posttoday

นม Plant based ดีต่อโลก ดีต่อใจ หรือแค่จุดขายชวนซื้อ?

02 มิถุนายน 2565

แน่นอนว่าหากเปรียบเทียบกับนมวัวแล้ว นมจากพืชหรือ นม plant based ย่อมดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่นมชนิดไหนกันล่ะที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ไม่ใช่แค่จุดขายชวนซื้อ?

          ทุกวันนี้เมื่อเดินเข้าห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อ ต้องยอมรับเลยว่าผลิตภัณฑ์นมมีให้เราเลือกสรรค์มากมายจนแทบจะหยิบจับเลือกกันไม่ถูก ซึ่งเมื่อคู่แข่งทางการตลาดเยอะขนาดนี้ จุดขายของแบรนด์ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ โดยจุดขายที่หลายแบรนด์นำมาใช้กันในขณะนี้ ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าต้องมาพร้อมกับคอนเซป ‘ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (eco-friendly)’ ทำให้เกิดนมทางเลือกอย่าง ‘นมจากพืช (Plant Based Milk)’ ขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกทั้งต่อร่างกายผู้บริโภค และทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นม Plant based ดีต่อโลก ดีต่อใจ หรือแค่จุดขายชวนซื้อ?

นมจากกลุ่มถั่วเปลือกแข็ง (Nut milks)

          พืชในกลุ่มถั่วเปลือกแข็งสามารถนำมาผลิตเป็นนมได้หลายชนิด แต่น้ำนมอัลมอนด์และน้ำนมเฮเซลนัทดูจะเป็นที่นิยมมากที่สุด ซึ่งถ้าหากเทียบกับนมวัวแล้ว น้ำนมจากพืชในกลุ่มนี้ใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกที่น้อยกว่ามาก และยังสามารถช่วยดูดซับคาร์บอนได้ดีอีกด้วย

  • นมอัลมอนด์ (Almond milk)

          หากจะเทียบกับนม plant based ชนิดอื่น ‘นมอัลมอนด์’ ต้องอาศัยน้ำในการเพาะปลูกปริมาณค่อนข้างมาก เมล็ดอัลมอนด์แคลิฟอร์เนียเพียง 1 เมล็ด ต้องการน้ำมากถึง 12 ลิตรเพื่อเจริญเติบโต  ซึ่งด้วยปริมาณน้ำขนาดนี้จึงทำให้เกิดคำถามว่าการผลิตอัลมอนด์ในเชิงอุตสาหกรรมสามารถสร้างความยั่งยืนและดีต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่

  • นมเฮเซลนัท (Hazelnut milk)

          โดยปกติแล้วต้นเฮเซลนัทอาศัยแรงลมในการผสมเกสรกับพืชที่อยู่ใกล้เคียง ต้นเฮเซลนัทมักเติบโตในพื้นที่ที่มีฝนตกชุกอย่างตอนใต้ของยุโรป หรืออเมริกาเหนือ ซึ่งนั้นหมายความว่าต้นเฮเซลนัทต้องการน้ำที่น้อยกว่าอัลมอนด์ในการเจริญเติบโต ‘นมเฮเซลนัท’ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีสำหรับสิ่งแวดล้อม

นม Plant based ดีต่อโลก ดีต่อใจ หรือแค่จุดขายชวนซื้อ?

นมจากถั่วเมล็ดแห้ง (Legume milks)

          พืชตระกูลถั่วเมล็ดแห้งเป็นพืชที่สามารถตรึงไนโตรเจนด้วยตัวเองได้ บริเวณปมรากของลำต้นถั่วจะมีแบคทีเรียชื่อว่าไรโซเบียมที่คอยผลิตไนโตรเจน จึงมีส่วนสำคัญในการปรับความสมดุลของดิน และลดความต้องการปุ๋ยของพืชลงได้ แต่พืชในตระกูลนี้ยังมีบางประเภทที่ต้องใช้น้ำในการเจริญเติบโตมากกว่าอัลมอนด์หรือในการปศุสัตว์

  • นมถั่วเหลือง (Soy milk)

          นมถั่วเหลืองเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์นมทางเลือกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านพื้นที่และการใช้น้ำที่น้อยกว่า รวมถึงจำนวนรอยเท้าคาร์บอนที่ไม่มากเท่านมอัลมอนด์หรือนมอื่นๆในท้องตลาด ตั้งแต่ปี 1950 อัตราการเพาะปลูกถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นถึง 15 เท่า โดยสหรัฐฯ, บราซิล และอาร์เจนติน่า ถือเป็นประเทศที่ผลิตถั่วเหลืองได้มากถึงร้อยละ 80 ของการผลิตถั่วเหลืองทั่วโลก และด้วยความที่น้ำนมถั่วเหลืองเป็นที่ต้องการของตลาดมากอาจทำให้เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถเพาะปลูกให้ได้ทันกับความต้องการ

  • นมกัญชง (Hemp milk)

          นมกัญชง ทางเลือกสายเขียวรักษ์โลก ถือเป็นตัวเปลี่ยนเกมครั้งใหญ่ในแวดวงสิ่งแวดล้อม ด้วยประโยชน์มหาศาลที่สามารถใช้ได้ทุกส่วนของต้น เมล็ดกัญชงสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันและนมได้ แม้กัญชงจะใช้น้ำในการปลูกมากกว่าถั่วเหลือง แต่ถ้าเทียบกับอัลมอนด์และผลิตภัณฑ์นมอื่นๆก็ยังถือว่าใช้น้ำในระดับที่น้อยกว่า กัญชงไม่ได้ช่วยแค่กักเก็บคาร์บอนเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ และอุดมไปด้วยประโยชน์ที่ดีต่อร่างกายอีกด้วย 

 

 

นม Plant based ดีต่อโลก ดีต่อใจ หรือแค่จุดขายชวนซื้อ?

นมธัญพืช Grain milks

          ข้าวและข้าวโอ๊ตเป็นนมจากพืชที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มนี้ แต่รู้หรือไม่ว่าทั้งข้าวและข้าวโอ๊ตต้องใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกและปริมาณน้ำมหาศาลในการเจริญเติบโต

  • น้ำนมข้าว (Rice milk)

          น้ำนมข้าวเป็นหนึ่งในการผลิตที่ปล่อยรอยเท้าคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับต้นๆเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์นมจากพืชชนิดอื่น นั่นก็เพราะข้าวเป็นพืชที่ต้องการน้ำปริมาณมากในการเติบโต และในนาข้าวก็เต็มไปด้วยแบคทีเรียที่ปล่อยก๊าซมีเทนออกสู่บรรยากาศ ในบางกรณี ยังพบว่าน้ำนมข้าวมีสารหนูเจือปนในระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งเป็นผลจากองค์ประกอบตามธรรมชาติที่พบในน้ำและดิน รวมถึงการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพาะปลูกก็อาจส่งผลให้เกิดมลพิษทางน้ำได้

  • น้ำนมข้าวโอ๊ต (Oat milk)

          ข้าวโอ๊ตนอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีต่อร่างกายแล้ว การปลูกข้าวโอ๊ตยังส่งผลดีต่อธาตุอาหารในดินในบริเวณนั้นๆอีกด้วย เนื่องจากโอ๊ตเป็นพืชคลุมดินที่สามารถเพาะปลูกได้ในช่วงอากาศเย็น จึงคืนสารอาหารให้กับดินช่วงนอกฤดูเพาะปลูก

นม Plant based ดีต่อโลก ดีต่อใจ หรือแค่จุดขายชวนซื้อ?

 

เปรียบเทียบปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และการใช้น้ำ ต่อการผลิตนม 1 ลิตร

1. นมวัว

การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2): 3.2 กิโลกรัม

การใช้น้ำ: 628 ลิตร

2. นมอัลมอนด์

การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) : 0.7 กิโลกรัม

การใช้น้ำ: 371 ลิตร (มากกว่านมข้าวโอ๊ต 8 เท่า)

3. นมข้าว

การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) : 1.2 กิโลกรัม

การใช้น้ำ: 270 ลิตร

4. นมข้าวโอ๊ต

การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2): 0.9 กิโลกรัม

การใช้น้ำ: 48 ลิตร

*ใช้พื้นที่น้อยกว่า 80% เมื่อเทียบกับนมวัว

5. นมถั่วเหลือง

การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2): 1 กิโลกรัม

การใช้น้ำ: 28 ลิตร

นม Plant based ดีต่อโลก ดีต่อใจ หรือแค่จุดขายชวนซื้อ?

สรุปแล้วนม plant based ชนิดไหน ดีต่อโลกและดีต่อใจที่สุด?

          หากจะนับจากปริมาณคาร์บอนที่เป็นสาเหตุใหญ่ทำให้โลกร้อน ‘นมอัลมอนด์’ และ ‘นมเฮเซลนัท’ ถือว่าเป็นนม 2 ชนิดที่ปล่อย Co2 น้อยที่สุด แต่ถ้าเปลี่ยนไปมองในมุมของการใช้น้ำในการเพาะปลูก ‘นมถั่วเหลือง’ ถือเป็นนม Plant based ที่ใช้น้ำในการเพาะปลูกน้อยที่สุด ส่วน ‘นมข้าวโอ๊ต’ ก็ดีต่อระบบนิเวศเพราะสามารถรักษาธาตุอาหารในดินไว้ได้ 

           คำตอบในจุดนี้อาจลงอีหรอบที่ว่า ‘นม Plant based แต่ละชนิดก็มีข้อดีข้อเสีย แตกต่างกันออกไป’ ในฐานะผู้บริโภค สิ่งสำคัญที่สุดคือการอุปโภคบริโภคอย่างคุ้มค่า อย่าให้เหลือ Food wasted นี่แหละ ที่ดีต่อโลกและสิ่งแวดล้อมที่สุด

 

ข้อมูลอ้างอิง