posttoday

Climate Change : รู้จัก Blue Carbon กับโอกาสในการเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุน

31 มีนาคม 2566

Blue Carbon - การกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง สำคัญอย่างไร ขณะที่ตลาดคาร์บอนโลกกำลังโตอย่างรวดเร็ว และต้องการโอกาสในการเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุนเพื่อปลดล๊อคศักยภาพที่แท้จริง

Climate Change : รู้จัก Blue Carbon กับโอกาสในการเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุน
 

การกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งหรือ บลูคาร์บอน (Blue carbon) เป็นกลไกดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศที่มีศักยภาพอย่างมีนัยสำคัญในภาพรวมระดับโลก แต่จนบัดนี้ ยังคงไม่เห็นความเชื่อมโยงที่สามารถนำมาใช้เป็นหนึ่งในมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญอย่างเป็นรูปธรรม จากการที่ตลาดคาร์บอนนั้นเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและมีบทบาทในกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมากจนลดความสำคัญของกลไกลดก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ รวมถึงบลูคาร์บอนไป 

 

นอกจากนี้ บลูคาร์บอนยังคงพบกับอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน บลูคาร์บอนกลับมาได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากธุรกิจในหลายสาขาซึ่งมีความต้องการที่จะเข้ามาลงทุนเพื่อพัฒนาเรื่องดังกล่าวมากขึ้น ดังนั้นการชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดหรืออุปสรรคดังกล่าว จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราเห็นถึงปัญหาเพื่อแก้ไขและวางแนวทางในการขับเคลื่อนบลูคาร์บอนให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเต็มศักยภาพ

 

แม้ว่าการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยแนวคิดแบบลูคาร์บอนนั้นมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับและเป็นที่ประจักษ์ รวมถึงมีองค์กรธุรกิจและในระดับบุคคลมากมายที่ต้องการใช้บลูคาร์บอนเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหลือหลังจากที่ดำเนินกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกจนไม่สามารถลดได้มากกว่าที่ดำเนินการอยู่ แต่ระบบนิเวศของบลูคาร์บอน (Blue carbon ecosystems (BCEs)) ทั้งในเชิงกายภาพและเชิงเศรษฐกิจยังคงเผชิญกับอุปสรรคอย่างมากมายในการบูรณาการเชื่อมโยงกับตลาดคาร์บอน โดยเฉพาะในเรื่องความท้าทายด้านการทำตลาด การขายเครดิตที่เกิดขึ้นจากบลูคาร์บอน ค่าใช้จ่ายและข้อจำกัดในการทวนสอบเมื่อเทียบกับคาร์บอนเครดิตในระบบนิเวศทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ขนาดและจำนวนของโครงการบลูคาร์บอนที่น้อยเกินไป และประเด็นเรื่องการนับซ้ำของคาร์บอนเครดิตในเชิงพาณิชย์กับการรายงานของหน่วยงานระดับชาติต่าง ๆ


Climate Change : รู้จัก Blue Carbon กับโอกาสในการเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุน


 

ความสำคัญ และระบบนิเวศน์ของ Blue Carbon 

 

การปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง (เช่น ป่าชายเลน หญ้าทะเล ที่ราบลุ่มน้ำขึ้นถึง หรือหาดเลน) ซึ่งเป็นแหล่งดูดกลับก๊าซเรือนกระจกตามธรรมชาติ นับเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความสำคัญ จากผลการศึกษาขององค์กร PLOS พบว่า ระบบนิเวศชายฝั่งเป็นแหล่งดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่มีอัตราการดูดกลับสูง สามารถกักเก็บคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศได้มาก จากการที่ระบบมีขีดความสามารถในการดูดกลับสูงแม้จะมีขนาดเล็ก ซึ่งจากผลการศึกษายังพบว่า 

 

“ระบบนิเวศของบลูคาร์บอนนั้นมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนในภาพรวมระดับโลกได้ถึง 3 หมื่นล้านตันจากพื้นที่ 184 ล้านเฮกแตร์ ซึ่งสามารถลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในช่วง 141-146 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี”

 

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมฟื้นฟูพื้นที่ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งนั้น จะสามารถลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติมรายปีได้อีกถึง 621-1,024 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าในภาพรวมทั้งหมดสูงถึง 1.9 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์

 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาจากทั่วโลกได้พยายามนำแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) มาใช้เป็นหนึ่งในมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ และอยู่ในระหว่างการพัฒนาเครื่องมือสำคัญที่สามารถบูรณาการมาตรการบลูคาร์บอนให้บรรจุอยู่ในกรอบนโยบาย การเงิน และการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าโครงการบลูคาร์บอน ในปัจจุบันมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยในภาพรวมทั้งหมดของตลาดคาร์บอน แต่ยังได้รับการพิจารณาให้เป็นกลไกสำคัญในเศรษฐกิจฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) 


Climate Change : รู้จัก Blue Carbon กับโอกาสในการเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุน


รู้จักโครงการ Blue Carbon

 

จากฐานข้อมูลของ Verified Carbon Standard หรือ Verra พบว่า มีโครงการบลูคาร์บอนจากพื้นที่ป่าชายเลน 8 โครงการ พื้นที่หญ้าทะเล 1 โครงการ ที่ผ่านการตรวจสอบความใช้ได้ โดยมีโครงการบลูคาร์บอน 6 โครงการ ที่เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2019 ในหลายประเทศ ได้แก่ เคนยา อินเดีย มาดาร์กัสการ์ โคลัมเบีย กินี-บีสเซา เม็กซิโก ปากีสถาน ในขณะที่โครงการบลูคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดคือ โครงการ Delta Blue Carbon project ในประเทศปากีสถาน ครอบคลุมพื้นที่ 325,000 เฮกแตร์ และมีการตกลงที่จะขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ 300,000 ตันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการบลูคาร์บอนจากพื้นที่ป่าชายเลน และพื้นที่หญ้าทะเลที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอีก 15 และ 4 โครงการตามลำดับ ในทวีปต่าง ๆ ได้แก่ แอฟริกา ลาตินอเมริกา เอเชีย และอเมริกาเหนือ อย่างไรก็ตาม กลไกหรือกระบวนการในการจัดทำบัญชีคาร์บอนและการทวนสอบของโครงการประเภทบลูคาร์บอนยังคงทำได้ไม่ง่ายนัก หากใช้แนวทางเดียวกับระเบียบวิธีของโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดคาร์บอนเครดิตประเภทอื่น ๆ ดังนั้นในช่วงเดือนกันยายนปี 2020 Verra จึงได้พัฒนาระเบียบวิธีเฉพาะสำหรับโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประเภทบลูคาร์บอนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล

 

การพัฒนาระเบียบวิธีสำหรับบลูคาร์บอนที่สามารถเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติได้ง่าย จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประมาณการผลประโยชน์จากการดูดกลับคาร์บอนที่เกิดขึ้นของโครงการที่รวดเร็ว และการกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับดำเนินโครงการ ซึ่งจากภาพรวมสถานการณ์ของบลูคาร์บอน จะ

 

เห็นได้ว่า โครงการบลูคาร์บอน ยังไม่สามารถขยายผลไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเต็มที่ จากข้อจำกัดมากมายในหลายปัจจัยทั้งทางด้านการเมือง สังคม ธรรมาภิบาล และเทคโนโลยี อีกทั้งอุปสรรคบางประการที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชน ระหว่างสาขาธุรกิจ รวมถึงประเด็นด้านการเข้าใช้ประโยชน์และเข้าถึงพื้นที่ ความเป็นเจ้าของ การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากคาร์บอนเครดิตที่ขายได้ ความต้องการของชุมชนในเรื่องความเป็นธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อม ช่องว่างระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินโครงการ 

 

นอกจากนี้ โครงการบลูคาร์บอนยังมีความเกี่ยวข้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนก่อนในการริเริ่มโครงการ และต้นทุนจากการตรวจวัดและติดตามตรวจสอบที่ต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านซึ่งต้นทุนเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการชดเชยจากมูลค่าคาร์บอนเครดิตที่ขายได้ ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนในการส่งมอบสืบเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้และให้ผลที่แตกต่างซึ่งส่งผลต่ออัตราการตกสะสมของคาร์บอนในระบบ ทำให้คาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการบลูคาร์บอนมีปริมาณที่ไม่แน่นอน แต่ยังคงถูกมองว่าเป็นสินค้าพรีเมี่ยมที่สามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับคาร์บอนเครดิตประเภทอื่น ๆ รวมถึงโครงการลดก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกป่า

 

แม้ว่าส่วนใหญ่โครงการบลูคาร์บอนจะเป็นโครงการที่ทำขึ้นเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้แสวงหาผลกำไรเป็นเป้าหมายหลัก และยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงมีความต้องการคาร์บอนเครดิตจากโครงการบลูคาร์บอนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มีโครงการบลูคาร์บอนเพียง 9 โครงการที่ผ่านการทวนสอบและได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิต ทำให้การจุดประกายให้เกิดการริเริ่มลงทุนเพื่อสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมของบลูคาร์บอน จึงเป็นสิ่งจำเป็นและต้องการเงินทุนสนับสนุนจากแหล่งอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้จากกลไกตลาดคาร์บอนที่มีอยู่ เช่น public-private partnerships เครื่องมือทางการเงินของภาคเอกชน เป็นต้น รวมถึงการบ่งชี้และแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินโครงการบลูคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจะสามารถขับเคลื่อนให้ระบบนิเวศของบลูคาร์บอนทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพและสามารถเป็นมาตรการลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติที่เห็นผลอย่างแท้จริง


 

ที่มาของข้อมูล:

Carbon pulse, August 16, 2022

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก - องค์การมหาชน (อบก.)