ความท้าทายของตลาดเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
เพื่อสอดรับกับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อรองรับกระแสควมมต้องการจากยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) พุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ถึงแม้ว่ายอดขายของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) พุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบสัดส่วนของส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกของรถยนต์ไฟฟ้าแล้วก็ยังถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับตลาดรถยนต์สันดาป โดยรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.6% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ในปี 2020 (Global EV Outlook 2021, IEA) โดยมีผู้เล่นชั้นนำในตลาดคือ Tesla, BYD และ Volkswagen ปัจจุบันตลาด รถยนต์ไฟฟ้ามีการแข่งขันสูงและพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดและผู้เล่นรายเดิมที่ขยายข้อเสนอเพื่อจูงใจลูกค้ามากขึ้น โดยส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากปัจจัยต่างๆ เช่น ต้นทุนการผลิตที่ลดลง การปรับปรุงเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่มีอายุการใช้งานนานขึ้น และความสนใจของผู้บริโภคที่หันมาใช้พลังงานสะอาดซึ่งเป็นทางเลือกของระบบการขนส่งที่ยั่งยืน
เป็นที่น่าสังเกตว่าการแพร่ระบาดของ โควิด-19 สร้างผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2020 ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าชะลอตัวลงอย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักคาดการณ์ไว้ว่าตลาดรถยนต์ EV จะฟื้นตัวเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเพื่อสอดรับกับความต้องการรถยนต์ EV ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อตอบรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า การเตรียมความพร้อมในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้ใช้รถไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น องค์ประกอบหลักของการใช้รถ EV คือ การชาร์จไฟแบตเตอรี่ ไม่ว่าจะชาร์จที่บ้านหรือสถานีชาร์จสาธารณะ การที่ผู้บริโภคเข้าถึงเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง การติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในพื้นที่สาธารณะหรือในครัวเรือนคาดว่าจะเติบโตอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ด้วยแรงหนุนจากปัจจัยต่างๆ เช่น การปรับปรุงเทคโนโลยีการชาร์จ การใช้รถ EV มากขึ้นบนท้องถนน และการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
ณ ปัจจุบันมีวิธีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายวิธีทั่วโลกแต่วิธีการชาร์จรถยอดนิยมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายสรุปได้ดังนี้
• การชาร์จระดับ 1 (Level 1 Charging, AC) เป็นรูปแบบพื้นฐานที่สุดและใช้เวลานานที่สุดในการชาร์จรถยนต์ โดยทั่วไปจะใช้สำหรับการชาร์จข้ามคืนที่บ้านด้วยการเสียบเต้ารับชนิดมาตรฐาน (เต้ารับคู่มีกราวด์) อาจใช้เวลาตั้งแต่ 10 ถึง 20 ชั่วโมงในการชาร์จให้เต็ม (แล้วแต่ขนาดความจุแบตเตอรี่และรุ่นของรถยนต์)
• การชาร์จระดับ 2 (Level 2 Charging, AC) เป็นรูปแบบการชาร์จที่เร็วกว่าเต้ารับไฟบ้าน เป็นการชาร์จโดยผ่านเครื่องชาร์จหรือ Wall Charger (อาจแถมมากับตัวรถหรือซื้อเพิ่มภายหลัง) สามารถติดตั้งได้หลากหลายทั้งพื้นที่สาธารณะ สำนักงานและบ้านเรือน ระยะเวลาการชาร์จอาจใช้เวลาตั้งแต่ 4-8 ชั่วโมงต่อการชาร์จให้เต็มหนึ่งครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการติดตั้งระบบไฟฟ้าและชนิดของเฟสไฟที่บ้าน (1 เฟส หรือ 3 เฟส)
• การชาร์จแบบเร็วกระแสตรง (Super Fast Charge, DC) เป็นรูปแบบการชาร์จรถ EV ที่เร็วที่สุดโดยการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงพลังงานสูงไปยังแบตเตอรี่ของรถยนต์โดยตรง สามารถพบได้ที่สถานีชาร์จสาธารณะ ปั๊มน้ำมัน ในไทยเราจะเจอสถานี Fast Charge ได้มากในกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนในต่างจังหวัดจะอยู่ตามถนนสายหลักของจังหวัด เช่น สถานีชาร์จรถของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคประจำจังหวัด (กฟภ.) มีประสิทธิภาพการชาร์จแบตเตอรี่สูงถึง 80% ในเวลาเพียง 30 นาที ให้กำลังไฟกระแสตรงสูงถึง 50 – 120 kW
• การชาร์จแบบไร้สาย (Wireless Charging) เป็นเทคโนโลยีการชาร์จแบบเหนี่ยวนำเพื่อถ่ายโอนพลังงานระหว่างแผ่นชาร์จและรถยนต์โดยไม่ต้องผ่านสายไฟเคเบิล เทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาแต่มีศักยภาพที่จะเป็นหนึ่งในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่สะดวกที่สุดและเป็นมิตรกับผู้ใช้ในอนาคต
• การชาร์จด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Charging) เป็นการชาร์จที่เกี่ยวข้องกับการใช้แผงโซล่าเซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับชาร์จแบตเตอรี่รถEV เทคโนโลยีนี้เป็นที่นิยมในประเทศที่มีรังสีดวงอาทิตย์สูง เช่น ออสเตรเลียและสเปน
แน่นอนว่าในปี 2023 นี้เราจะได้เห็นการแข่งขันที่สูงมากขึ้นของตลาดเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าบนถนนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ณ ปัจจุบันความสะดวกสบายในการชาร์จรถยนต์ในที่สาธารณะยังมีไม่มากเท่าที่ควร รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่สามารถมาแทนที่รถยนต์น้ำมันเชื้อเพลิงได้ในหลายกรณี รถยนต์ไฟฟ้ายังคงเป็นรถยนต์คันที่ 2, 3 หรือ 4 ภายในบ้าน ผู้ใช้รถอาจจำเป็นต้องมีรถยนต์น้ำมันเชื้อเพลิงในกรณีต้องเดินทางไปต่างจังหวัด แม้จะมีการสนับสนุนและส่งเสริมตลาดเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็ยังมีความท้าทายหลายประการที่ต้องแก้ไข เพื่อตอบสนองต่อการเจริญเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในระยะยาว ต่อไปนี้เป็นความท้าทายบางประการสำหรับการเติบโตของโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของไทย
• การเชื่อมต่อกริด (Grid Connectivity) : โครงข่ายการเชื่อมต่อกริดไฟฟ้าที่เพียงพอและเสถียร มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จสาธารณะ เนื่องจากสถานีชาร์จต้องการโหลดไฟฟ้าจำนวนมาก โครงข่ายไฟฟ้าที่อยู่ในชุมชน ในที่ห่างไกลจากตัวเมือง หรือในที่ที่มีแนวโน้มที่ไฟฟ้าดับบ่อย อาจจะต้องการการปรับปรุงหรือติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มสำหรับรองรับการใช้ไฟของสถานีชาร์จรถไฟฟ้าสาธารณะ
• อุปสรรคของผู้ประกอบการรายใหม่ (Barrier to Entry) : ค่าใช้จ่ายที่สูงในการลงทุนเพื่อสร้างสถานีชาร์จในเชิงธุรกิจอาจเป็นอุปสรรคหลักของผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจจะลงทุน ภาคธุรกิจอาจต้องการมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเชิงนโยบาย แรงจูงใจทางการเงิน (financial incentives) หรือการผ่อนปรนด้านกฏระเบียบการลงทุนจากทางภาครัฐ
• การเลือกสถานที่ติดตั้งสถานีชาร์จ ก็เป็นหนึ่งในความท้าทายของผู้ประกอบการ นอกจากสถานที่ต้องเข้าถึงโครงข่ายไฟฟ้าเพียงพอสำหรับรองรับการชาร์จรถจำนวนมากแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้บริโภคในการเดินทางมาใช้บริการสถานีชาร์จรถอีกด้วย นอกจากนี้การสร้างสถานีชาร์จรถไฟฟ้าสาธารณะยังต้องคำนึงถึงการใช้งานเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าร่วมกับระบบอื่น เช่น ระบบการชำระเงิน ระบบการค้นหาสถานีชาร์จใกล้เคียง เพื่อให้ผู้ใช้งานใช้ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่บ้านของผู้ใช้งาน ต่อไปนี้เป็นปัจจัยพื้นฐานบางประการ ที่ผู้ใช้รถ EV ควรคำนึงถึงเกี่ยวกับการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน
• ค่าใช้จ่าย : ค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อและติดตั้งเครื่องชาร์จเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเจ้าของบ้านจำนวนมาก ในปัจจุบันมีผู้เล่นหลายรายในตลาดเครื่องชาร์จรถไฟฟ้า ซึ่งราคาก็แตกต่างกันไปตามคุณภาพและอัตราความเร็วในการชาร์จ ส่วนราคาติดตั้งก็แปรผันตามความยาวของสายไฟจากตู้โหลดไฟถึงตำแหน่งติดตั้งเครื่องชาร์จในบ้าน
• ขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าของบ้านที่เพียงพอสำหรับเครื่องชาร์จรถ : บ้านที่สร้างมานานอาจไม่มีขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าเพียงพอสำหรับติดตั้งเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าซึ่งกินไฟโดยเฉลี่ย 32A - 40A ต่อการชาร์จรถ 1 ครั้ง (7.4kW สำหรับบ้าน 1 เฟส และ 11kW - 22kW สำหรับบ้าน 3 เฟส) เจ้าของบ้านอาจต้องดำเนินการขยายมิเตอร์ไฟที่บ้านเพื่อรองรับเครื่องชาร์จ และจำเป็นต้องมีความรู้เรื่องระบบไฟฟ้าในระดับหนึ่ง เช่น ชนิดของเบรคเกอร์ควบคุมเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า, ขนาดมิเตอร์ไฟในบ้าน หรือขนาดของสายไฟที่ใช้สำหรับเครื่องชาร์จ
• ชนิดของบ้านที่อยู่อาศัย : ชนิดของบ้านที่เหมาะสมสำหรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า คือบ้านเดี่ยวหรือบ้านจัดสรรที่มีลานจอดรถภายในบ้าน เพราะสามารถติดตั้งเครื่องชาร์จไว้ในตัวบ้านได้ ผู้อาศัยที่อยู่คอนโดมิเนียมจำเป็นต้องชาร์จรถข้ามคืนในลานจอดรถคอนโดมิเนียมส่วนกลาง ซึ่งอาจมีไม่เพียงพอสำหรับลูกบ้านทุกคน นอกจากนั้น ผู้อยู่อาศัยในตึกแถวหรืออาคารเชิงพาณิชย์ (ทาวเฮ้าส์) แม้ว่าจะจอดรถหน้าบ้านได้ ก็ไม่สามารถทำการติดตั้งเครื่องชาร์จได้ เพราะสายชาร์จอาจไปพาดขวางทางเดินสาธารณะหน้าบ้าน
การเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะและการเข้าถึงเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้าน สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมหลายประการ เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การมีส่วนร่วมในการปรับปรุงคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น ลดการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล การประหยัดค่าใช้จ่ายด้านระบบขนส่งในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนถึงการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น
ผู้เขียน : ดร. ณัทกฤช อภิภูชยะกุล นักวิจัยอิสระ
แหล่งที่มาของข้อมูล:
https://www.iea.org/reports/global-ev-outlook-2021