เกม NFT คือแชร์ลูกโซ่? เมื่อวันที่เกมปิดตัวจนมูลค่าเหลือศูนย์

06 พฤษภาคม 2565

เกม NFT กลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้งเมื่อมีการปิดตัวของ CryptoCars และ CryptoPlanes สองเกมยอดนิยมทำผู้คนสูญเงินไปเป็นจำนวนมาก จนหลายคนอาจสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น? และทำไมหลายคนจึงบอกว่าเกม NFT คือแชร์ลูกโซ่? วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน

Highlight

  • เกม NFT หรือเกม Play to earn กลายเป็นกระแสร้อนแรงในปี 2021 เมื่อมีการเปิดตัวแนวเกมที่สามารถเล่นแล้วได้เงินจนผู้คนสนใจเป็นวงกว้าง แต่ปัจจุบันหลายเกมทยอยปิดตัวจนผู้เล่นสูญเงินลงทุนไปมหาศาล
  • ที่เป็นแบบนี้เพราะระบบเศรษฐกิจภายในเกมยังมีปัญหา ไม่สามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนให้กลายเป็นระบบเศรษฐกิจได้จริง นั่นทำให้เกมเหล่านี้มีลักษณะคล้ายกับรูปแบบ แชร์ลูกโซ่
  • แชร์ลูกโซ่ คือการสร้างเครือข่ายหลอกลงทุนแก่คนจำนวนมาก แล้วนำเงินของคนมาทีหลังจ่ายคนมาลงทุนก่อน ด้วยระบบนี้ทำให้เมื่อขาดสมาชิกหน้าใหม่ลงเงินเข้ามาวงจะแตก ตรงกับแนวทางของเกม NFT ในปัจจุบัน
  • แม้จะแก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่ได้สำเร็จ ที่ต้องระวังไม่แพ้กันคือระบบเศรษฐกิจภายในเกมและความน่าเชื่อถือจากผู้เล่น ที่เมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิดล้ม เป็นไปได้สูงว่าทั้งระบบอาจพังครืนไปตามกัน
  • สำหรับผู้ต้องการจะลงทุนในเกม NFT จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลหลายด้านโดยละเอียด ทั้งจากตัวเกม ผู้พัฒนา ระบบเศรษฐกิจ เหรียญที่ได้รับ ไปจนถึงทิศทางพัฒนาเกมนับจากนี้ ฯลฯ

 

          กระแสความร้อนแรงของเกม NFT ถูกพูดถึงมาก ทั้งจากนักลงทุนและคนทั่วไปที่ต่างมองเห็นโอกาสลู่ทางใหม่ ภายหลังการเติบโตของ Cryptocurrency ทำให้ผู้คนเข้าใจว่านี่คือช่องทางในการสร้างเม็ดเงิน ก่อนนำมาสู่การเกิดขึ้นของ NFT ที่สามารถนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนแสดงความเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ บนระบบ Blockchain

 

           การมาถึงของ NFT นำมาสู่การเกิดขึ้นของเกม GameFi หรือเกมที่ใช้ระบบ NFT เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยระบบเกมสามารถสร้างรายได้มาสู่ตัวผู้เล่นจากระบบ Play to earn ด้วยการที่ผู้เล่นจะคอยเล่นไปตามระบบกติกาของเกม จากนั้นจึงนำไอเทมรวมถึงเหรียญที่ได้จากเกมไปแลกเป็นเงินจริงอีกที

 

          แน่นอนบรรดาเกมเมอร์รวมถึงคนทั่วไปย่อมให้ความสนใจ ด้วยคำโฆษณาว่า เกมที่สามารถสร้างรายได้จากการเล่น โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเก่งฉกาจแบบนักกีฬา E-sports แค่เล่นไปตามกำลังก็สามารถสร้างรายได้เป็นตัวกระตุ้น จนกระทั่งข่าวการปิดตัวไปของเกมดัง CryptoCars และ CryptoPlanes ทำให้คนจำนวนมากต้องสูญเงินลงทุนมหาศาล

 

          ตอนนี้หลายคนจึงน่าจะเริ่มตั้งคำถามว่าเกม NFT คือแนวทางสู่อนาคตหรือเป็นแค่การต้มตุ๋นอีกรูปแบบกันแน่?


เกม NFT คือแชร์ลูกโซ่? เมื่อวันที่เกมปิดตัวจนมูลค่าเหลือศูนย์

 

รูปแบบเศรษฐกิจภายในเกม NFT กับเหตุผลหลักที่ทำให้เกมเหล่านี้ล่มสลาย

          เกม NFT กลายเป็นกระแสร้อนแรงไม่แพ้ Cryptocurrency เลยในปีก่อน มีเกมเปิดใหม่โผล่ขึ้นมาเป็นจำนวนมากพร้อมผู้ให้ความสนใจเข้าไปลงทุนไม่ขาดสาย หลายคนเห็นว่านี่คือแนวทางแห่งอนาคตสำหรับวงการ ทั้งเกมเมอร์และผู้ผลิตหลายเจ้าต่างปรารถนากระโจนเข้ามายังลู่ทางใหม่แห่งนี้

 

          แต่อันที่จริงนับแต่ปี 2021 เกม NFT ที่ต้องปิดตัวลงด้วยความล้มเหลวมีจำนวนใกล้กับที่เปิดให้บริการเลยทีเดียว

 

          ในปี 2021 มีเกม NFT ชื่อดังหลายเจ้าเปิดให้บริการ บางส่วนมีพาร์ทเนอร์ชั้นนำช่วยการันตีเพิ่มความน่าเชื่อถือ หรืออาจเข้าสู่ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนรายใหญ่ได้สำเร็จ นั่นกลับไม่ได้การันตีความยั่งยืนของตัวเกม เพราะหลายครั้งเกมที่ปิดตัวล้วนได้รับความนิยมและเชื่อมั่นจากรอบข้างทั้งสิ้น โดยอาจแบ่งสาเหตุได้ 3 ประการ ดังนี้

 

  • ระบบเศรษฐกิจภายในเกมพังทลาย

           ส่วนนี้เป็นปัญหาจากทีมพัฒนาเกมที่ไม่สามารถออกแบบการไหลเวียนของเหรียญมารองรับได้ดีพอ ทำให้เหรียญมีอัตราการเฟ้อด้วยปัจจัยบางประการ หรือตัวเกมทำให้ผู้เล่นไม่สามารถสร้างรายได้อีกต่อไป จนในที่สุดระบบเศรษฐกิจภายในเกมก็ล่มสลายต้องปิดตัวลงไปในที่สุด

 

           เกมที่เกิดปัญหาประเภทนี้ เช่น CryptoMines หนึ่งในเกมยานรบขุดหาทรัพยากรชื่อดังที่ใช้ระบบ Oracle ควบคุม โดยการปรับค่าเงินที่ใช้ในเกมให้ตรงกับราคาเหรียญจริง แต่มันกลับส่งผลกระทบเมื่อมูลค่าเหรียญถูกทุบจนราคาตกลง แม้จะมีการตรึงกำไรที่ได้รับรายวันเพื่อลดผลกระทบ แต่เป็นการบังคับให้ต้นทุนที่ผู้เล่นต้องใช้จ่ายรายวันตามระบบเกมสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อแบกรับต้นทุนไม่ไหวผู้เล่นจึงเทขายเหรียญจนเกมต้องปิดตัวในที่สุด

 

  • ตัวเกมหมดความน่าเชื่อถือในสายตาผู้เล่น

           นี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นอาจสอดคล้องมาจากข้อก่อนหรือไม่ก็ได้ แต่มูลค่าเกมและเหรียญเองก็เป็นส่วนสำคัญในสายตาผู้เล่นรวมถึงนักลงทุน เมื่อผู้คนขาดความเชื่อมั่นย่อมนำไปสู่การเทขายจนมูลค่าของเหรียญลดต่ำ กลายเป็นชนวนการล่มสลายของเกมไปในที่สุด

 

          ตัวอย่างของเกมที่เปิดปัญหานี้ เช่น BNB Heroes แม้จะผูกตัวอยู่กับเหรียญ BNB หรือ Binance coin ที่มีความน่าเชื่อถือและแพลตฟอร์มมากมายรองรับ แต่สุดท้ายด้วยการเปลี่ยนเงื่อนไขภายในเกมบ่อยครั้งทำให้เกิดความสั่นคลอน เกิดการเทขายเหรียญเป็นจำนวนมาก สุดท้ายเกมจึงต้องปิดให้บริการในเวลาแค่เดือนเดียว

 

  • การปิดตัวลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

           ส่วนนี้อาจเป็นปัญหาที่ตัวระบบภายในเกมเริ่มไม่สามารถจัดการปัญหาได้ หรือปัญหาส่วนตัวก็ไม่ทราบ เมื่อตัวเกมประกาศยุติการให้บริการอย่างถาวรเสียดื้อๆ ส่งผลให้มูลค่าของไอเทม ค่าเงินในเกม รวมถึงเหรียญสกุลที่ผูกติดกับเกมถูกเทขายดิ่งลงเป็นประวัติการณ์

 

          นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ CryptoCars และ CryptoPlanes ที่เพิ่งประกาศปิดตัวกะทันหันช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวการปิดตัวหลุดออกมาจนมูลค่าเหรียญตกลง แต่ไม่มีใครคาดเดาเหตุการณ์นี้ได้ล่วงหน้า  เมื่อมีการปิดตัวจึงส่งผลให้เหรียญ CCAR และ CPAN ที่ได้รับจากตัวเกม มีมูลค่าลดลง 99% ภายใน 24 ชม.

 

          แน่นอนว่าแท้จริงยังมีอีกหลายเกมที่ประสบปัญหาต้องปิดตัวลงในหลายรูปแบบ แต่รอยแตกร้าวโดยมากมักเริ่มจากข้อใดข้อหนึ่งในจำนวนนี้ ผลที่ตามมาคือการสูญเสียเงินกับเกม NFT ไปเป็นจำนวนมากโดยที่บางคนยังไม่ทันได้ทุนคืน เป็นเหตุให้ผู้คนเริ่มสงสัยว่าตกลงแล้วเกม NFT มันคืออะไร? เหตุใดจึงมีความเสียหายต่อผู้เล่นได้มากขนาดนี้?

 

         แท้จริงเราสามารถอธิบายสาเหตุได้จากหลายปัจจัย แต่อธิบายโดยรวมคือรูปแบบธุรกิจเกม NFT คล้ายคลึงแชร์ลูกโซ่


เกม NFT คือแชร์ลูกโซ่? เมื่อวันที่เกมปิดตัวจนมูลค่าเหลือศูนย์

 

แชร์ลูกโซ่คืออะไร? อันตรายยังไง? เหตุใดเกม NFT จึงกลายเป็นแบบนั้น?

          ต้องอธิบายก่อนว่า แชร์ลูกโซ่ คือ การหลอกให้นำเงินไปร่วมลงทุนธุรกิจบางอย่าง มีจุดหมายในการสร้างเครือข่ายระดมเงินโดยมีการการันตีว่าให้ผลตอบแทนสูงในเวลาสั้น แต่แท้จริงไม่มีการลงทุนเกิดขึ้น เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบคือการนำเงินของสมาชิกใหม่มาจ่ายผลตอบแทนสมาชิกเก่าเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เมื่อไม่มีสมาชิกใหม่เข้าสู่ระบบหรือได้จำนวนเงินมากพอ สุดท้ายกิจการจะปิดตัวลงพร้อมเงินลงทุนที่หายไปกับตา

 

          รูปแบบของแชร์ลูกโซ่มีใจความสำคัญคือการใช้เงินของคนมาใหม่จ่ายให้คนเก่าในระบบ โดยสุดท้ายเมื่อเกิดการพังทลายของระบบ เป็นไปได้สูงว่าเงินลงทุนของทุกคนจะหายไปหมดสิ้น ในกรณีที่คนที่มาก่อนอาจถอนทุนคืนและได้กำไรจนไม่ต้องใส่ใจต้นทุนอีก แต่คนลงเงินทีหลังกลับเป็นผู้เสียหายมากที่สุด นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเกม NFT หลายเจ้า

 

          ในช่วงแรกเมื่อตัวเกม NFT น่าสนใจในการลงทุนจะเริ่มเกิดการจับจ่าย ผู้เล่นหน้าใหม่ทยอยเข้าสู่ระบบแห่กันมาซื้อเหรียญและไอเทมภายในเกม มูลค่าของเหรียญจะถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เกิดการอิ่มตัวราคาจะเริ่มคงที่ ถึงตรงนี้บางส่วนจะเริ่มเกิดการเทขาย ถ้ามีปริมาณมากพออาจทำให้เหรียญราคาดิ่งวูบ หรือผู้พัฒนาเกมอาจชิงยุติให้บริการแล้วหอบเงินก้อนหนีได้เช่นกัน

 

           นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผู้เชี่ยวชาญบางท่านจึงบอกว่า เกม NFT จำนวนมากคือแชร์ลูกโซ่ เพราะโมเดลธุรกิจมีความคล้ายคลึงกันมาก แค่เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายมาเป็นเกมเมอร์และมีระบบ NFT กับ Crypto มาผูกไว้ให้ดูน่าเชื่อถือขึ้นเท่านั้นเอง

 

          แน่นอนผู้เล่นและนักลงทุนบางรายต่างไม่เชื่อถือจุดนี้ พากันลงทุนด้วยคาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทนมหาศาล ทั้งที่บางรายไม่ทันเข้าใจรูปแบบเศรษฐกิจภายในเกม รู้แค่ว่าขอเพียงเล่นเกมนี้ก็จะทำเงินได้ สุดท้ายต้องสูญเงินลงทุนไปมากมายเมื่อมูลค่าของเหรียญตกลงตามกลไกตลาด

 

          นอกจากนี้แม้ไม่มีประเด็นเรื่องแชร์ลูกโซ่ แต่ถ้าออกแบบระบบเศรษฐกิจในเกมได้ไม่รัดกุมพอ เกิดช่องทางให้เงินรั่วไหลจากระบบเป็นจำนวนมาก หรือเกิดเหตุการณ์บางอย่างจนสูญเสียความเชื่อมั่นจากผู้เล่นรวมถึงนักลงทุน บางครั้งมูลค่าของเหรียญที่ได้รับจากเกมเหล่านี้อาจดิ่งวูบจนสูญสิ้นคุณค่าในพริบตาได้เช่นกัน

 

           นั่นทำให้เกม NFT ไม่ใช่ของง่ายแบบ เกมที่แค่เล่นก็ได้เงิน อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ต้องศึกษาตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียดจึงตัดสินใจลงทุน เพราะในโลกของ NFT และ Crypto เรายังไม่มีกฎหมายรองรับช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น

 

เกม NFT คือแชร์ลูกโซ่? เมื่อวันที่เกมปิดตัวจนมูลค่าเหลือศูนย์

 

หมายความว่าเกม NFT ทั้งหมดคือแชร์ลูกโซ่? ไม่มีค่าพอให้เชื่อถือในการลงทุนโดยสิ้นเชิง?

          ถ้านับจากปัจจุบันเกม NFT ที่เปิดให้บริการยืนอยู่บนฐานธุรกิจแชร์ลูกโซ่เกือบทั้งหมด ด้วยรูปแบบธุรกิจส่วนมากเงินที่ไหลเข้ามาในระบบคือเงินที่จากผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเป็นหลัก ทำให้เมื่อเกิดการขาดตอนของคนกลุ่มนี้ หลายเกมจึงติดขัดชะงักงันจนไม่อาจดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จำเป็นต้องปิดตัวและมูลค่าของเหรียญก็ดิ่งวูบในที่สุด

 

          ถึงแบบนั้นก็ยังพอมีวิธีตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเกม NFT เหล่านี้ได้อยู่ แม้ไม่อาจยืนยันได้เต็มร้อยว่าจะช่วยให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อ แต่จะช่วยให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ของเกมว่า มีรูปแบบเช่นไร มีความน่าลงทุนแค่ไหน และให้ผลตอบแทนแก่เราได้คุ้มค่าหรือไม่ ได้แก่

 

  • ระบบของตัวเกม หนึ่งในสิ่งที่หลายคนอาจละเลยแต่แท้จริงมีความสำคัญ หากเกมไม่สามารถเล่นให้สนุกได้ มีแต่ผู้ต้องการเข้ามาลงทุนอย่างเดียวย่อมขาดฐานผู้เล่นที่เข้มแข็ง เมื่อนั้นไม่มีทางที่เกมจะยั่งยืนทำรายได้ในระยะยาวแก่เรา เพราะสุดท้ายจะไม่มีใครต้องการเข้ามาซื้อของหรือสนับสนุนผู้พัฒนาเกมอีกต่อไป
  • ผู้พัฒนาเกม นี่ก็เป็นอีกส่วนสำคัญในการพิจารณา อย่างที่เห็นว่าในปัจจุบันเกม NFT จำนวนมากล้มลงตามกาลเวลา บางครั้งการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้พัฒนาเกมไว้ล่วงหน้า ช่วยให้เรามองเห็นทิศทางธุรกิจในอดีตของผู้พัฒนา รวมถึงการตอบสนองในการแก้ปัญหาในเกมและคอมมูนิตี้ด้วย
  • เหรียญที่ได้รับ การดูแต่อัตราแลกเปลี่ยนไม่ยั่งยืนมั่นคงนัก ด้วยเหรียญเหล่านี้มีอัตราความผันผวนสูง บางครั้งการดูสกุลของเหรียญที่จะได้รับอาจช่วยให้ตัดสินใจง่ายขึ้น เพราะบางครั้งต่อให้เราได้เหรียญมูลค่ามหาศาล แต่หากไม่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยสะดวกก็ไม่มีค่าใดๆ
  • แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน สอดคล้องกับข้อบน ในบางครั้งหากสกุลเหรียญที่ได้รับจากเกมได้การยอมรับจากแพลตฟอร์มกว้างขวาง จะช่วยให้การแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินจริงทำได้ง่ายขึ้น เพิ่มความน่าเชื่อถือของตัวเกมอีกทาง
  • ไวท์เปเปอร์ นับเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการตัดสินใจลงทุนในเกม NFT สิ่งนี้จะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเกม ช่องทางในการได้รับเหรียญ การซื้อขายแลกเปลี่ยน จนถึงทิศทางการพัฒนาเกม หากข้อมูลภายในนี้ไม่ละเอียดหรือชี้แจงไม่เพียงพอ พึงระวังการลงทุนในเกม NFT นั้นให้ดีๆ
  • การสร้างรายได้ของตัวเกม เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เกม NFT ไม่เป็นแชร์ลูกโซ่วัดกันตรงนี้ หากเกมสามารถหารายได้ด้วยวิธีอื่นนอกจากการเข้ามาของผู้เล่นใหม่ มีแนวโน้มว่าเกมจะยั่งยืนหลุดพ้นออกจากธุรกิจแชร์ลูกโซ่ได้สำเร็จ เช่น ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทต่างๆ, เปิดรับโฆษณา หรือมีสินค้าออกมาวางจำหน่าย ฯลฯ

 

          การพิจารณาเงื่อนไขเหล่านี้ประกอบจะช่วยให้เข้าใจระบบภายในตัวเกม ระมัดระวังการลงทุนในเกม NFT มากขึ้น หรืออย่างน้อยจะได้ไม่เกิดการขาดทุนย่อยยับเมื่อเกมปิดตัวลง เพราะหลายครั้งเมื่อมีการปิดตัวลงของเกม NFT มักมีสัญญาณบอกกับเราล่วงหน้าว่า ผู้พัฒนาไม่สามารถแก้ปัญหาบางประเด็นได้อีกต่อไป

 

 

         อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเกม NFT ในระบบส่วนมากล้วนเป็นงานสร้างจากน้ำมือโปรแกรมเมอร์หรือนักลงทุนทั่วไป ไม่ใช่บริษัทผลิตเกมยักษ์ใหญ่ที่มีความเข้าใจและเชี่ยวชาญในการพัฒนาเกมจริงๆ บางทีหากมีบริษัทเกมยักษ์สักแห่งประสบความสำเร็จในระบบเกม NFT ขึ้นมา อาจเป็นการพลิกโฉมหน้าของวงการก็เป็นได้

 

          อย่างไรเสียเกม NFT ก็ถือเป็นรูปแบบใหม่เอี่ยมภายในวงการที่ผู้คนยังคงไม่มีความเข้าใจนัก จำเป็นต้องให้เวลาทำความเข้าใจ ศึกษา และตรวจสอบโดยละเอียดอีกทีว่า จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดทำประโยชน์จากส่วนใดได้บ้าง ไม่แน่ในอนาคตเกม NFT อาจยิ่งใหญ่กลายเป็นกระแสหลักแทนตลาดเกมก็เป็นได้

 

          เหมือนกับเกมบนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่เคยถูกปรามาสมายาวนาน ก่อนมีมูลค่ามหาศาลแบบในปัจจุบัน

 

 

ที่มา

https://www.thisisgamethailand.com/content/BNB-Heroes-if-Officially-Ended.html

https://www.moneybuffalo.in.th/cryptocurrency/why-did-nft-games-like-bnb-heroes-cryptomines-shut-down

https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=aURhTjRtYklwMXM9

http://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=C&id=V2lmV3Ewb0ZjcVU9

https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=eE1ENDFBbjlEd2M9

https://www.facebook.com/nuuneoicom/posts/428123245335625

Thailand Web Stat