“Fast Fashion” แฟชั่นด่วนคืออะไร? ทำไมป่วนโลกร้อน
กล่าวให้สั้น แฟชั่นด่วน หรือ Fast Fashion เป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเสื้อผ้าทันสมัย ในราคาต่ำ แต่ผลกระทบของอุตสาหกรรมแฟชั่นด่วนที่มีต่อคนและโลกใบนี้นั้นไม่ต่ำ แต่กลับส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระดับท็อป 5 ของอุตสาหกรรมทำลายโลก
แต่คำถามคือ สิ่งที่คุณจะสามารถทำได้จริงๆ เพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรวังวนแฟชั่นโลกรวน เพื่อลด ละ เลิกการผลิตคาร์บอน สร้างน้ำเสีย ก่อภัยแล้ง ได้อย่างไร ตอบได้เลยว่า ยาก!
แต่อย่างน้อยเรามาทำความรู้จักฟาสต์แฟชั่นกันให้มากกว่านี้ดีกว่า ก่อนจะตัดสินอะไรๆ กันต่อไป
แฟชั่นด่วน หมายถึงรูปแบบธุรกิจอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ผลิตเสื้อผ้าอินเทรนด์จำนวนมากด้วยต้นทุนที่ต่ำ ร้านค้าปลีกแบบฟาสต์แฟชั่นตั้งใจผลิตเสื้อผ้าคุณภาพต่ำ ราคาถูกที่ผู้บริโภคทิ้งได้อย่างไม่ใยดี อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นจึงหาซื้อสินค้าใหม่กันต่อไป เหมือนวังวนไม่รู้จบ
ประวัติย่อของแฟชั่นด่วน
ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม การซื้อเสื้อผ้าหมายถึงการซื้อสิ่งของบางอย่าง ในกลุ่มปัจจัย 4 และสามารถนำไปใช้งานได้นานวัน เนื่องจากเวลานั้นการจัดหาวัสดุสำหรับเสื้อผ้ามีราคาแพงและใช้เวลานาน เราอาจเห็นได้จากหนังพีเรียดที่ตัวละครใส่เสื้อผ้าซ้ำได้ทั้งเรื่อง
แต่ทุกวันนี้ ทุกสิ่งเปลี่ยนไปหมดแล้ว เริ่มจาก:
- การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) : สิ่งประดิษฐ์ทางอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น เครื่องทอผ้าและจักรเย็บผ้านำไปสู่โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและร้านขายเสื้อผ้า ซึ่งใช้แรงงานต้นทุนต่ำเพื่อเร่งการผลิตสิ่งทอ นำไปสู่การปฏิวัติธุรกิจแฟชั่น
- การเอาท์ซอร์ส (Outsourcing) : ฟาสต์แฟชั่นเติบโตในทศวรรษ 1970 เมื่อผู้ผลิตเริ่มทำการว่าจ้างผลิตเสื้อผ้าจากนอกประเทศ โดยมุ่งไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าและมีกฎหมายแรงงานที่เข้มงวดน้อยกว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นได้สร้างเสื้อผ้าที่ผลิตในปริมาณมากและนำเสนอแก่ผู้บริโภคในราคาต่ำ ส่วนผู้บริโภคก็ตอบสนองตลาดด้วยการใช้จ่ายมากขึ้นกับเสื้อผ้าใหม่ๆ และยังคาดหวังสไตล์ใหม่ๆ จากร้านค้าอย่างสม่ำเสมอ
- การยึดหัวหาดของฟาสต์แฟชั่น (Fast fashion takes over) : อุตสาหกรรมแฟชั่นด่วนประสบความสำเร็จในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และต้นทศวรรษ 2000 บริษัทฟาสต์แฟชั่นที่นำเสนอเสื้อผ้าราคาถูกและสินค้าใหม่ที่หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลากลายเป็นบรรทัดฐานให้กับสังคม ในขณะที่ต้นทุนที่แท้จริงของเทรนด์แฟชั่นเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็น
แล้ว Fast Fashion แย่จริงไหม?
จริงๆ แล้วฟาสต์แฟชั่นก็พอมีประโยชน์อยู่บ้างเช่น ทำให้ทุกคนเข้าถึงสไตล์อินเทรนด์ได้ในต้นทุนที่ต่ำ และสร้างผลกำไรสูงให้กับแบรนด์เสื้อผ้า อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมนี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สัตว์ และมนุษย์ ในรูปแบบต่างๆ ที่ประเมินไดดังนี้:
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม: ฟาสต์แฟชั่นใช้ผ้าใยสังเคราะห์ที่ได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งมีส่วนเพิ่มการปล่อยคาร์บอนและภาวะโลกร้อน การแผ้วถางที่ดินเพื่อหาฝ้ายจำนวนมหาศาลที่จำเป็นในอุตสาหกรรมทำให้เกิดความเสี่ยงภัยแล้ง คุณภาพของดินลดลง และลดความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ สารเคมีจากการย้อมผ้าจะชะลงในน้ำทำให้น้ำเสีย และเกิดขยะสิ่งทอในปริมาณมหาศาลเกินกว่าจะกลบฝัง
การใช้แรงงานแบบเอารัดเอาเปรียบ: ฟาสต์แฟชั่นก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการจ่ายค่าแรงให้คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำเพื่อให้คนงานทำงานหนักหลายชั่วโมงในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ย่ำแย่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าบางแห่งจ้างคนงานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยค่าจ้างต่ำโดยไม่มีการรับประกันความปลอดภัย
ผลกระทบด้านลบต่อผู้บริโภค: อุตสาหกรรมเสื้อผ้าแบบฟาสต์แฟชั่นกระตุ้นให้ผู้บริโภคเชื่อว่าพวกเขาต้องตามเทรนด์อยู่เสมอ ทำให้เกิดวงจรการซื้อและทิ้งเสื้อผ้าที่ไม่มีวันจบสิ้น วงจรแฟชั่นเกี่ยวข้องกับการเกลี้ยกล่อมให้คุณซื้อ บังคับให้คุณเข้าใจภายในระยะเวลาสั้นๆ ว่าเทรนด์เปลี่ยนไปแล้ว ทำให้คุณไม่พอใจกับเสื้อผ้าปัจจุบัน กระตุ้นให้คุณซื้อมากขึ้น
ผลกระทบสำคัญของ Fast Fashion ต่อสิ่งแวดล้อมมีอีกมากมายในแบบที่ทำให้คุณต้องจินตนาการถึงทุกๆ วัน ก่อนหยิบเสื้อผ้ามาสวมใส่ในแต่ละวัน เช่น
อันตรายต่อสัตว์: สิ่งมีชีวิตในทะเลกลืนกินสีย้อม สารเคมีที่เป็นพิษ และไมโครไฟเบอร์ที่ปล่อยออกมาจากการผลิตเสื้อผ้าไหลลงสู่ทางน้ำและมหาสมุทร ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร
ความเสื่อมโทรมของที่ดิน: ฝ้ายที่ปลูกในเชิงพาณิชย์ต้องการทรัพยากรจำนวนมาก มันต้องการน้ำในปริมาณมากและปุ๋ยเคมีที่ทำให้ดินเสื่อมโทรม
การปล่อยก๊าซเรือนกระจก: อุตสาหกรรมแฟชั่นผลิตคาร์บอนจำนวนมาก มีส่วนในการปล่อยคาร์บอน 10% ทั่วโลก เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานที่ขยายออกไปของการผลิตและการขนส่งซึ่งจำเป็นสำหรับการผลิตเสื้อผ้า
มลพิษจากสารเคมีที่เป็นพิษ: สิ่งทอคุณภาพต่ำที่บริษัทฟาสต์แฟชั่นใช้ทำให้หลุมฝังกลบขยะปนเปื้อนด้วยสารตะกั่ว ยาฆ่าแมลง และสารเคมีมีพิษอื่นๆ จำนวนหนึ่งไม่ย่อยสลายทางชีวภาพ อุตสาหกรรมสิ่งทอจึงใช้พื้นที่ประมาณ 5% ของพื้นที่ฝังกลบทั้งหมด
มลพิษทางน้ำ: การใช้สารเคมีเพื่อย้อมสีสิ่งทอก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำที่มนุษย์และสัตว์ใช้ จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการยุโรปแห่งสหประชาชาติ อุตสาหกรรมแฟชั่นมีส่วนทำให้เกิดน้ำเสียถึง 20% โดยอุตสากรรมยีนส์เป็นผู้ก่อมลพิษในน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ทำลายระบบนิเวศน์ของสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นและขัดขวางความยั่งยืน
แบบไหนที่เรียกฟาสต์แฟชั่น?
แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นมีลักษณะสากลบางอย่างร่วมกัน ซึ่งจะทำให้คุณสามารถชี้ชัดได้อย่างรวดเร็วในร้านค้า หรือจากการอ่านรายละเอียดต่างๆ เช่น:
วัสดุราคาถูก: วัสดุทั่วไปส่วนใหญ่เป็นผ้าใยสังเคราะห์คุณภาพต่ำ เช่น อะคริลิก โพลีเอสเตอร์ ไนลอน และสแปนเด็กซ์ ผ้าเหล่านี้มีส่วนประกอบของพลาสติก และเมื่อคุณซัก มันจะปล่อยไมโครพลาสติกลงสู่ทางน้ำ นอกจากนี้ การผลิตพลาสติกยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมัน) มากมายมหาศาล
ผลิตนอกประเทศ: ฉลากของเสื้อผ้าเผยให้เห็นว่า ผู้ผลิตผลิตเสื้อผ้าในประเทศอื่นที่แรงงานราคาถูกและมีการควบคุมดูแลน้อยที่สุด
ราคาถูก: บริษัทฟาสต์แฟชั่นต้องการขาย และพวกเขาได้กำไรจากการขายเสื้อผ้าจำนวนมากในราคาต่ำ
หลากหลายสไตล์: ร้านค้ามีเสื้อผ้าหลายร้อยรายการที่มีสไตล์แตกต่างกัน ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กระแสแฟชั่นปัจจุบันที่ส่งเสริมโดยดีไซเนอร์และอินฟลูเอนเซอร์
การผลิตอย่างรวดเร็ว: แบรนด์เสื้อผ้าเหล่านี้จะออกสไตล์ใหม่ๆ มากมายทุกสัปดาห์ ไม่ซ้ำกัน
7 ทางเลือกลด ละ เลิก Fast Fashion
การเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของคุณและหาทางเลือกอื่นสำหรับแฟชั่นด่วนจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และเสื้อผ้าของคุณก็จะใช้งานได้นานขึ้น เสียเงินในกระเป๋าน้อยลง
เพียงทำตามเคล็ดลับเหล่านี้ เพื่อเปลี่ยนนิสัยแฟชั่นด่วนๆ ของคุณ:
1. ซื้อน้อยลง การซื้อน้อยลงหมายความว่าคุณมีเงินมากขึ้นเพื่อใช้จ่ายกับสินค้าที่มีอายุการใช้งานยาวนานกว่าจากบริษัทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีหลักปฏิบัติด้านแรงงานที่เป็นธรรม
2. ช็อปของมือสอง การซื้อเสื้อผ้ามือสองช่วยยืดอายุของสิ่งของ ป้องกันไม่ให้มันไปลงเอยที่หลุมฝังกลบ ลองเปลี่ยนไปเที่ยว ชม ช็อปตามร้านขายของมือสองและร้านขายของวินเทจเพื่อหาของที่ไม่ซ้ำใครในราคาถูก
3. ดูแลเสื้อผ้าของคุณ ยืดอายุเสื้อผ้าของคุณด้วยการซักผ้าให้น้อยลง ใช้ผงซักฟอกสูตรอ่อนโยน งดใช้เครื่องอบผ้าและใช้วิธีตากแดดหรือผึ่งลมให้แห้งเพื่อช่วยให้เสื้อผ้ามีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น
4. ยอมรับวิถีแฟชั่นละเมียด (slow fashion) อุดมการณ์นี้มุ่งเน้นไปที่การเลือกชิ้นงานคุณภาพสูง เรียบง่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่ง โดยการเลือกวัสดุที่อีโค่ เช่น ผ้าฝ้ายออร์แกนิก ป่าน และเสื้อผ้าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล
5. ซ่อมแซมเสื้อผ้า รองเท้าที่เสียหาย ฉีกขาด แทนการทิ้ง หากการซ่อมยากเกินกว่าจะทำด้วยตัวเอง ให้นำไปซ่อมที่ร้านตัดเสื้อหรือร้านซ่อมรองเท้า หรืออาจเติมชีวิตใหม่ให้กับสิ่งของที่ซีดจางหรือมีรอยเปื้อนด้วยการย้อมสีใหม่
6. เช่าชุดในโอกาสพิเศษ แทนที่จะซื้อชุดใหม่ที่คุณจะใส่เพียงครั้งเดียว ให้ใช้วิธียืมชุดจากเพื่อนหรือบริษัทเช่าเสื้อผ้าออนไลน์แทน
7. หาข้อมูลก่อนซื้อ บริษัทฟาสต์แฟชั่นบางแห่งเข้าร่วมในโครงการสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยอ้างว่าจะผลิตแฟชั่นที่ยั่งยืน แต่ในความจริงกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น อย่าลืมศึกษาคำกล่าวอ้างของแบรนด์ต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้ออะไร
เข้าใจตรงกันนะ พร้อมหรือยัง