โซลาร์เซลล์ โซลาร์รูฟ ทางออกปัญหาพลังงาน? แสงอาทิตย์คือที่พึ่งสุดท้าย
การแสวงหาความมั่นคงทางพลังงานทางหนึ่งในยุคพลังงานสุดแพงคือการพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด ด้วยการใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์มากขึ้น เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า พลังงานแสงอาทิตย์จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทั้งในครัวเรือนและในภาคอุตสาหกรรม
เวลานี้เราไม่เพียงเผชิญกับหายนะทางสภาพอากาศแต่ยังต้องเผชิญกับหายนะทางด้านพลังงาน
ในเมื่อรัฐไม่สามารถจัดการกับค่าพลังงานน้ำมันและค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้นได้ ทำให้คนไทยต้องบริโภคพลังงานในราคาแพงทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน และสิ่งที่เราทำได้ก็คือการพึ่งพาตัวเองด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ แน่นอนว่านั่นหมายถึงการต้องควักกระเป๋าของตัวเองจ่ายให้กับสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อลดความหายนะที่อาจจะเกิดขึ้นในชีวิตของเรา ทั้งจากการขาดแคลนและการใช้เงินมากเกินไปให้กับค่าพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันจนอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในครัวเรือน
การแสวงหาความมั่นคงทางพลังงานจึงหมายถึงการแสวงหาหนทางที่จะพึ่งพาตนเองมากขึ้น เช่น การใช้ลมและแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าของตนเอง สิ่งที่ตามมา คือ เราจะเห็นอุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์ที่หลากหลายขึ้นที่สามารถสร้างพลังงานผ่านพลังงานแสงอาทิตย์และช่วยให้ผู้คนใช้พลังงานหมุนเวียนได้อย่างยืดหยุ่นแม้ในพื้นที่อยู่อาศัยขนาดเล็กที่เช่าหรือระหว่างเดินทาง
ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า พลังงานแสงอาทิตย์จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทั้งในครัวเรือนและในภาคอุตสาหกรรม อุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็กต่างๆ จะเข้าสู่ตลาดด้วย จากความสนใจที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคที่ไม่มีความสามารถในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ แต่ยังต้องการสนับสนุนและทดลองใช้อุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ กล่าวคือ ในขณะที่การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาต้องใช้เงินจำนวนมากและความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ชุดพลังงานแสงอาทิตย์แบบแยกส่วน (Modular solar set) จะได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากง่ายต่อการสั่งซื้อและติดตั้ง อีกทั้งเหมาะสำหรับชาวเมืองที่อาศัยอยู่ในบ้านที่ไม่สามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาได้
เมื่อพลังงานแสงอาทิตย์มีประสิทธิภาพมากขึ้นและแรงกดดันจากผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น บริษัทต่างๆ จะเริ่มใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตของตนเอง แบรนด์ทางด้านเทคโนโลยีจะเปิดตัวอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่รองรับเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์
ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์จะพัฒนาชุดอุปกรณ์ที่สามารถเปลี่ยนรถยนต์และจักรยานยนต์ให้เป็นยานพาหนะที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พื้นที่ในเขตเมืองจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากแผงบนหลังคารถยนต์ ป้ายรถเมล์ และอาคารต่างๆ จะเห็นการเคลื่อนไหวของมนุษย์กลายเป็นพลังงานผ่านเสื้อผ้าหรือยานพาหนะที่ใช้ จากนั้นจึงนำไปใช้เป็นพลังงานให้กับอุปกรณ์ส่วนตัวของตนเอง
สอดคล้องกับรายงานของ International Energy Agency (IEA) ที่ออกมาบอกเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมาว่า กำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนจะคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 35% ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกภายในปี 2568
IEA ยังบอกด้วยว่า ความต้องการไฟฟ้าคาดว่า จะเพิ่มขึ้น 3% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้าเมื่อเทียบกับปี 2565 โดยหนึ่งในสามของปริมาณการใช้ทั่วโลกอยู่ในประเทศจีน โดบปริมาณการใช้มากกว่า 70% มาจากจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย
“ภายในปี 2568 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เอเชียจะมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าครึ่งหนึ่งของโลก และหนึ่งในสามของไฟฟ้าทั่วโลกจะถูกใช้ในประเทศจีน” รายงานระบุชัด
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังมองหาการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคต่างๆ เช่น เครื่องทำความร้อนและการขนส่ง
และยังคาดการณ์ว่าพลังงานแสงอาทิตย์จะมีกำลังการผลิตมากกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตใหม่ในสหรัฐอเมริกาในปี 2566
“ข่าวดีก็คือพลังงานหมุนเวียนและพลังงานนิวเคลียร์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้เกือบทั้งหมด ซึ่งบ่งชี้ว่าเราใกล้ถึงจุดเปลี่ยนสำหรับการปล่อยก๊าซในภาคพลังงาน” Fatih Birol ผู้อำนวยการบริหารของ IEA กล่าว
“ตอนนี้รัฐบาลจำเป็นต้องทำให้แหล่งที่ปล่อยมลพิษต่ำสามารถเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้นและลดการปล่อยมลพิษลง เพื่อให้โลกมั่นใจได้ว่า เราจะมีไฟฟ้าที่ปลอดภัยในขณะที่บรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศ”
ตัวอย่างนวัตกรรมเกี่ยวกับ Solar cell, Solar panel และ Solar energy ที่น่าสนใจจากทั่วโลก
สำหรับอาคาร (เช่น ที่พักอาศัย สำนักงาน โรงแรม โรงงาน)
- นักวิจัยของ Stanford University ได้พัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ที่สร้างพลังงานในเวลากลางคืน นักวิจัยได้พัฒนาอุปกรณ์ที่รวมเอาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเทอร์โมอิเล็กทริก (thermoelectric generator) เพื่อดักจับกระแสไฟฟ้าจากความแตกต่างเล็กน้อยของอุณหภูมิระหว่างอากาศในบรรยากาศ (ambient air) และเซลล์แสงอาทิตย์ กระบวนการการระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสีนี้ สร้าง fraction ของพลังงานที่ผลิตโดยแผงโซลาร์เซลล์ในเวลากลางวัน แผงโซลาร์เซลล์สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 50 มิลลิวัตต์ต่อตารางเมตร
- บริษัท We Do Solar ในประเทศเยอรมัน จะเปิดตัวชุดพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนระเบียงที่สามารถจ่ายไฟให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านได้ ชุดอุปกรณ์จะประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบแยกส่วน 8 แผง ไมโครอินเวอร์เตอร์ และปลั๊ก 1 ตัว โดยชุดนี้จะเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชันเพื่อให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ ในการเริ่มต้นผลิตไฟฟานั้น ผู้ใช้จะต้องติดแผงเซลล์แสงอาทิตย์เข้ากับระเบียงหรือราวระเบียง ต่อเข้ากับไมโครอินเวอร์เตอร์ และเสียบชุดเข้ากับเต้ารับไฟฟ้า
- สภาผู้แทนราษฎรแห่งเบอร์ลินได้ผ่านกฎหมาย Berlin Solar Act ทำให้เป็นข้อบังคับในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของอาคารทุกหลังในกรุงเบอร์ลินตั้งแต่ปี 2023 ตามกฎหมายใหม่นี้ระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จะต้องครอบคลุมอย่างน้อย 30% ของพื้นที่หลังคาในอาคารใหม่ทั้งหมด และการปรับปรุงหลังคาในอาคารปัจจุบันที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า 50 ตร.ม. กฎหมายใหม่นี้จะได้รับการสนับสนุนจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ที่ดำเนินการโดย Investitionsbank Berlin ผ่านการให้เปล่าและเงินกู้ ทั้งนี้หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีโทษปรับ ตั้งแต่ 5,000-50,000 ยูโร ขึ้นอยู่กับขนาดของอาคาร
- ทางเท้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของสเปนได้รับการติดตั้งในเมืองบาร์เซโลนา ทางเท้านี้จะให้พลังงาน 7,560kWh ต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณที่จำเป็นต่อการจ่ายไฟให้กับ 3 ครัวเรือน การดำเนินการนี้เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจของบาร์เซโลนาในการเป็นศูนย์คาร์บอนภายในปี 2050 ทางเท้ามีขนาด 50 ตร.ม. และตั้งอยู่ในสวนสาธารณะในพื้นที่ Glòries ของเมือง
- KAUST Solar Center ใน King Abdullah University of Science and Technology (KAUST) ติดตั้งนวัตกรรม solar street furniture ที่วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยในซาอุดีอาระเบีย คือ ที่นั่งทำมาจาก 3D-printed ASCA photovoltaic film แบบยืดหยุ่น น้ำหนักเบา และกึ่งโปร่งใส โดย semiconducting ink สามารถยืดออกได้อย่างสะดวกสบาย ชาร์จอุปกรณ์ และสว่างขึ้นโดยอัตโนมัติ
- โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ลได้เปิด green rooftop ซึ่งมีฟาร์มในเมือง (urban farm) ที่จะผลิตวัตถุดิบสำหรับร้านอาหารในโรงแรม เช่น ผัก โดยฟาร์มมีการติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของโรงแรม วัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากการดำเนินงานทั้งหมดของโรงแรม
- Lawson ร่วมมือกับ Mitsubishi เพื่อใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ในเครือข่ายร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศญี่ปุ่น Lawson จะซื้อพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ 45mW จาก Mitsubishi ซึ่งจะพัฒนาการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ใหม่เพื่อเป็นพลังงานให้กับร้านสะดวกซื้อของ Lawson หลังจากช่วงทดลองใช้งานคาดว่าจะขยายการใช้งานไปยังร้าน Lawson ทั้งหมด 8,200 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น การดำเนินการดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในระยะยาวของ Lawson
- อินโดนีเซียกำลังสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ โรงงานนี้เป็นโรงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำในชวาตะวันตก เมื่อสร้างเสร็จโรงงานจะผลิตสร้างพลังงานสะอาดได้มากถึง 145mW
สำหรับระบบขนส่ง
- Sun-Ways บริษัทสตาร์ทอัพในสวิตเซอร์แลนด์ พัฒนาแนวคิดแผงโซลาร์เซลล์ที่สามารถติดตั้งระหว่างรางรถไฟเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ แผงโซลาร์เซลล์นี้ติดตั้งและถอดออกได้ง่าย ไฟฟ้าที่ผลิตสามารถป้อนกลับไปยังกริดหรือใช้โดยบริษัทรถไฟเพื่อเป็นพลังงานให้กับรถไฟได้
อื่นๆ
- Earth Cardboard บริษัทในญี่ปุ่นพัฒนาอุปกรณ์ทำอาหารที่ทำจากกระดาษแข็งกันน้ำที่สามารถดูดซับและเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ได้ เหมาะสำหรับการประกอบอาหารกลางแจ้งซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ภาพรวมการใช้งานโซลาร์เซลล์ของโลก
รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกต่างก็เร่งผลักดันนโยบายทางด้านโซลาร์เซลล์ ทำให้ในปัจจุบันการติดตั้งระบบการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกำลังการติดตั้งสะสมทั่วโลกทั้งหมด ณ สิ้นปี 2020 อยู่ที่ประมาณ 714 กิกะวัตต์ (GW) ประเทศ 5 อันดับแรก ที่มีกำลังการติดตั้งโซลาร์เซลล์มากที่สุดในโลก ในปี 2020 ได้แก่
1) จีน มีกำลังการติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วทั้งสิ้น 254,355 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งจีนได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 1,200 กิกะวัตต์ (GW) ภายในปี 2030
2) สหรัฐฯ มีกำลังการติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วทั้งสิ้น 75,572 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งสหรัฐฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอน ร้อยละ 80 ในภาคการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2030 และมุ่งสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 100% ภายในปี 2035
3) ญี่ปุ่น มีกำลังการติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วทั้งสิ้น 67,000 เมกะวัตต์ (MW) โดยแหล่งพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นตั้งแต่เกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะในปี 2011
4) เยอรมนี มีกำลังการติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วทั้งสิ้น 53,783 เมกะวัตต์ (MW) โดยรัฐบาลเยอรมันได้เสนอให้เพิ่มเป้าหมายการติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็น 100 กิกะวัตต์ (GW) ในปี 2030 และแม้ว่าเยอรมันจะเป็นประเทศที่ตั้งอยู่พื้นที่ที่มีแดดน้อย แต่ร้อยละ 50 ของการใช้พลังงานทั้งหมดในประเทศมาจากแสงอาทิตย์และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 65 ภายในปี 20306
5) อินเดีย มีกำลังการติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วทั้งสิ้น 39,211 เมกะวัตต์ (MW) โดยอินเดียได้ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 280 กิกะวัตต์ (GW) ภายในปี 2030-2031 อีกด้วย7
สำหรับประเทศไทยนั้น จากข้อมูลพบว่า ในปี 2020 กำลังผลิตติดตั้งไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน มีปริมาณรวม 12,005 เมกะวัตต์ (MW) เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ร้อยละ 1.3 โดยเป็นกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 2,979.4 เมกะวัตต์ (MW) หรือคิดเป็นร้อยละ 24.88
ธุรกิจติดตั้ง Solar Rooftop
ttb analytics ประเมินมูลค่าตลาดโซลาร์รูฟท็อปในไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 22% นับตั้งแต่ปี 2565-2568 หรือแตะที่ระดับ 6.7 หมื่นล้านบาท จากค่าแผงโซลาร์เซลล์ และค่าติดตั้งที่ปรับลดลงจนทำให้ระยะเวลาคืนทุนเร็วขึ้นจากเดิมที่คืนทุนในเวลา 9-12 ปี เป็น 6-8 ปีในปัจจุบัน (ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน)
ค่าอุปกรณ์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีการปรับลดลงมากในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จาก 100 บาทต่อวัตต์ในปี 2558 เป็น 40-50 บาทต่อวัตต์ในปี 2565
และยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า โดยการผลิตแผงโซลาร์เซลล์และอินเวอร์เตอร์จำนวนมากจะประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) ของบริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน อีกทั้งทิศทางอัตราค่าไฟฟ้าที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ยิ่งทำให้การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีอัตราคืนทุนเร็วขึ้น
นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบโซลาร์รูฟท็อป ยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐผ่านการรับซื้อไฟฟ้าตามมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Feed-in Tariff: FiT) ตั้งแต่ปี 2556 (โดยปัจจุบันอัตรารับซื้ออยู่ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี)
เหตุผลสำคัญคือ ประเทศไทยได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยไทยมีค่าเฉลี่ยความเข้มรังสีของแสงอาทิตย์สูงเกือบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับสภาพอากาศในปัจจุบันที่แปรปรวนและร้อนอบอ้าว
ส่งผลให้ไทยมีความพร้อมทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทานที่จะช่วยดันให้ตลาดติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เติบโตได้ดีในระยะต่อไป
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงไทยเคยระบุว่า ธุรกิจติดตั้ง Solar Rooftop มีศักยภาพในการเป็นแหล่งรายได้เสริมให้กับผู้พัฒนาอสังหาฯ เนื่องจากมูลค่าตลาดมีแนวโน้มสูงถึง 137,000 ล้านบาทในช่วง 10 ปีข้างหน้า นอกจากกระแสรักษ์โลก และสิ่งแวดล้อมแล้ว
โดยได้ประเมินความต้องการติดต้ัง Solar Rooftop ภาคครัวเรือนว่า มีโอกาสที่จะ Take-off ได้ในอนาคตโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคา Solar Rooftop ที่ลดลงอย่างมาก และ การปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(FiT) ที่ทำให้ระยะเวลาคืนทุนเร็วขึ้นอย่างมากจาก17- 30.3 ปี ในปี 2013 เหลือ 6.1-13.9 ปี ในปี 2021 และอาจเหลือเพียง 5.3-12 ปี ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า
ท้ังนี้เพราะผู้พัฒนาอสังหาฯ มีความได้เปรียบในการเข้าสู่ตลาด Solar Rooftop เนื่องจากมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มลูกบ้านเดิม โดยกลยุทธ์ท่ี สามารถทำให้เข้าสู่ตลาดได้เร็วคือการเป็นพันธมิตรกับบริษัทรับติดตั้ง Solar Rooftop เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับ Stockland ผู้พัฒนาอสังหาฯรายใหญ่ใน ออสเตรเลีย
สุดท้ายสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดในเวลานี้คือการพึ่งพาตัวเองและเทคโนโลยีที่เราพอจะซื้อหาได้ หากการส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐบาลยังไม่เพียงพอกับการเติบโตอย่างมากมายมหาศาลของพลังงานหมุนเวียน และยังเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาด้านวิกฤติพลังงานทั้งค่าไฟและน้ำมัน แต่สิ่งหนึ่งในเวลานี้เราต่างรับรู้ทั่วหน้ากันแล้วว่า แสงอาทิตย์ที่ร้อนแรงอย่างโหดร้ายในประเทศของเราคือความมั่นคงและความหวังหนึ่งเดียวด้านพลังงานที่ไม่มีใครมาแย่งชิงได้บนหลังคาบ้านของเรา...
อ้างอิง:
https://www.nstda.or.th/home/knowledge_post/solar-cell-solar-energy/
https://www.weforum.org/agenda/2023/03/electricity-generation-renewables-power-iea/
https://www.mreport.co.th/experts/business-and-management/347-Solar-cell-Thailand-Overview
https://www.bangkokbiznews.com/business/business_finance/1023216