56 สปีชีส์ ทั้งเม่นทะเล ปู ฟองน้ำทะเล ปลานานาพันธุ์  ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จจะเป็นอนุสรณ์สถานที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 16 เอเคอร์ และเป็นแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากการสร้างขึ้นของมนุษย์

          ถึงแม้ว่าตัวเลือกในการจัดการศพในลักษณะนี้จะมีความยั่งยืนและดีกับสิ่งแวดล้อม แต่เราก็ต้องตระหนักในความต่างของแต่ละวัฒนธรรมที่มีความละเอียดอ่อนด้วย การจัดการศพจึงเป็นสิทธิที่ไม่ควรมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่เกินจะรับไหว และควรเคารพกับทางเลือกของครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วยเช่นกัน เทคโนโลยีต่างๆที่ถูกพัฒนาขึ้นใช้ยังต้องดำเนินไปให้พร้อมกับกฎหมายของแต่ละประเทศด้วย