ฝนเจือปนไมโครพลาสติก ภัยร้ายใกล้ตัวที่ถูกมองข้าม
แม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หรือแม้กระทั่งสี กลิ่น รสก็ยังสัมผัสไม่ได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ‘ไมโครพลาสติก’ ได้เจือปนอยู่ตามอากาศ ม่านหมอก และฝน ก่อนที่จะตกลงสู่ผิวดิน ซึ่งนับเป็นภัยร้ายที่เรามักมองข้ามและประเมินความอันตรายของพวกมันต่ำเกินไป
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ในนิวซีแลนด์ ระบุว่าโดยเฉลี่ยแล้วแต่ละวันในเมืองโอ๊คแลนด์ อนุภาคไมโครพลาสติกเกือบ 5,000 ชิ้นจะเจือปนในม่านหมอก ฝน อากาศก่อนพวกมันจะตกลงมายังพื้นดินในแทบทุกตารางเมตร ซึ่งหากประมาณการทั้งหมดแล้วบรรดาไมโครพลาสติกที่เจือปนและตกลงมายังผิวดินเปรียบเสมือนการเพิ่มขยะพลาสติกบนโลกราว 74 เมตริกตันในแต่ละปี หรือเทียบเท่ากับขวดพลาสติกประมาณสามล้านขวด
การศึกษาใช้ระยะเวลา 9 สัปดาห์ ในการตรวจวัดปริมาณไมโครพลาสติกในพื้นที่ 2 แห่งได้แก่ พื้นที่บนหลังคาของมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์และตามแนวรั้วของพื้นที่ชานเมือง โดยใช้กรวยและขวดโหลเป็นเครื่องอุปกรณ์ในการดักจับ
โดยในพื้นที่แต่ละแห่ง นักวิจัยพบประเภทของพลาสติกที่ปนอยู่ในอากาศแตกต่างกันถึง 8 ชนิด โดยโพลิเอทิลีน (PE) พลาสติกที่ใช้ในร้านสะดวกซื้อและขวดน้ำ, โพลิคาร์บอเนต (PC) พลาสติกที่ใช้สำหรับอุปกรณ์ป้องกันและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และโพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) พลาสติกที่ใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ถือว่าเป็นพลาสติกที่พบมากที่สุด
อนุภาคส่วนใหญ่ที่จับได้ระหว่างการทดลองมีขนาดระหว่าง 10 ถึง 50 ไมโครมิเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเศษพลาสติก และมีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีขนาดใหญ่กว่า 100 ไมโครมิเตอร์
ทุกวันนี้ แม้ยังไม่มีวิธีการตรวจวัดระดับไมโครพลาสติกที่เป็นมาตรฐาน การทดลองจากนักวิทยาศาสตร์ในกลุ่มต่างๆจึงมีวิธีการตรวจจับและวัดค่าที่แตกต่างกันออกไปจนกว่าจะพัฒนาวิธีการที่เป็นสแตนดาร์ดได้สำเร็จ แต่ถึงอย่างนั้นไม่ว่าจะศึกษาและปรับปรุงวิธีการให้ดีขึ้นขนาดไหน ทีมวิจัยส่วนใหญ่มักพบว่าปริมาณไมโครพลาสติกที่ลอยเจือปนอยู่ในอากาศมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก
พื้นที่ห่างไกลแค่ไหนก็หนีไมโครพลาสติกไม่พ้น
ในปี 2019 เคยมีงานวิจัยพบว่าขนาดเทือกเขาพิรินี (Pyrenees mountains) พรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศสเปน ยังพบไมโครพลาสติกซึ่งคาดว่าน่าจะถูกลมพัดพามาจากหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง
ปริมาณพลาสติกที่คาดการณ์ขึ้นใหม่ในงานวิจัยครั้งนี้ถือว่ามีปริมาณมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคำนวนไว้ในปี 2020 ซึ่งประเมินว่าจำนวนไมโครพลาติกที่เจือปนอยู่ในอากาศของกรุงลอนดอนและตกลงมายังพื้นดินมีเพียง 771 ชิ้นเท่านั้น โดยในฮัมบูร์ก หรือปารีสก็มีปริมาณที่ไม่ต่างกันมาก
ปริมาณไมโครพลาสติกในกรุงลอนดอนที่แม้จะน้อยกว่าโอ๊คแลนด์ถึงหกเท่า ไม่ได้หมายความว่าลอนดอนสร้างมลพิษจากพลาสติกน้อยกว่า แต่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าปริมาณไมโครพลาสติกส่วนใหญ่ที่พบในโอ๊คแลนด์มีความเป็นไปได้ว่าจะถูกพัดพามาจากลมและคลื่นบริเวณชายฝั่ง ลมถือเป็นตัวแปรสำคัญในการพัดพาปริมาณไมโครพลาสติกให้ไปตกในประเทศต่างๆ ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศห่างไกลอย่างนิวซีแลนด์ถึงตรวจพบไมโครพลาสติกมากขนาดนี้
ในปี 2021 นักวิทยาศาสตร์เคยออกโรงเตือนว่าจำนวนไมโครพลาสติกที่เจือปนอยู่ในอากาศนั้นส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศของโลก หากในอนาคตปริมาณไมโครพลาสติกยิ่งเพิ่มสูง อาจทำให้ปรากฏการณ์เรือนกระจกรุนแรงขึ้น
งานวิจัยบางส่วนยังชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าผลกระทบต่อสุขภาพยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก แต่ในปัจจุบันปอดของมนุษย์รวมถึงในระบบทางเดินหายใจล้วนมีไมโครพลาสติกเจือปนอยู่ โดย Joel Rindelaub นักเคมีจากมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์เสริมความเห็นว่า ในอนาคตเราจำเป็นที่จะต้องศึกษาปริมาณไมโครพลาสติกที่มนุษย์รับเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจให้มีจำนวนที่แน่ชัด และยิ่งไมโครพลาสติกมีความเล็กมากเท่าไหร่ ความสามารถในการเข้าสู่ระบบหายใจมนุษย์ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น
ข้อมูลอ้างอิง:
- https://www.sciencealert.com/plastic-rain-is-a-now-a-thing-and-weve-underestimated-just-how-heavy-it-is
- https://pubs.acs.org/doi/10.1021/acs.est.2c05850