posttoday

ที่สุดของการค้นพบ! สปีชีส์ใหม่ของโลกแห่งปี 2022

08 มิถุนายน 2565

จากกิ้งกือที่ตั้งชื่อตามเทย์เลอร์ สวิฟต์ ต้นไม้ที่ตั้งชื่อตามลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ไปจนถึงแมงมุมทารันทูล่าที่อาศัยอยู่ในไม้ไผ่ ในปี 2022 นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบสปีชีส์ใหม่มากมายหลายสายพันธุ์ทั่วโลก จะมีอะไรน่าสนใจบ้าง ลองไปดูกัน!

          ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โลกของเรามีหลายอย่างที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี แฟชั่น อาหาร หรือเครื่องใช้ต่างๆ แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากการพัฒนาทางวัตถุแล้ว ยังมีการพัฒนาของสิ่งมีชีวิตอีกด้วย ซึ่งในปี 2022 นี้นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ที่ชวนให้เราได้อ้าปากค้างกันอีกด้วย

ที่สุดของการค้นพบ! สปีชีส์ใหม่ของโลกแห่งปี 2022

กิ้งกือกรงเล็บบิด Swift, สหรัฐฯ

ชื่อวิทยาศาสตร์:  Nannaria swiftae

          ใครได้ยินว่าเจ้ากิ้งกือตัวนี้มีคำว่า ‘Swift’ ในชื่อเหมือนนักร้องป๊อปสาวชาวอเมริกัน ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift)’ อาจรู้สึกตงิดๆขึ้นมาบ้าง แต่รู้หรือไม่ว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ชนิดนี้ถูกตั้งชื่อตามนักร้องสาวเทย์เลอร์ สวิฟต์จริงๆ!

          Nannaria swiftae มีความยาวราว 18-38 มิลลิเมตร ขาสีขาว ลำตัวดำหรือน้ำตาล และมีจุดสีแดง ขาว หรือ ส้ม ตามลำตัว ‘เดเร็ค เฮนเนน (Derek Hennen)’ นักกีฏวิทยาผู้หลงไหลในเจ้าสิ่งมีชีวิตหลายขาชนิดนี้ ได้เดินทางนับปีเพื่อสำรวจเก็บข้อมูลกิ้งกือสายพันธุ์ใหม่กว่า 17 รัฐทั่วอเมริกา และได้ค้นพบเจ้ากิ้งกือสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ ที่อุทยานน้ำตก Fall Creek Falls State Park ในรัฐเทนเนสซี แถมยังเป็นรัฐเดียวกับที่เทย์เลอร์ย้ายไปอยู่สมัยเดินตามความฝันในการเป็นนักร้องของเธออีกด้วย

          เดเร็กเปิดใจถึงสาเหตุที่เขาตั้งชื่อกิ้งกือสายพันธุ์ใหม่ตามเทย์เลอร์ สวิฟต์นั้น ก็เพราะเขาเป็นแฟนคลับตัวยง แถมระหว่างเรียนบทเพลงของเทย์เลอร์ยังเป็นเหมือนยาใจที่ช่วยให้เขาผ่านพ้นช่วงที่ยากลำบากมาได้ เขาจึงตัดสินใจนำชื่อ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” มาตั้งชื่อกิ้งกือสปีชีส์ใหม่ชนิดนี้แทนคำขอบคุณและยกย่องที่เธอมีส่วนสำคัญในความสำเร็จของเขา

 

ที่สุดของการค้นพบ! สปีชีส์ใหม่ของโลกแห่งปี 2022

ปลาสีรุ้ง Rose-veiled fairy wrasse, มัลดีฟส์

ชื่อวิทยาศาสตร์: Cirrhilabrus finifenmaa

          ช่วงต้นปี 2022 ที่ผ่านมา Ahmed Najeeb นักวิจัยจาก Maldives Marine Research Institute ได้ค้นพบปลา 'rose-veiled fairy wrasse’ สายพันธุ์ใหม่บริเวณชายฝั่งทะเลมัลดีฟต์ที่ความลึกประมาณ 40 - 70 เมตร  มีลักษณะสีสวยสดใส หน้าอมชมพู  พวกเขาตั้งชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการให้ว่า Cirrhilabrus finifenmaa ซึ่งคำว่า ‘finifenmaa’ในภาษาประจำชาติมัลดีฟต์มีความหมายว่า ‘กุหลาบ’ จึงใช้สื่อถึงสีบริเวณหัวของปลา ที่คล้ายกับสีกุหลาบ แถมยังเป็นดอกไม้ประจำชาติของมัลดีฟส์อีกด้วย

          มัลดีฟส์ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวอันขึ้นชื่อเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพน่าจับตามอง โดยนักวิจัยจาก Hope for Reefs ยังคงร่วมมือกับ MMRI เพื่อสำรวจแนวปะการังใน 'เขตลึกลับ' ของมัลดีฟส์ (ระบบนิเวศปะการังที่ไม่เคยสำรวจมาก่อน และยังเป็นสถานที่ค้นพบ Cirrhilabrus finifenmaa พร้อมกับอย่างน้อย 8 สายพันธุ์ที่คาดว่าเป็นสปีชีส์ใหม่ที่ไม่เคยมีใครค้นพบ)

          ตัวของนักวิจัยอย่าง Ahmed Najeeb เองยังได้ออกมาให้ความเห็นว่า นี่เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยชาวมัลดีฟต์ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจำแนกสายพันธุ์ปลา เพราะปกติจะเป็นนักวิจัยจากต่างชาติมาทำการสำรวจมากกว่า นักวิจัยท้องถิ่นเลยไม่มีโอกาสในการมีส่วนรวมสักเท่าไหร่ แม้ว่าสัตว์เหล่านั้นจะเป็นสัตว์พื้นถิ่นของมัลดีฟต์ก็ตาม

 

ที่สุดของการค้นพบ! สปีชีส์ใหม่ของโลกแห่งปี 2022

แมงมุมทารันทูลา ตากสินัส แบมบัส, ไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์: Taksinus bambus

          แมงมุมทารันทูลา ตากสินัส แบมบัส ถือเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบขึ้นในประเทศไทย! ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าแมงมุมชนิดนี้ถูกค้นพบจากยูทูปเบอร์สายธรรมชาติที่มียอดผู้ติดตามกว่า 2.73 ล้านคน อย่าง โจโฉ-ทรงธรรม สิปปวัฒน์

          ในครั้งแรกที่เขาได้พบเจ้าแมงมุมชนิดนี้ โจโฉได้ส่งรูปต่อไปให้กับ ดร.นรินทร์ ชมภูพวง นักแมงมุมวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าเคยมีการค้นพบเจ้าตัวนี้มาก่อนหรือไม่ ซึ่งหลักจากความพยายามค้นคว้าจึงได้คำตอบว่าแมงมุมทารันทูลาสายพันธุ์นี้ ไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน

          โดยปกติแล้วทารันทูลาในเอเชียมักถูกพบที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ สุมาตรา และบอร์เนียว แต่ตากสินัสกลับถูกค้นพบในภาคเหนือของไทย ซึ่งเป็นสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ไม่ค่อยพบแมงมุมจำพวกนี้

          สาเหตุที่ทีมผู้ค้นพบตั้งชื่อเจ้าทารันทูลาสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า “ตากสินัส แบมบัส (Taksinus bambus)” ก็เพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเคยเป็นเจ้าเมืองตากหรือจังหวัดตากที่ค้นพบแมงมุมสายพันธุ์นี้ในปัจจุบัน

          ความพิเศษของแมงมุมทารันทูลา ตากสินัส แบมบัส คือเป็นแมงมุมทารันทูลาที่อาศัยอยู่ในลำต้นไผ่ ซึ่งหากเทียบกับทารันทูลาชนิดอื่นแล้วจะอาศัยอยู่บนต้นไม้หรือบนบกเท่านั้น ไม่เคยพบรายงานงานว่ามีทารันทูลาที่อาศัยในต้นไม้บางชนิดมาก่อน นอกจากนี้ตากสินัส แบมบัส ยังสามารถพบเจอได้ตามป่าในภาคเหนือของไทยที่ความสูงประมาณ 1,000 เมตรเท่านั้น จึงไม่แปลกเลยที่จะเป็นทารันทูลาสายพันธุ์หายาก

ที่สุดของการค้นพบ! สปีชีส์ใหม่ของโลกแห่งปี 2022

กบสมเสร็จ, เปรู

ชื่อวิทยาศาตร์: Synapturanus danta

          เจ้ากบตัวนี้อาจดูคล้าย ‘กบช็อคโกแล็ต’ จากภาพยนตร์ชื่อดัง ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ แต่จริงๆแล้วมันมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘กบสมเสร็จ (Tapir Frog)’ เพราะมีหน้าตาเหมือนกับสมเสร็จไม่มีผิด การค้นพบนี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Evolutionary Systematics เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมา โดยทีมนักวิจัยจากโครงการ Rapid Biological and Social Inventory of the Lower Putumayo Basin พบพวกมันโดยบังเอิญขณะสำรวจสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในพื้นที่ป่า Amazon ประเทศเปรู

          ในการสำรวจ ทีมวิจัยค้นพบลูก‘กบสมเสร็จ’ ขนาดไม่ถึง 1 ซม. 1 ตัว และตัวเต็มวัย 2 ตัว จนกระทั่งเจ้ากบเหล่านี้ถูกนำไปวิเคราะห์ DNA จึงได้ผลลัพธ์ออกมาว่าเป็นกบสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่มีใครเคยพบเจอมาก่อนอย่างแน่นอน

ที่สุดของการค้นพบ! สปีชีส์ใหม่ของโลกแห่งปี 2022

เพลี้ยจักจั่น Phlogis kibalensis, ยูกันดา

ชื่อวิทยาศาสตร์: Phlogis kibalensis

          เป็นที่รู้จักกันดีว่าป่าฝนของอุทยานแห่งชาติ Kibale แห่งประเทศยูกันดา ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่กี่ปีก่อน Dr. Alvin Helden นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Anglia Ruskin ได้รับอนุญาตจากทางการอูกันดาให้รวบรวมรายชื่อแมลง โดยมีเป้าหมายในการสร้างรายชื่อสายพันธุ์สำหรับอุทยานแห่งชาติ แน่นอนว่า Alvin ได้ค้นพบแมลงตัวนี้ขณะออกสำรวจภาคสนาม

          เพลี้ยจักจั่น Phlogis kibalensis มีผิวหนังที่ดูคล้ายกับโลหะแวววาว ซึ่งเรียกได้ว่าไม่ปกติเลยสำหรับสัตว์ชนิดนี้  พวกมันหายากอย่างเหลือเชื่อ แถมเรายังไม่รู้ข้อมูลทางชีววิทยาของพวกมันเลย

          อุทยานสัตว์ป่าในแอฟริกาถือเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มากมายทั้งน้อยและใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่ายังมีอีกหลายชนิดที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เคยค้นพบหรือรู้จักมันมาก่อน

แต่ละวันมีสัตว์สูญพันธุ์ไปกี่สปีชีส์?

          ในเมื่อมีการค้นพบสปีชีส์ใหม่ในแต่ละปีแล้ว ก็ต้องมีคำถามว่าแล้วในส่วนของสปีชีส์ที่สูญพันธุ์ล่ะ? มีบ้างไหม แล้วแต่ละวันเราสูญเสียกันไปมากเท่าไหร่?

          ว่ากันว่าบนโลกนี้มีสปีชีส์ที่หลากหลายถึง 1.6 ล้านชนิด แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าอาจมีมากถึง 100 ล้านสปีชีส์ ซึ่งจากการหลักการคำนวณทางวิทยาศาสตร์ สมมติว่าหากปัจจุบันเราอยู่ในสถานการณ์ที่แย่ที่สุด อัตราการสูญพันธุ์จะอยู่ที่ 273 สปีชีส์ต่อวัน

          จริงๆคำถามข้อนี้อาจจะตอบยากไปบ้างสักหน่อย สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และสูญพันธุ์ไปก่อนการถูกค้นพบ

           จะเห็นได้ว่าสิ่งมีชีวิตแต่ละสปีชีส์ล้วนมีเอกลักษณ์ที่น่าหลงใหลและมีเรื่องราวในตัวมันเอง แสดงให้เห็นว่าในโลกยังมีสิ่งมหัศจรรย์อีกมากมายที่รอให้ค้นพบ การถนอมหรือรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อช่วยรักษาสิ่งมีชีวิตร่วมโลก

ข้อมูลอ้างอิง