posttoday

EPR เมื่อผู้ผลิตมาร่วมจัดการขยะ ช่วยให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (2)

21 เมษายน 2566

EPR คือ การช่วยแบ่งเบาภาระจัดการขยะมูลฝอยของท้องถิ่นและช่วยให้เกิดการนำทรัพยากรจากผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานของผู้บริโภคเข้าสู่ระบบการจัดการตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

EPR เมื่อผู้ผลิตมาร่วมจัดการขยะ ช่วยให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (2)

 

ในตอนที่แล้ว (ลิงค์ : https://www.posttoday.com/post-next/be-greener/692762) ได้นำเสนอความจำเป็นและที่มาของหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (EPR) ซึ่งเป็นหลักการทางนโยบายที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่างๆ ของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นการรับคืน การรีไซเคิลและการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ เป้าประสงค์สำคัญของหลักการ EPR คือ การช่วยแบ่งเบาภาระจัดการขยะมูลฝอยของท้องถิ่นและช่วยให้เกิดการนำทรัพยากรจากผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานของผู้บริโภคเข้าสู่ระบบการจัดการตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน บทความนี้จะมาเจาะลึกในส่วนการนำหลักการ EPR มาใช้ในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ ความเคลื่อนไหวของประเทศเพื่อนบ้านและในประเทศไทย

EPR กับการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์และขยะพลาสติก

หลักการ EPR สามารถนำมาปรับใช้เพื่อจัดการผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคได้หลากหลายประเภทโดยประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีไต้ ไต้หวันได้นำหลักการ EPR มาเป็นพื้นฐานในการออกกฎหมายเพื่อจัดการผลิตภัณฑ์บางประเภทที่ค่อนข้างมีความเป็นอันตราย ยากต่อการจัดการให้ถูกต้องปลอดภัยโดยรัฐบาลท้องถิ่น อาทิ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ ยางรถยนต์ รถยนต์ รวมถึงกลุ่มบรรจุภัณฑ์



ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีการนำหลักการ EPR มาปรับใช้ในการบริหารจัดการตลอดวัฎจักรชีวิต (เครดิตภาพ : www.eastcham.fi)

 

จากรายงานของมูลนิธิแอลเลน แมคอาร์เธอร์  (Ellen MacArthur Foundation: EMF) ทั่วโลกมีการนำนโยบาย EPR มาใช้จัดการขยะบรรจุภัณฑ์ใน 65 ประเทศ โดย 45 แห่งเป็นการออกกฎหมายหรือ EPR ภาคบังคับที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการขยะ (เรียกว่า “EPR Fee”) จากผู้ผลิตและผู้นำเข้ามาใช้บริหารจัดการระบบเก็บรวบรวมและรีไซเคิล จากการเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการเก็บรวบรวมขยะบรรจุภัณฑ์มารีไซเคิล พบว่า กลุ่มประเทศที่มีกฎหมาย EPR จะมีอัตราการเก็บรวบรวมขยะบรรจุภัณฑ์มารีไซเคิลสูงที่สุด รองลงมาคือกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบ EPR ภาคสมัครใจ ส่วนกลุ่มประเทศที่ไม่มีกลไก EPR พบว่ามีอัตราการเก็บรวบรวมต่ำที่สุด (EMF, 2021)

EPR เมื่อผู้ผลิตมาร่วมจัดการขยะ ช่วยให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (2)

 

จากสถานการณ์ปัญหาพลาสติกที่มีการผลิตและใช้ในหลายอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่มีการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastics: SUP) ในปริมาณมหาศาล อาทิ ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก ช้อนส้อมมีดพลาสติก ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศเริ่มนำหลักการ EPR มาใช้ในการจัดการ SUP รวมถึงเครื่องมือประมงที่ทำจากพลาสติก เหตุผลสำคัญที่ประเทศต่างๆ ต้องเร่งจัดการกับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (SUP)เนื่องจาก SUP เป็นพลาสติกที่อายุการใช้งานสั้นแต่เมื่อกลายเป็นขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม จะย่อยสลายได้ยาก สร้างปัญหามลพิษพลาสติกในทะเลและความเสี่ยงจากไมโครพลาสติกปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร

ตัวอย่างการนำ EPR มาแก้ปัญหาพลาสติก คือ กฎหมายของสหภาพยุโรปที่ประกาศใช้ในปีค.ศ. 2019 [ชื่อเต็ม “ระเบียบว่าด้วยการลดผลกระทบของผลิตภัณฑ์พลาสติกต่อสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป” Directive of the European Parliament and of the Council on the reduction of the impact of certain plastic products on the environment]  กฎหมายนี้ได้กำหนดข้อห้ามในการใช้ SUP 10 ชนิดที่พบว่าเป็นขยะที่พบมากที่สุดบนชายหาด 276 แห่งใน 17 ประเทศสมาชิกและตั้งเป้าหมายให้ประเทศสมาชิกลดการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารและถ้วยพลาสติกไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ภายในปีค.ศ. 2025 แถมยังได้ระบุให้ประเทศสมาชิกใช้กลไก EPR เพื่อจัดระบบเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้ว รวมถึงการสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภค

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ขวดพลาสติกที่จำหน่ายในท้องตลาดยุโรปจะต้องมีสัดส่วนพลาสติกรีไซเคิลไม่น้อยกว่า 25% ภายในปีค.ศ. 2025 และ 30% ภายในปีค.ศ. 2030 แถมประเทศสมาชิกจะต้องจัดระบบเก็บขยะแบบแยกประเภทให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยต้องเก็บรวบรวมขวดพลาสติกให้ได้ 77% ภายในปีค.ศ. 2025 และ 90% ภายในปีค.ศ. 2029 เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ กฎหมายได้กระตุ้นให้ประเทศสมาชิกออกกฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมายเพื่อพัฒนาระบบมัดจำคืนเงิน (Deposit-refund/return system: DRS) เพื่อเรียกคืนขวดพลาสติกจากผู้บริโภคในอัตราที่สูงขึ้น

 

EPR เมื่อผู้ผลิตมาร่วมจัดการขยะ ช่วยให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (2)

 

ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ EPR ในประเทศเพื่อนบ้าน

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ได้เห็นความเคลื่อนไหวของประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มออกกฎหมาย EPR เพื่อมาจัดการขยะบรรจุภัณฑ์และขยะพลาสติกซึ่งรวมถึง SUP ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ โดยมีรายละเอียดการออกกฎหมายที่แตกต่างกัน สรุปได้ดังนี้

 

สิงคโปร์

กฎหมาย: Resource Sustainability Act 2019 Part 4 Reporting in relation to packaging

• ในระยะแรก (ค.ศ. 2021) ให้ผู้ผลิตรายงานข้อมูลปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์และแผนการลดและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ (Mandatory Packaging Reporting) และแผนและเป้าลดขยะบรรจุภัณฑ์ (3R Plan) และต้องทำให้ได้ตามแผนที่เสนอ (ส่งทุกปี)

• ปี ค.ศ. 2022 กำลังพัฒนาระบบมัดจำคืนเงิน (DRS) บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม

• ปีค.ศ. 2025 เริ่มระบบ EPR บรรจุภัณฑ์ภาคบังคับเต็มรูปแบบ 

 

เวียดนาม

กฎหมาย: Decree detailing some articles on the Law on Environmental Protection-08/2022/ND-CP

• กำหนดเป้าหมายที่จะเริ่มระบบ EPR บรรจุภัณฑ์ภาคบังคับเต็มรูปแบบในปีค.ศ. 2024

• “ผู้ผลิต” คือ ผู้ผลิตสินค้า ผู้นำเข้าและผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์

• กฎหมายเปิดให้จัดระบบเรียกคืนและจัดการเอง (Individual Producer Responsibility: IPR) หรือรวมกันจัดตั้งองค์กรตัวแทนผู้ผลิต ที่เรียกว่า Producer Responsibility Organization (PRO) ซึ่งจะต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 3 ราย หรือเลือกที่จะจ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้กองทุนสิ่งแวดล้อมของรัฐแทน

• ผู้ผลิตจะต้องรีไซเคิลให้ได้อย่างน้อย 40% โดย 3 ปีแรก ต้องเก็บรวบรวมมารีไซเคิลตามเป้าดังนี้

 ​ - บรรจุภัณฑ์กระดาษและกล่องเครื่องดื่ม 20%

​  - กระดาษ 15% 

 ​ - บรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียม 22%

 ​ - เหล็กและโลหะอื่นๆ 20%

  ​- PET 22%

  ​- HDPE, LDPE, PP, PS 15%

 ​ - EPS, PVC, multi-material 10% 

​  - แก้ว 15%  

 

อินโดนีเซีย

กฎหมาย: Roadmap on Waste Reduction by Producer DECREE NO. P.75/2019

• ขอบเขตนิยาม “ผู้ผลิต” ครอบคลุมหลายภาคส่วน ได้แก่ 1) ผู้ผลิตอุตสาหกรรม เน้น 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าผู้บริโภคและกลุ่มเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล 2) ภาคธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่ม (ร้านอาหาร, คาเฟ่, ศูนย์อาหาร, โรงแรม) และ 3) ผู้จัดจำหน่าย (ศูนย์การค้า, ห้างค้าปลีก, ตลาด)

• “ผู้ผลิต” จะต้องทำการวางแผน, ดำเนินการ, ติดตาม, ประเมินผลและรายงานผลการลดขยะจากผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการสื่อสารสร้างความตระหนักผู้บริโภค

• จะต้องลดขยะให้ได้ 30% ภายในปีค.ศ. 2029 โดยให้ลดขยะที่ย่อยสลายได้ยาก ไม่สามารถรีไซเคิลได้หรือใช้ซ้ำได้ 

• กฎหมายเน้นการดำเนินงานของแต่ละผู้ผลิต ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการรวมกลุ่มกันดำเนินการผ่าน PRO 

 

ฟิลิปปินส์

กฎหมาย: Act Institutionalizing the Extended Producer Responsibility on Plastic Packaging Waste (Republic Act No.11898) 

กฎหมาย EPR Act 2022 เน้น EPR บรรจุภัณฑ์พลาสติกและ SUP(รวมถุงพลาสติก) 

• ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (NEC) ประกาศรายชื่อบรรจุภัณฑ์พลาสติกและสินค้าที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ควรถูกห้ามผลิตและใช้ 

• เจ้าของสินค้า (Brand owners) รายใหญ่ที่มีรายได้มากกว่า 65 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องดำเนินโครงการ EPR สำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติก 

• กำหนดเป้าหมายลดรอยเท้าพลาสติกเป็นขั้นบันได (Recovery plastic product footprint) ที่ผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของสินค้าจะต้องลดขยะพลาสติกที่ไปกำจัดหรือตกค้างในสิ่งแวดล้อมลงด้วยวิธีการต่างๆ (การรีไซเคิลรวมทั้งการแปลงเป็นพลังงาน) ให้ได้ 20% ภายในปีค.ศ. 2023 ไปจนถึง 70% ภายในปีค.ศ. 2027 

 

ความเคลื่อนไหวในประเทศไทย

​สำหรับประเทศไทย เริ่มมีความตื่นตัวของภาคเอกชนในการจัดระบบรับคืนขยะบรรจุภัณฑ์จากผู้บริโภค อาทิ กล่องเครื่องดื่ม ฟิลม์พลาสติก ขวดพลาสติก ฯลฯ โดยเป็นลักษณะโครงการ CSR ของบริษัทซึ่งทำในขอบเขตจำกัดเพราะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ต่อมาสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเริ่มให้ความสนใจกับการพัฒนาระบบ EPR อย่างเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากการศึกษาทำความเข้าใจหลักการและบทเรียนจากต่างประเทศและพัฒนาโครงการ EPR ภาคสมัครใจ (นำร่อง) ที่จังหวัดชลบุรี รวมทั้งได้มีส่วนร่วมในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการออกแบบกลไก EPR ภาคบังคับกับภาคนักวิชาการและภาครัฐ 

 

ในฝั่งของภาครัฐ กรมควบคุมมลพิษได้บรรจุแผนการพัฒนากฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ไว้ในแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) และได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงดำเนินการศึกษายกร่างพระราชบัญญัติและอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง โดยกรมควบคุมมลพิษวางแผนที่จะประกาศใช้กฎหมายนี้ภายในปีพ.ศ. 2569 ด้วยเหตุนี้ จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันติดตามและมีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้เป็นกฎหมายที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศและช่วยแก้ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์ ลดการตกค้างรั่วไหลในสิ่งแวดล้อมและสามารถแปลงขยะมาเป็นทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

 

ผู้เขียน: ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาเพื่อจัดทำนโยบายสาธารณะปฏิรูประบบการจัดการขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (ระยะที่ 2) ภายใต้แผนงานสนับสนุนการปฏิรูประบบการจัดการขยะมูลฝอยและ ของเสียอันตรายซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)