ตู้ยาใต้ทะเล: วิจัยพบ ‘โลมา’ ใช้ปะการังรักษาโรคผิวหนัง
นอกจากปะการังจะมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ชายฝั่งและท้องทะเลแล้ว งานวิจัยล่าสุดยังพบว่าสารบางอย่างในปะการังสามารถช่วยรักษาโรคผิวหนังหรืออาการป่วยให้กับปลาโลมาได้
‘โลมา’ สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลที่เปี่ยมไปด้วยความน่ารัก แสนซน ขี้เล่น และยังเป็นที่รู้กันว่าน้องคนนี้นั้นฉลาดเป็นกรด โดยวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยซูริช ประเทศสวิตเซอร์แลนด์พบพฤติกรรมของเจ้าโลมาปากขวดว่า ทุกครั้งหลังตื่นนอนและก่อนเข้านอน พวกมันจะเอาจมูกและร่างกายไปถูไถตามแนวปะการัง จากตอนแรกคาดว่าพวกมันอาจจะทำแบบนั้นเพื่อผ่อนคลายร่างกาย เหมือนมนุษย์เราที่สครับผิวยามอาบน้ำ แต่พอนักวิจัยอย่าง Angela Ziltener สังเกตไปเรื่อยๆ เธอพบว่าลักษณะการถูกของพวกโลมาเป็นไปอย่างพิถีพิถัน ไม่ได้สักแค่จะถูกอย่างเดียว แถมแต่ละตัวยังเลือกส่วนที่ถูต่างกันอีก!
เมื่อโลมา เลือกปะการังเป็นยารักษาโรคผิวหนัง
‘แนวปะการัง’ นอกจากจะมีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเลแล้ว ยังถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคต่างๆไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง, เอชไอวี, โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคอื่นๆ เพราะเปี่ยมไปด้วยคลังสารธรรมชาติ ที่ช่วยสร้างประโยชน์ให้กับวงการแพทย์ และคุณประโยชน์นี้ไม่ได้มีเพียงมนุษย์อย่างเราๆเท่านั้นที่หยิบมาใช้ ทางด้านสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลเองก็ไม่ต่างกัน
โดยธรรมชาติแล้วโลมา เป็นสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลที่ผิวหนังเรียบเนียน ยืดหยุ่น และหนานุ่ม แต่ยังมีความเสี่ยงในการติดเชื้อยีสต์ แบคทีเรีย หรือแม้กระทั่งไวรัสฝีดาษ ด้วยสภาพการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่ส่งผลให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น ยิ่งเพิ่มโอกาสและทวีความรุนแรงต่ออาการป่วยโรคผิวหนังของกลุ่มโลมามากขึ้น
Ziltener นักชีววิทยาสัตว์ป่าแห่งมหาวิทยาลัยซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และทีมของเธอได้สำรวจกลุ่มโลมาปากขวดอินโด-แปซิฟิก 360 ตัวทางตอนเหนือของทะเลแดงตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งจากการสำรวจพบว่าหลังตื่นนอน และก่อนเข้านอน กลุ่มโลมาปากขวดมีพฤติกรรมหลงไหลในการถูจมูกและร่างกายเข้ากับฟองน้ำและตามแนวปะการัง ราวกับว่าพวกมันกำลังอาบน้ำก่อนออกไปทำภารกิจ
หลังจากตามเฝ้าสังเกตเรื่อยๆ นักวิจัยพบว่าพวกมันมักกลับมาถูตัวกับปะการังชนิดเดิมๆได้แก่ ปะการังกอร์โกเนียน (Rumphellaaggregate) ปะการังหนัง (Sarcophyton sp.) และฟองน้ำ Ircinia sp. นักวิจัยจึงตั้งสมมติฐานว่าปะการัง และฟองน้ำพวกนี้อาจมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อโลมา เพราะทุกครั้งที่ผิวหนังโลมาถูกับบริเวณโพลิป (ส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อของปะการัง) จะเกิดเมือกหลั่งออกมา ซึ่งตัวเมือกดังกล่าวจะสัมผัสกับผิวโลมาผ่านการเสียดสีและการดูดซึมทางผิวหนังโดยตรง
หลังจากนำปะการังกว่า 48 ชนิดไปตรวจสอบ ผลการวิจัยก็ถูกตีพิมพ์ในวารสาร iScience และพบว่าในปะการังมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพอย่างน้อย 17 ชนิดที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย สารต้านอนุมูลอิสระ และฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งทั้งหมดนี้มีประโยชน์ต่อการช่วยรักษาผิวหนัง
"ถ้าคุณรู้สึกผิวหนังติดเชื้อ สารดังกล่าวจะมีประโยชน์มาก และในกรณีของโลมาสารประกอบเหล่านี้อาจมีบางอย่างที่เหมือนกับคุณสมบัติในการรักษา" Gertrud Morlock นักเคมีจากมหาวิทยาลัยกีเซน ในประเทศเยอรมนีกล่าว
งานวิจัยยังพบว่า บางครั้งที่โลมาคาบปะการังขึ้นมาจากพื้น แล้วสะบัดไปรอบๆ ก็เพื่อให้ปะการังปล่อยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพออกมา ซึ่งเป็นไปได้ว่าพวกมันอาจจะใช้เพื่อปรับฮอร์โมนในร่างกายหรือกำลังรักษาตัวเองอยู่
แต่ถึงอย่างนั้นงานวิจัยยังไม่สามารถการันตีได้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวของเจ้าโลมาจะช่วยให้พวกมันหายป่วย หรือลดอัตราความเจ็บป่วยได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตามศึกษาต่อไปในอนาคต แต่เรื่องที่น่าสนใจคือเราได้ทราบว่าปะการังมีประโยชน์อนันต์ต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล และโลมาถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าติดตามเรื่องความฉลาดของมันเป็นที่สุด
Climate Change กับปัญหาปะการังฟอกขาว
ปะการังถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่ค่อนข้างเปราะบ้างและอ่อนไหวง่ายหากสภาพแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งกว่าศตวรรษที่ผ่านมา ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ถูกปล่อยออกมาอย่างมหาศาลและส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นจนเกิดภาวะโลกร้อน แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ชั้นบรรยากาศเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังส่งผลกระทบครั้งยิ่งใหญ่ต่อท้องทะเลและมหาสมุทร น้ำทะเลเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรู้หรือไม่ว่าแม้อุณหภูมิใต้น้ำจะเพิ่มขึ้นเพียง 1-2 องศา ภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ก็สามารถทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวได้
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า จริงๆแล้วปะการังมีความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติและสามารถกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง แต่ต้องใช้เวลาราว 25-30 ปี แต่ด้วยสถานการณ์โลกในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมถูกทำลายไปจนแทบจะกู่ไม่กลับ ปะการังจึงไม่มีเวลามากพอที่จะฟื้นฟูตัวเองได้ ซึ่งหากเรายังใช้ชีวิตแบบปกติ ไม่ยินดียินร้ายหรือช่วยถนอมโลกให้ดีกว่าเดิม การสูญเสียแนวปะการังทั้งหมดอาจเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ระบบนิเวศน์แปรปรวน และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อมายังมนุษย์อยากหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อมูลอ้างอิง