รวม 10 มหาภัยพิบัติในประวัติศาสตร์โลก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกของเราทุกวันนี้มีพิบัติภัยทางธรรมชาติเกิดขึ้นไม่ว่างเว้นแต่ละวัน และนับวันจะยิ่งหนักและถี่ขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ว่ามนุษย์จะพยายามเอาชนะธรรมชาติเพียงใดก็ตาม ที่สุดแล้วผู้ที่ต้องยอมศิโรราบก็คือเรา แล้วหากเกิดภัยพิบัติขึ้น ไทยพร้อมรับมือแค่ไหน?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกของเราทุกวันนี้มีพิบัติภัยทางธรรมชาติเกิดขึ้นไม่ว่างเว้นในแต่ละวัน และนับวันจะยิ่งหนักและถี่ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามสเต็ปการทำลายล้างของมนุษย์ที่หนักข้อขึ้นเช่นกัน เรียกว่าไม่มีใครยอมใคร แต่แน่นอนว่า เราทุกคนต่างก็รู้กันว่า บนเวทีที่ยิ่งใหญ่นี้ใครคือผู้มีชัย เพราะไม่ว่ามนุษย์จะพยายามเอาชนะธรรมชาติเพียงใดก็ตาม ที่สุดแล้วผู้ที่ต้องยอมศิโรราบก็คือเรา
แล้วหากเกิดภัยพิบัติขึ้นไทยพร้อมรับมือแค่ไหน?
ต่อไปนี้เป็นภัยธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้นและมนุษย์บันทึกไว้ได้ว่าเป็น 10 เหตุการณ์ไม่รู้ลืมที่รุนแรงที่สุดในโลก รวมเอาทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหว พายุไซโคลน และน้ำท่วม ในทุกๆ ปี ภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดบางอย่าง เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุเฮอริเคน สึนามิ น้ำท่วม ไฟป่า และภัยแล้ง โดยเฉลี่ยแล้วคร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 60,000 คนต่อปี ตามข้อมูลของ Global Change Data Lab
ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงนับเป็นนาฏกรรมธรรมดาของชีวิตมนุษย์นับตั้งแต่เริ่มต้นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติที่เก่าแก่ที่สุดเหล่านี้ได้สูญหายไปในประวัติศาสตร์ ตัวอย่างเช่น เกาะ Thera ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนโบราณ (ปัจจุบันคือเมืองซานโตรินี ประเทศกรีซ) ประสบมหันตภัยจากการปะทุของภูเขาไฟครั้งใหญ่ที่ทำลายอารยธรรมมิโนอันทั้งหมดเมื่อประมาณ 1600 ปีก่อนคริสตกาล จากผลการศึกษาปี 2020 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academies of Sciences แต่จริงๆ แล้วจะมีกี่ชีวิตที่สูญเสียไป? เราจะไม่มีวันรู้ อย่างไรก็ตาม ด้วยบันทึกทางประวัติศาสตร์และวารสาร อย่างน้อยนักประวัติศาสตร์สามารถประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตที่เชื่อมโยงกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในยุคต่างๆ ได้ จากบันทึกดังกล่าว
ภัยธรรมชาติต่อไปนี้ถือเป็นมหันตภัยที่ร้ายแรงที่สุดตลอดกาล โดยจัดอันดับจากจำนวนผู้เสียชีวิตโดยประมาณที่ต่ำที่สุดไปสูงสุด
อันดับ 10. แผ่นดินไหวที่อเลปโป (ALEPPO) ค.ศ. 1138 / พ.ศ.1069
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ปี 1138 พื้นดินใต้เมืองอเลปโปของซีเรียเริ่มสั่นสะเทือน เมืองนี้ตั้งอยู่บนจุดบรรจบกันของแผ่นเปลือกโลกอาหรับและแอฟริกา ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดแผ่นดินไหว แต่ครั้งนี้มีความรุนแรงเป็นพิเศษ นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยรายงานว่า ป้อมปราการและบ้านเรือนพังทลายทั่วทั้งอเลปโป ยอดผู้เสียชีวิตโดยประมาณอยู่ที่ 230,000 ราย แต่ตัวเลขดังกล่าวมาจากศตวรรษที่ 15 และนักประวัติศาสตร์ที่รายงานว่าอาจรวมแผ่นดินไหวที่อเลปโปกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศจอร์เจียในยุคปัจจุบันของยูเรเซียจากรายงานที่มีการบันทึกไว้ในปี 2004 ในวารสาร Annals of Geophysics
10. (ครองอันดับร่วมกัน) แผ่นดินไหวและสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547/ค.ศ.2004
อันดับที่ 10 เสมอกันคือแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ริกเตอร์ ระดับความหายนะที่เกิดขึ้นใต้ทะเลนอกชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ธรณีพิฆาตครั้งนั้นก่อให้เกิดสึนามิขนาดมหึมาซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 230,000 คน และทำให้ผู้คนเกือบ 2 ล้านคนต้องพลัดถิ่นใน 14 ประเทศในเอเชียใต้ และประเทศในแอฟริกาตะวันออก คลื่นสึนามิเดินทางด้วยความเร็ว 500 ไมล์ต่อชั่วโมง (804 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) มาถึงแผ่นดินในเวลาเพียง 15 ถึง 20 นาทีหลังจากเกิดแผ่นดินไหว ทำให้ผู้คนในบริเวณดังกล่าวมีเวลาน้อยมากๆ ที่จะหนีไปยังที่สูง
ในบางแห่งโดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด คลื่นสึนามิสูงถึง 30 เมตร ตามรายงานของ World Vision ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ความเสียหายจากแผ่นดินไหวและสึนามิอยู่ที่ประมาณ หนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เหตุการณ์นี้ถือเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เป็นอันดับสามของโลกนับตั้งแต่ปี 1900 และสึนามิได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่าสึนามิที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ตามรายงานของศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของ NOAA
ส่วนประเทศไทยเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนั้น คลื่นยักษ์ได้ถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ของไทย ได้แก่ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5,395 คน บาดเจ็บกว่า 8,457 คน และสูญหายอีกจำนวนมาก
9. แผ่นดินไหวที่ตังชาน (Tangshan) ปี ค.ศ.1976 / พ.ศ. 2519
เมื่อเวลา 03:42 น. ของวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 เมืองตังชานของจีนถูกทำลายพินาศด้วยแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ริกเตอร์ตามรายงานของสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS)
ตังชานเมืองอุตสาหกรรมที่มีประชากรประมาณ 1 ล้านคนในช่วงที่เกิดภัยพิบัติมีผู้เสียชีวิต ละบาดเจ็บสาหัสมากกว่า 240,000 คน แม้ว่าตัวเลขนี้จะเป็นยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่า ตัวเลขนี้ถูกประเมินต่ำเกินไป และยอดผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มว่าจะใกล้ถึง 700,000 คน
ตามรายงานระบุว่า 85% ของอาคารต่างๆ ในเมืองพังทลาย และแรงสั่นสะเทือนยังรู้สึกได้ถึงกรุงปักกิ่งของจีนซึ่งอยู่ห่างออกไป 180 กม. ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่เมืองตังชานจะถูกสร้างขึ้นมาใหม่
8. แผ่นดินไหวที่แอนติโอก (ANTIOCH) ปีค.ศ. 526 / พ.ศ.1069
เช่นเดียวกับภัยพิบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นนับพันปีมาแล้ว ยอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวที่เมือง Antioch นั้นคำนวณได้ยาก นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยอย่าง John Malalas เคยเขียนเล่าไว้ว่า มีผู้เสียชีวิตประมาณ 250,000 คนเมื่อแรงสั่นสะเทือนถล่มเมืองของจักรวรรดิไบเซนไทน์ หรือ Byzantine Empire (ปัจจุบันคือตุรกีและซีเรีย)
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 526 Malalas อ้างว่า ภัยพิบัติเกิดครั้งนี้เกิดจากพระพิโรธของพระเจ้าและรายงานว่า ไฟทำลายทุกสิ่งอย่างในเมืองอันทิโอก
ตามรายงานฉบับปี 2007 ใน The Medieval History Journal ยอดผู้เสียชีวิตสูงกว่าที่เคยเป็นในช่วงเวลาอื่นๆ ของปี เนื่องจากเวลานั้นเมืองนี้เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่กำลังเฉลิมฉลองวันเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ ซึ่งเป็นงานฉลองของชาวคริสต์ที่ระลึกถึงพระเยซูเสด็จขึ้นสวรรค์
7. แผ่นดินไหวที่ไห่หยวน (HAIYUAN) ในปีค.ศ. 1920 / พ.ศ.2463
“แผ่นดินไหวที่ไห่หยวนเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดที่บันทึกในประเทศจีนในศตวรรษที่ 20 ด้วยขนาดและความรุนแรงสูงสุด” เติ้ง ฉีตง นักธรณีวิทยาจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน กล่าวในระหว่างการสัมมนาในปี 2010 แผ่นดินไหวซึ่งเกิดขึ้นที่มณฑลไห่หยวนทางตอนเหนือของจีนตอนกลางเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2463 ยังได้สั่นสะเทือนจังหวัดกานซู่และมณฑลส่านซีที่อยู่ใกล้เคียง ตามรายงานมีขนาดความรุนแรง 7.8 ตามมาตราริกเตอร์ แต่จีนอ้างว่า มีขนาด 8.5 ริกเตอร์ นอกจากนี้ยังมีความคลาดเคลื่อนในจำนวนผู้เสียชีวิต โดย USGS รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 200,000 คน
แต่จากการศึกษาในปี 2010 โดยนักแผ่นดินไหววิทยาชาวจีนระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตอาจสูงถึง 273,400 คน ทั้งนี้ ดินเหลืองที่มีตะกอนสะสมอยู่มากในภูมิภาค (ตะกอนที่มีรูพรุนและเป็นดินปนทรายที่ไม่เสถียรมาก) ก่อให้เกิดดินถล่มขนาดมหึมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 30,000 ราย (จากผลการศึกษาปี 2020 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Landslides)
6. พายุไซโคลนโครินกาปี 1839 (THE 1839 CORINGA CYCLONE)
พายุไซโคลน Coringa ได้พัดขึ้นฝั่งที่เมืองท่าโครินกาบนอ่าวเบงกอลของอินเดียเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2382 เป็นพายุที่มาขนาดความรุนแรงถึง 40 ฟุต (12 เมตร) ข้อมูลจากแผนกวิจัยพายุเฮอริเคนมหาสมุทรแอตแลนติกและอุตุนิยมวิทยาของ NOAA ไม่ทราบความเร็วลมที่แท้จริงและประเภทของพายุเฮอริเคน เช่นเดียวกับพายุหลายลูกที่เกิดขึ้นก่อนศตวรรษที่ 20 ส่งผลให้เรือประมาณ 20,000 ลำถูกทำลาย รวมถึงชีวิตของผู้คนประมาณ 300,000 คน
6. พายุไต้ฝุ่นไฮฟองปี 1881 (THE 1881 HAIPHONG TYPHOON)
ครองอันดับร่วมกับพายุไซโคลนโครินกาในอันดับ 6 ที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดคือพายุไต้ฝุ่นในปี ค.ศ. 1881 ที่ถล่มเมืองท่าไฮฟองทางตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนามเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม เชื่อกันว่าพายุลูกนี้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วประมาณ 300,000 คน
5. แผ่นดินไหวในเฮติปีค.ศ. 2010 / พ.ศ. 2553
แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.0 ที่ถล่มเฮติทางตะวันตกเฉียงเหนือของปอร์โตแปรงซ์เมื่อวันที่ 12 มกราคมปี 2010 ถือเป็น 1 ใน 3 แผ่นดินไหวที่อันตรายที่สุดตลอดกาล เฮติเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในซีกโลกตะวันตกและมีประวัติการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้เฮติเสี่ยงต่อความเสียหายและการสูญเสียชีวิตอย่างมาก ธรณพิโรธครั้งนี้มีผู้ได้รับผลกระทบมากถึง 3 ล้านคน
รัฐบาลเฮติประเมินว่า มีผู้เสียชีวิตราว 230,000 คน แต่ในเดือนมกราคมปี 2011 ตัวเลขอย่างเป็นทางการได้รับการแก้ไขเป็น 316,000 คน
ผลการศึกษาในปี 2010 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Medicine, Conflict and Survival ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตราว 160,000 ราย ในขณะที่ USGS อ้างว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่านั้น โดยอยู่ที่ประมาณ 100,000 ราย ความเหลื่อมล้ำของตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงความยากลำบากในการนับจำนวนผู้เสียชีวิตแม้ในยุคปัจจุบัน ไม่ต้องพูดถึงการทะเลาะวิวาททางการเมืองที่มากยิ่งกว่าตัวเลข "ทางการ" เสียอีก
4. โบลาไซโคลนปี ค.ศ.1970 / พ.ศ. 2513
พายุไซโคลนเขตร้อนนี้ได้พัดถล่มบังคลาเทศ (ขณะนั้นคือปากีสถานตะวันออก) เมื่อวันที่ 12-13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 จากข้อมูลของแผนกวิจัยพายุเฮอริเคนของ NOAA ความเร็วลมที่แรงที่สุดของพายุนั้นวัดได้ 130 ไมล์ต่อชั่วโมง (205 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ทำให้พายุหมุนเทียบเท่ากับพายุเฮอริเคนระดับ 4 ในระดับพายุเฮอริเคนซัฟเฟอร์-ซิมป์สัน ก่อนขึ้นฝั่ง คลื่นพายุสูง 35 ฟุต (10.6 ม.) พัดถล่มเกาะต่ำ (low-lying islands) ที่อยู่ติดกับอ่าวเบงกอล ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง
คลื่นพายุบวกกับการอพยพไม่ทันการส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ประมาณ 300,000 ถึง 500,000 คน รายงานปี 2514 จากศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติและกรมอุตุนิยมวิทยาปากีสถานยอมรับถึงความท้าทายในการประเมินยอดผู้เสียชีวิตอย่างแม่นยำ เนื่องจากการไหลเข้าของคนงานตามฤดูกาลซึ่งอยู่ในพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าว
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกระบุว่า พายุโบลาถือเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่อันตรายที่สุดเป็นประวัติการณ์ และก่อให้เกิดความเสียหายประมาณ 86,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
3. แผ่นดินไหวที่ส่านซี (SHAANXI) ปีค.ศ.1556 / พ.ศ.2099
แผ่นดินไหวที่อันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์ได้เกิดขึ้นที่มณฑลส่านซีของจีนเมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1556 ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เจียจิง" หรือ "Jiajing Great Earthquake" ตามชื่อจักรพรรดิที่ทรงครองราชย์ พายุได้ทำให้ขนาดพื้นที่ 621 ตารางไมล์ (1,000 ตารางกิโลเมตร) ของประเทศกลายเป็นซากปรักหักพัง จากข้อมูลของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของจีน (Science Museums of China) มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ประมาณ 830,000 คน ตัวเลขขนาดความรุนแรงที่แน่นอนของแผ่นดินไหวครั้งนั้นสูญหายไปในประวัติศาสตร์ แต่นักธรณีฟิสิกส์ในปัจจุบันประเมินแรงสั่นสะเทือนไว้ที่ประมาณ 8 ริกเตอร์
2. แม่น้ำเหลืองท่วมในปี พ.ศ. 2430
แม่น้ำเหลือง หรือ ฮวงโหว (Huang He) ในประเทศจีนตั้งอยู่เหนือพื้นที่ส่วนใหญ่รอบ ๆ อย่างไม่ปลอดภัย ในช่วงปลายทศวรรษ 1880 เนื่องจากมีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้สำหรับพื้นที่เพาะปลูกทางตอนกลางของจีน เมื่อเวลาผ่านไป เขื่อนเหล่านี้ก็กลายเป็นตะกอนที่ ค่อยๆ ยกแม่น้ำขึ้นสูง เมื่อฝนตกหนักทำให้แม่น้ำไหลเชี่ยวในเดือนกันยายน พ.ศ. 2430 ได้ไหลท่วมเขื่อนเหล่านี้ลงไปยังพื้นที่ราบลุ่มโดยรอบ บริเวณที่น้ำท่วมไพศาลถึง 5,000 ตารางไมล์ (12,949 ตารางกิโลเมตร) จากข้อมูลของ "สารานุกรมภัยพิบัติ: ภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและโศกนาฏกรรมของมนุษย์" อุทกภัยครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตประมาณ 900,000 ถึง 2 ล้านคน
1. แม่น้ำแยงซีท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2474
ปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักในภาคกลางของจีนในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมปี 2474 ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก นั่นคือ น้ำท่วมพื้นที่ตอนกลางของจีนในปีค.ศ. 1931 เมื่อแม่น้ำแยงซีไหลล้นตลิ่งโดยมีหิมะในฤดูใบไม้ผลิเข้าร่วมปะปนกับปริมาณน้ำฝนกว่า 600 มม. ที่ตกในช่วงเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว (แม่น้ำเหลืองและทางน้ำขนาดใหญ่อื่น ๆ ก็ถึงระดับสูงเช่นกัน) จากข้อมูลในหนังสือ "ธรรมชาติของภัยพิบัติในประเทศจีน: น้ำท่วมแม่น้ำหยางในปี 1931 (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 2018) น้ำท่วมในบริเวณกว้างใหญ่ไพศาลเกือบ 70,000 ตารางไมล์ (180,000 ตารางกิโลเมตร) และเปลี่ยนแม่น้ำแยงซีให้กลายเป็นสิ่งที่ดูเหมือนทะเลสาบหรือมหาสมุทรขนาดยักษ์
ตัวเลขของรัฐบาลในปัจจุบันระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านคน แต่หน่วยงานอื่นๆ รวมทั้ง NOAA กล่าวว่าอาจมีคนมากถึง 3.7 ล้านคน
ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติของประเทศไทย หรือ THAI DISASTER ALERT
แม้ว่าประเทศไทยจะไม่อยู่ในโซนภัยพิบัติ จึงไม่เผชิญความเสี่ยงจากการเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่บ่อยนัก แต่หลังจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี พ.ศ.2547 ทำให้สังคมตระหนักถึงความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น รัฐบาลจึงได้ตั้งหน่วยงานในการแจ้งเตือนและบูรณาการความร่วมมือในการเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชน
นอกจากการแจ้งเตือนภัยผ่าน sms แล้ว เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ก็ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” ขึ้นมา ใช้ในการแจ้งเตือนสาธารณภัยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วไทย ให้ประชาชนดาวน์โหลดได้ฟรี (ทั้ง Android และ IOS) โดยมีจุดเด่นในการแจ้งเตือนแบบเจาะลึกเข้าถึงเฉพาะพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัยพิบัติแบบ Real Time
การสมัครใช้งานแอปฯ นี้ ทำได้ง่ายๆ เพียง 3 ขั้นตอน คือ 1) ใส่ข้อมูล 2) เลือกพื้นที่ (จังหวัด) ที่จะรับข้อมูล 3) เปิด Location โดยผู้ใช้งานต้องเลือกจังหวัดที่ต้องการได้รับการแจ้งเตือนภัย จำนวน 3 จังหวัด จะเป็นจังหวัดใดก็ได้ หรือตั้งค่าเปิดสิทธิ์ให้แอปฯ เข้าถึงตำแหน่งที่ตั้ง (Location) ของสมาร์ทโฟนได้ทุกพื้นที่ก็ได้เช่นกัน
การทำงานของ “THAI DISASTER ALERT” จะทำการแจ้งเตือนเมื่อจังหวัดที่ผู้ใช้งานได้เลือกไว้มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดภัยพิบัติขึ้น โดยระบบจะส่งข้อความแจ้งเตือนภัยให้ผู้ใช้งานทราบทันที ในรูปแบบข้อความแจ้งเตือน Notification บนหน้าจอสมาร์ทโฟน พร้อมทั้งมีเมนูที่แสดงเป็นภาพพื้นที่เสี่ยง (จะขึ้นแถบสีในพื้นที่นั้น) ให้เห็นชัดเจน อีกทั้งมีเมนูที่รวบรวมเบอร์โทรสายด่วนของหน่วยงานต่างๆ ไว้ให้ด้วย
อะไรคือสิ่งที่ผู้คนมักไม่ทราบว่าจะช่วยพวกเขาได้ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ?
หนึ่งในรายการที่แนะนำในรายการชุดอุปกรณ์สำหรับภัยพิบัติภายในบ้านก็คือวิทยุ FM/AM ธรรมดาที่รายงานสภาพอากาศและใช้พลังงานจากแบตเตอรี่หรือถ่านธรรมดาๆ นี่เอง เครื่องมือสื่อสารนี้ (และวิทยุแบบพกพาประเภทอื่นๆ) สามารถให้ข้อมูลการช่วยชีวิตแก่ผู้รอดชีวิต เช่น การออกอากาศฉุกเฉิน คำสั่งอพยพ คำแนะนำในสถานที่หลบภัย และอื่นๆ อีกมากมาย
วิทยุรายงานสภาพอากาศเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจากสามารถปรับคลื่นวิทยุในพื้นที่ของคุณได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลฉุกเฉินที่น่าเชื่อถือที่สุด
แม้ว่าโทรศัพท์มือถือนั้นจะเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยม แต่เสาส่งสัญญาณก็สามารถถล่มล่มสลายไปได้
อะไรคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ลืมนึกถึงในช่วงเวลาเหล่านั้น?
หลายคนลืมให้ความสำคัญกับความต้องการพื้นฐานที่สุดของพวกเขา หรือที่เรียกว่าลำดับความสำคัญในการเอาชีวิตรอด มนุษย์ไม่ต้องการอะไรมากนักเพื่อความอยู่รอด สิ่งจำเป็นสูงสุดก็คือ ที่พักพิง, น้ำ, อากาศ, อาหาร, ความปลอดภัย, การนอนหลับ, การรักษาพยาบาล, และสุขอนามัยที่จะทำให้เรามีชีวิตรอดอยู่ได้เป็นเวลานาน แต่บ่อยครั้งที่ความต้องการพื้นฐานเหล่านี้มักสับสนกับความต้องการในการเก็บรักษาทรัพย์สินและความต้องการความสะดวกสบายและความบันเทิงตามปกติ
“ความจำเป็น” เป็นสิ่งเดียวที่คุณต้องการในช่วงวิกฤต ส่วน “ความต้องการ” นั้นต้องรอคิวเมื่อถึงคราวของมัน
อ้างอิง:
- https://www.livescience.com/33316-top-10-deadliest-natural-disasters.html
- https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1029452
- https://www.nationalgeographic.com/adventure/article/how-to-survive-natural-disaster-storm-hurricane-expert-tips