Smart World: ทำนาแบบไหน ขาย “คาร์บอนเครดิต” ได้?

14 มิถุนายน 2566

ชาวนาไทย กำลังเริ่มเข้าสู่กระแสการขาย “คาร์บอนเครดิต” ในยุคเริ่มแรก คือช่วงผลักดันและให้ทุนสนับสนุนเพื่อให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงวิธีทำนา” แบบเดิมมาเป็นวิธีที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเท่านั้นเอง แต่แค่คิดจะเปลี่ยนก็สามารถสร้างรายได้ได้แล้ว!

 

Smart World: ทำนาแบบไหน ขาย “คาร์บอนเครดิต” ได้?

 

ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม เป็นชาวนายังไงก็ต้องปลูกข้าว แต่การปลูกข้าวสร้างก๊าซมีเทน สร้างก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ แล้วชาวนาจะชดเชยเรื่องนี้เพื่อสร้างเครดิต สร้างรายได้ยังไง ไปหาคำตอบกัน

 

เกษตรกรรมเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) มากที่สุดเป็นอันดับที่สองของประเทศไทย และในเวลาเดียวกันยังมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ การผลิตข้าวในไทยไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเกือบ 60% ของไทยจากกิจกรรมทางการเกษตร แต่ยังนับเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าวมากเป็นอันดับที่สี่ของโลกอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน

 

แต่รู้หรือไม่ว่า การปลูกข้าวไม่จำเป็นต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกแบบ แต่ว่าการปลูกข้าวที่มีน้ำขังแบบดั้งเดิม และด้วยวิธีบางอย่างอาจจะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ เช่น พอเราปลูกแล้วเราทิ้งซังเอาไว้  เพื่อปล่อยให้ซังเกิดการย่อยสลาย แล้วก็มีน้ำค้างอยู่เป็นเวลาหลายๆ เดือน กระบวนการย่อยสลายนั้นก็จะทำใหเเกิดก๊าซมีเทนขึ้น

 

แต่ว่าทางออกมันก็มี เช่น ถ้าเป็นข้าวดอย ซึ่งไม่มีน้ำขังเลย มันก็ไม่ปล่อยก๊าซ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้มาเจอกันครึ่งทางได้ก็คือ วันนี้ถ้าเราจำเป็นต้องมีพันธุ์ข้าวที่ต้องมีน้ำก็ต้องมีวิธีใหม่ๆ ขึ้นมา เช่นว่า มีคำแนะนำว่า เปียกสลับแห้งได้ไหม หรือว่า ทำให้ลดน้ำขังแบบไม่จำเป็นได้ไหม เช่นวิธีที่เยอรมันแนะนำ ก็คือ ทำพื้นให้มันเรียบ ไม่มีตะปุ่มตะป่ำทำให้การเกิดน้ำขังหายไป ระดับน้ำเวลาลดลงก็จะลดลงจนแห้ง เพราะฉะนั้นขั้นตอนในการทำมันทำได้ตั้งแต่ปล่อย(น้ำ) มากจนปล่อยน้อย หรือว่า ไม่ปล่อยก็ได้ ขึ้นกับปัจจัย แต่โดยรวมประเทศไทยปลูกข้าวแบบน้ำขัง ก็เลยเป็นเหตุว่า base line เราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ 


การเปลี่ยนจากวิธีแบบเดิมมาสู่การจัดการน้ำ เปียกสลับเเห้ง ในเเปลงนา (Alternate Wetting and Drying) และการปรับพื้นที่นาด้วยเลเซอร์ สามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างมีนัยสำคัญ

 

คำถามว่า เราสามารถลดได้ไหม เราสามารถลดได้ โดยการปรับเปลี่ยนวิธี ก็ต้องให้ความรู้ เช่น การปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าว หาพันธุ์ที่ทำยังไงให้ใช้น้ำน้อยลง 

 

แล้วถ้าใช้น้ำน้อยลงเราจะได้พันธุ์ข้าวที่ดีและอร่อยเหมือนเดิมไหม 

 

แต่ถึงยังไง หากจะลดการปล่อยก๊าซ เราก็ต้องหาพันธุ์ขาวที่ใช้น้ำน้อยลง จากการทดลองแล้วพบว่า ถ้าใช้น้ำน้อยลงกลับมีผลผลิตสูงขึ้น เพราะฉะนั้นความท้าทายแรกก็คือ เราต้องหาพันธุ์ข้าวให้ดีขึ้นกับสองหาวิธีที่จะทำให้การขังของน้ำมันลดเวลาลง เพราะฉะนั้นเมื่อการปล่อยก๊าซมีเทนลดลง เช่น เคยปล่อย 100 พอหันมาทำนาแบบนี้ ปริมาณก๊าซที่ปล่อยออกมามันอาจจะหายไป 30% ตรงนี้เองที่เรียกว่า “เครดิต”

 

Smart World: ทำนาแบบไหน ขาย “คาร์บอนเครดิต” ได้?
 

ถามว่า มีคนอยากสนับสนุนไหม ก็มี เพราะว่าตัวมีเทนมันมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ เพราะถ้าเกษตรกรรม เกษตรกรทั้งหลายยังใช้วิธีแบบเดิมอยู่ โลกก็จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไปเยอะ เพราะฉะนั้นประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ก็จะมีการสนับสนุนกองทุน หรือ เยอรมนี โดย *GIZ (องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน -  เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน) ก็มีกองทุนที่เข้ามาสนับสนุนประเทศไทยให้มาปรับเปลี่ยนวิธีปลูกข้าว มีการนำเงินมาสนับสนุน ด้วยsandbox หลายล้านยูโร (อ่านรายละเอียดลิงค์นี้)

 

วิธีการทำเครดิตจากการปลูกข้าวนี้มีวิธีประเมิน คือ Base Line ปล่อยเท่าไหร่ ถ้าคุณปรับเปลี่ยนแล้วมันลด ส่วนต่างจากตรงนี้คือ เครดิต

 

แต่การทำเครดิตถ้าจะทำให้สมบูรณ์ต้องมีระบบทวนสอบ  มีรายละเอียดต่างๆ ซึ่ง ณ วันนี้เรายังไม่ถึงจุดนั้น เรายังไม่ถึงขั้นมีมาตรการ มีกระบวนการ มีการทวนสอบ จนได้เป็นเครดิตที่มีการรับรอง (Certified) แต่ยังถึงขั้นแค่สนับสนุนให้เปลี่ยนวิธี  เช่น ถ้าคุณเปลี่ยนวิธีแบบนี้จะได้เงินสนับสนุนไร่ละเท่านั้นเท่านี้

 

ตอนนี้มีกองทุนสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาเริ่มให้เงินสนับสนุนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีปลูกข้าวของเราเพราะฉะนั้นใครเปลี่ยนวิธีก็จะนับเป็นไร่ว่า คุณเปลี่ยนไปได้กี่ไร่ แบบนี้เรียกว่า Emision Reduction Suport Scheme 

 

ซึ่ง อบก. หรือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงระบุว่า  อย่าได้เข้าใจผิดว่า มันเป็นเครดิต (หรือว่าการซื้อ-ขายเครดิต)  แต่เรียกว่า มันเป็นแค่ Apart of Credit หรือว่า ส่วนหนึ่งของเครดิตเท่านั้น

 

เพราะคำว่า “เครดิต” มันมีหลายระดับ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่น้อยลง จริงๆ ก็เป็นเครดิตแล้ว คือ เครดิตในพฤติกรรมของเรา หรือ ตั้งแต่เครดิตในเรื่องเล็กๆ น้อยในการเริ่มทำ “ความดี” ต่างๆ ให้โลกของเรา ไล่ตั้งแต่ระดับ 1 2 3 4 5 ไป แต่สุดท้ายเครดิตที่สมบูรณ์ หรือ Perfect ก็คือเครดิตที่ได้ Certified แปลว่า มันต้องเป็นเครื่องมือ(Instrument) ที่เข้าไปในระบบการเงิน หรือในระบบมาตรฐานต่างๆ ได้ จึงจะซื้อ-ขายกันได้

พูดง่ายๆ มันต้องมีมาตรฐาน มีการออกใบรับรองจึงจะสามารถนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนได้ 


ซึ่งมาตรฐานที่ว่านี้หากยิ่งมีการอัพเกรดขึ้นไปก็จะยิ่งมีต้นทุน ซึ่งการจะให้ชาวนาปรับเปลี่ยนวิธีการมาเป็นแบบนี้เลยมันยังไม่ได้ ในช่วงแรกจึงเป็นลักษณะให้กองทุนเข้ามาสนับสนุน ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการ หรือจะลงทุนให้นำอุปกรณ์เข้ามาเพื่อจะดูระดับของพื้น ตัวเล็งระดับพื้น ตัวดูระดับน้ำ สิ่งเหล่านี้คือการลงทุนทั้งนั้น จึงต้องมีทุนมาสนับสนุนก่อน

 

พอทำเสร็จ ก็ต้องเปลี่ยนเอาพันธุ์ข้าวมาลงจริง ปลูกจริง มีการใช้ดาวเทียมช่วยตรวจสอบดูระดับน้ำ อย่างดาวเทียมของ Gistda ก็จะช่วยได้มาก ความจริง Gistda สามารถช่วยในเรื่องเครดิตได้หลายระบบ เช่น ระบบเครดิตของการปลูกป่า ปลูกต้นไม้ ก็ต้องใช้ดาวเทียมช่วย หรือ การตรวจดูว่าไฟไหม้ป่า มีการเผาที่ไหน หรือจะเป็นชาวนาที่ปลูกข้าวดาวเทียมก็จะช่วยตรวจดูได้ว่า ระดับน้ำลดลงไปแค่ไหน เรียกว่ามีตัววัดได้ พอวัดได้ก็สามารถนำไปเปรียบเทียบกับวิธีการแบบเดิมกับวิธีใหม่ว่า ลดลงไปแค่ไหน ตรรกะในที่นี้ก็คือ ถ้าลดการแช่น้ำลงได้ มันก็จะช่วยได้ ดังนั้นจึงต้องหาพันธุ์ข้าวที่ลดการแช่น้ำลง

 

กล่าวโดยสรุป กระแสในขณะนี้สำหรับประเทศไทยก็คือ เรายังอยู่ในช่วงการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปลูกข้าวไปสู่วิธีที่ทำให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงในอนาคต

 

ส่วนจะยากง่ายแค่ไหน ติดอุปสรรคใดบ้างคงต้องติดตามกันยาวๆ สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้เราจะไม่ติดกับ Green Washing หรือ การฟอกเขียว หรือว่า ปลอมเครดิต ก็ต้องมีระบบและมาตรฐานที่ชัดเจนและตรวจสอบได้นั่นเอง…

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก.

Thailand Web Stat