Climate Change : วงการภาพยนตร์กับภาวะโลกร้อน
ในการสร้างภาพยนตร์ที่มีงบประมาณการสร้างมากกว่า 70 ล้านดอลลาร์จะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 2,840 ตันสู่ชั้นบรรยากาศ เทียบเท่ากับที่ผืนป่าขนาด 3,700 เอเคอร์จะสามารถดูดซับได้ใน 1 ปี แม้แต่ภาพยนตร์ฟอร์มเล็กยังปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์เทียบเท่าการขับรถประมาณ 1 ล้านไมล์
ภาวะโลกร้อนคือการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หลาย ๆ คนอาจนึกถึงต้นเหตุอย่างอุตสาหกรรมโรงงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ ภาคอุตสาหกรรม การขนส่งและกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ สำหรับวงการภาพยนตร์นั้น Sustainable Production Alliance รายงานว่าในการสร้างภาพยนตร์ที่มีงบประมาณการสร้างมากกว่า 70 ล้านดอลลาร์จะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 2,840 ตันสู่ชั้นบรรยากาศ เทียบเท่ากับที่ผืนป่าขนาด 3,700 เอเคอร์จะสามารถดูดซับได้ใน 1 ปี ภาพยนตร์ขนาดกลางจะปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ประมาณ 700 ตัน และภาพยนตร์ขนาดเล็กจะปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ประมาณ 300-400 ตัน ซึ่งแม้แต่ภาพยนตร์ฟอร์มเล็กยังปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์เทียบเท่าการขับรถประมาณ 1 ล้านไมล์
ถ้าถามว่าปริมาณการปล่อยมลพิษนี้มาจากส่วนไหนของกองถ่ายภาพยนตร์บ้าง ส่วนมากที่สุดคือมาจากการเดินทางขนส่ง โดยพบถึง 51% โดย 70 % มาจากการเดินทางทางบก และอีก 30 % มาจากการเดินทางทางอากาศ ส่วนที่เหลือจะมาจากการใช้พลังงาน โดย 34 % เป็นการใช้ไฟฟ้าและแก๊ส อีก 15 % มาจากเครื่องปั่นไฟหรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (BFI, 2020)
หากยังนึกไม่ออกว่าภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ๆ จะสามารถสร้างมลพิษมากมายได้อย่างไร ก็ขอให้นึกถึงงานสร้างของภาพยนตร์ การต้องตัดไม้ทำลายป่าเพื่อสร้างฉากหรือพร็อบ ยิ่งถ้าเป็นภาพยนตร์จำพวกบู๊ล้างผลาญหรือที่มีการจำลองฉากสงคราม การสู้รบ ยิ่งต้องมีฉากระเบิด ฉากไฟไหม้อย่างแน่นอน ซึ่งเพียงแค่นี้ก็สามารถสร้างมลพิษที่ทำให้โลกร้อนได้อย่างมหาศาลแล้ว ยังไม่นับภาพยนตร์ทั่วโลกนับล้าน ๆ เรื่องว่าจะสร้างมลพิษแก่โลกเราแค่ไหน
ไม่เพียงแต่แค่วงการภาพยนตร์เท่านั้น แต่วงการซีรีส์ ละคร หรือรายการทีวีก็สร้างมลพิษเช่นเดียวกัน โดยซีรีส์ ละครที่มีความยาว 1 ชั่วโมงจะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ตอนละประมาณ 77 ตัน ละครความยาว 30 นาทีที่ถ่ายแบบ single-camera จะปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตอนละประมาณ 26 ตัน ในขณะที่ละครความยาว 30 นาทีที่ถ่ายแบบ multi-camera จะปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตอนละประมาณ 18 ตัน และรายการที่ไม่มีสคริปต์จะปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตอนละประมาณ 13 ตัน(Sustainable Production Alliance, 2021)
แล้วจะทำอย่างไร? อุตสาหกรรมบันเทิงเหล่านี้จะช่วยลดการปล่อยมลพิษได้บ้าง?
ในวงการอุตสาหกรรมต่างประเทศได้เริ่มตระหนักถึงภาวะโลกร้อนและเกิดเป็นกลุ่มบริษัทภาพยนตร์ โทรทัศน์และสตรีมมิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจบันเทิงให้เป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมบันเทิงในชื่อว่า “The Sustainable Production Alliance” หรือ SPA ตัวอย่างบริษัทที่เข้าร่วม SPA เช่น Walt Disney, Netflix, Warner Bros. หรือ Paramount เป็นต้น ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะมีนโยบายที่จะทำเพื่อช่วยลดโลกร้อน เช่น Netflix จะลดมลพิษที่ปล่อยครึ่งนึงภายในปี 2030, NBCUniversal ที่มุ่งสู้เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2035 หรือ Sony Pictures ที่จะไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี 2050 เป็นต้น (Scripps News Staff, 2022)
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ว่ามลพิษส่วนใหญ่ในวงการภาพยนตร์มาจากการเดินทางขนส่ง ดังนั้นจึงต้องลดการเดินทางขนส่งภายในกองถ่ายและการถ่ายทำลงด้วยการใช้ Green Screen และ LED walls แทนการใช้สถานที่และสิ่งของจริง โดยตัวอย่างภาพยนตร์ที่ประสบสำเร็จในการลดมลพิษ คือ The Amazing Spiderman 2 โดยได้รับรางวัล a Green Seal award จาก the Environmental Media Association ในปี 2014(EMA, 2023)
นอกจากนี้ SPA ยังร่วมมือกับ The Producers Guild of America Foundation หรือ PGA จัดทำคู่มือในการช่วยลดคาร์บอนจากการถ่ายทำ เรียกว่า Green Production Guide (GPG) โดยครอบคลุมตั้งแต่หน้าเซ็ตกองถ่าย เบื้องหลัง พนักงานไปจนถึงภายในออฟฟิศ เช่น ลดการใช้พลังงานจากเครื่องปั่นไฟ, ใช้ไมโครโฟนที่สามารถชาร์จถ่านได้, ใช้ไฟ LED หรือ ปั่นจักรยานภายในกอง เป็นต้น
จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแนวทางการช่วยลดโลกร้อนโดยแก้จากต้นเหตุคือกองถ่ายและการถ่ายทำ อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์ยังสามารถสร้าง soft power ในการช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย กล่าวคือ การสร้างภาพยนตร์และสารคดีก็มีส่วนช่วยสร้างความตระหนักแก่ผู้ชมในเรื่องของโลกร้อนได้ด้วยเช่นกัน เช่น สารคดีเรื่อง Bigger Than Us ซึ่งเล่าถึงนักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม Melati Wijsen, สารคดีเรื่อง An Inconvenient Truth ซึ่งเล่าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ, ภาพยนตร์ประเภทวันสิ้นโลกอย่าง 2012 หรือ The Day After Tomorrow ก็ช่วยสร้างผลกระทบกับใจผู้ชมถึงความน่ากลัวของภัยพิบัติที่มีสาเหตุหนึ่งจากภาวะโลกร้อนและการกระทำของมนุษย์ หรือภาพยนตร์ที่มาก่อนกาลเรื่อง Soylent Green ที่เล่าถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาประชากรล้นโลกที่นำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรจนต้องนำมนุษย์มาผลิตเป็นอาหาร จากการศึกษาของ Anthony A. Leiserowitz ถึงการรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของผู้ชมและไม่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง The Day After Tomorrow พบว่าผู้ที่รับชมภาพยนตร์และสารคดีเหล่านี้จะมีความตระหนักต่อปัญหาโลกร้อนมากกว่าผู้คนที่ไม่ได้รับชม เช่น มีแนวโน้มซื้อรถประหยัดพลังงาน หรือเข้าร่วมองค์กรที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน เป็นต้น (Leiserowitz, 2004)
ในการช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วยแนวทางที่กล่าวมาสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ข้อที่ 12 คือ สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และข้อที่ 13 คือ ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
หันกลับมาดูที่ประเทศไทยยังไม่พบการลดภาวะโลกร้อนที่มีสาเหตุจากวงการบันเทิงอย่างจริงจัง อาจเพราะแนวทางการลดมลภาวะจากการถ่ายทำด้วยการใช้ Green Screen และ LED walls ยังไม่แพร่หลายและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หรือการรวมกลุ่มผู้ผลิตภาพยนตร์และละครซีรีส์ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดภาวะโลกร้อนก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมแต่ก็หวังว่าสักวันหนึ่งบุคลากรในวงการจะตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนและเริ่มเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมบันเทิงบ้านเราให้รักโลกยิ่งขึ้น
ผู้เขียน: ณัฐพงศ์ รัตนสานส์สุนทร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มาและแหล่งอ้างอิง:
Calawerts, Georgia. (2022). The Impact Of Emerging Sustainable Practices In The Film
Industry. Retrieved March 6, 2023, from https://amt-lab.org/blog/2021/12/what-does-sustainability-look-like-in-the-film-industry
Fleming, Sean. (2021). Action! How movies are helping young people fight climate
change and other global challenges. Retrieved March 6, 2023, from https://www.weforum.org/agenda/2021/07/movies-climate-change-awareness/
Hoad, Phil. (2020). BFI study calls on film industry to urgently reduce emissions.
Retrieved March 6, 2023, from https://www.theguardian.com/film/2020/sep/02/bfi-study-calls-on-film-industry-to-urgently-reduce-emissions
Leiserowitz, Anthony. (2004, November). Before and After the Day After Tomorrow: A U.S.
Study of Climate Change Risk Perception. Environment. 46(9). Retrieved March 6,
2023, from https://climatecommunication.yale.edu/wp-content/uploads/2016/02/2004_11_Before-and-after-The-Day-After-Tomorrow.pdf
LIGHTS, CAMERA…ACTION FOR NATURE?. (2021). Retrieved March 6, 2023, from
https://www.cbd.int/article/film-industry-and-sustainability
Scripps News Staff. (2022). TV and film companies are working toward a more
sustainable industry. Retrieved March 6, 2023, from https://scrippsnews.com/stories/how-tv-film-industry-impacts-the-environment/
Spangler, Todd. (2021). Hollywood Studios Release Carbon-Emissions Report, Showing
Wide Variance Among Productions (EXCLUSIVE). Retrieved March 6, 2023, from https://variety.com/2021/film/news/sustainable-production-alliance-carbon-emissions-report-1234942580/
Sustainable Production Alliance. (2021, March). Close Up: Carbon Emissions of Film and
Television Production. Sustainable Production Alliance. Retrieved March 7, 2023, fromhttps://www.greenproductionguide.com/wp-content/uploads/2021/04/SPA-Carbon-Emissions-Report.pdf
Wilson, Josh. (2022). Film And TV Firms Work Towards A More Sustainable Future With
New Initiatives. Retrieved March 6, 2023, from https://www.forbes.com/sites/joshwilson/2022/11/04/film-and-tv-firms-work-towards-a-more-sustainable-future-with-new-initiatives/?sh=32d357cf6dd2