เซ็นเซอร์ชนิดใหม่ที่สามารถใช้ในการตรวจจับคำพูดแบบเรียลไทม์
ภาษามือ ถือเป็นช่องทางการสื่อสารหลักของผู้บกพร่องทางการได้ยินในชีวิตประจำวัน กระนั้นเราก็พอจะเดาได้ว่ามันไม่มีทางสะดวกเท่าการพูดคุย แต่ล่าสุดอุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจจับกล้ามเนื้อบนใบหน้า จะช่วยให้พวกเขาสามารถกลับมาสื่อสารตามปกติได้อีกครั้ง
เราทราบกันดีว่ารูปแบบการสื่อสารของผู้บกพร่องทางการได้ยินดำเนินไปด้วยภาษามือ สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่เราเห็นกันชินตา แต่ถึงไม่ได้ใช้งานเราก็พอจะคาดเดาได้ว่ามันไม่ใช่แนวทางที่สะดวกนัก อีกทั้งภาษามือยังถูกแบ่งไปตามแต่ละท้องที่ ทำให้ประชากรกว่า 5% ทั่วโลก หรือกว่า 430 ล้านคน ไม่ได้รับความสะดวกและถูกกีดกันออกจากสังคมในทางหนึ่ง
นำไปสู่การคิดค้นเซ็นเซอร์ชนิดใหม่ซึ่งสามารถตรวจสอบเนื้อหาที่ใช้ในการสนทนาแบบเรียลไทม์
เซ็นเซอร์ตรวจจับคำพูดจากการขยับของผิวหนัง
ผลงานนี้เป็นของนักวิจัยแห่ง Yonsei University School of Electrical and Electronic Engineering จากเกาหลีใต้ กับการพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจจับการขยายและหดตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า จากนั้นจึงอาศัยอัลกอริทึมการเรียนรู้เชิงลึกแปลงการเคลื่อนไหวดังกล่าวให้เป็นคำพูด
จริงอยู่ที่ผ่านมาการสื่อสารของผู้บกพร่องทางการได้ยินมีภาษามือขึ้นมารองรับ แต่ดังที่บอกไปว่าหลายครั้งการใช้ภาษามืออาจไม่สะดวกนักจากความขาดเอกภาพ อีกทั้งภาษามือยังมีผู้เข้าใจความหมายและใช้งานน้อยกว่าจึงอาจทำให้การสื่อสารไม่ราบรื่น เป็นข้อจำกัดในการใช้ชีวิตและจำกัดโอกาสของผู้มีความบกพร่องไปพร้อมกัน
นี่จึงเป็นเหตุผลในการพัฒนาอุปกรณ์ชิ้นนี้ของทางทีมวิจัย เพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยินหรือมีความบกพร่องทางการพูดนำมาใช้สนทนาจนถึงพูดคุยสื่อสาร พวกเขาจะได้สามารถถ่ายทอดข้อความต่างๆ ผ่านปากของตัวเอง ถือเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้พิการให้สามารถใช้ชีวิตได้กลมกลืนและเป็นปกติสุข
ปัจจุบันระบบตรวจจับการขยับกล้ามเนื้อ สามารถจดจำชุดคำศัพท์ได้ที่ราว 100 คำ อัตราความแม่นยำในการอ่านอยู่ที่ 88% ได้รับการออกแบบให้ทนทานทั้งต่อเหงื่อและความร้อน เพื่อให้เหมาะสมต่อการใช้งานในสภาพต่างๆ และยังมีขนาดเล็กเพื่อให้สะดวกต่อการพกพา
ตัวเซ็นเซอร์อยู่ในระหว่างการพัฒนาเพื่อให้สามารถจำแนกและจดจำคำศัพท์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในส่วนนี้ต้องอาศัยข้อมูลความละเอียดสูงและปรับปรุงระบบอ่านข้อมูลที่ทรงประสิทธิภาพ เพื่อให้ข้อมูลที่ถ่ายทอดออกมาตรงกับความเป็นจริงที่สุด ก่อนนำไปแสดงผลบนหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ต่อไป
การใช้ประโยชน์จากเซ็นเซอร์ที่ไม่ได้จำกัดเพียงผู้พิการ
แน่นอนเทคโนโลยีในการสร้างคำบรรยายจากบทสนทนาพวกเขาไม่ได้สร้างเป็นกลุ่มแรก บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ Google ก็พัฒนาระบบ Live caption บนผลิตภัณฑ์ของทางบริษัท เช่น Chrome และ Youtube โดยอาศัยระบบอัลกอริทึมเพื่อสร้างคำบรรยายไว้ใต้วีดีโอหรือคลิปเสียง เพื่อให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงเนื้อหาเหล่านี้ได้เช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้นในสื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์เองก็มีการจัดหา ล่ามภาษามือ นำมาถ่ายทอดเนื้อหารายการหรือข้อความต่างๆ เพื่อให้คนทั้งประเทศสามารถรับชม แต่เราต่างทราบดีว่าทั้งหมดนี้เป็นสื่อกระแสหลักหรือบริษัทยักษ์ใหญ่บางส่วน แต่ปัจจุบันยังมีสื่อและแอพลิเคชันมากมายที่ยังไม่รองรับในส่วนนี้ พวกเขาจึงไม่สามารถเข้าถึงโดยสะดวก
นี่จึงเป็นเหตุผลให้การออกแบบอุปกรณ์นี้ให้แก่ผู้พิการมีความจำเป็น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้บกพร่องทางการได้ยินให้ใกล้เคียงคนทั่วไป ในอนาคตนี่อาจเป็นหนึ่งในระบบที่ได้รับการติดตั้งเข้ากับสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อัจฉริยะชนิดอื่น นำมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยี Augmented Reality ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานต่อไป
สำหรับคนทั่วไปเองนี่ก็เป็นส่วนที่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตคอนเท้นท์วีดีโอ จากเดิมที่หากต้องการใส่คำบรรยายใต้วีดีโออาจต้องอาศัยโปรแกรมจากภายนอก หรือต้องให้แพลตฟอร์มที่นำไปลงรองรับการใส่คำบรรยายเสียก่อน แต่จากนี้ทุกอย่างอาจง่ายดายเพียงลัดนิ้ว ทั้งเป็นการช่วยประหยัดเวลาและเพิ่มฐานลูกค้าไปในตัว
อีกทั้งการใช้งานอุปกรณ์ชนิดนี้ก็ไม่ได้จำกัดเพียงผู้พิการ เมื่อเซ็นเซอร์ได้รับความแพร่หลายมากขึ้นก็อาจถูกนำไปใช้ในหลายแนวทาง ตั้งแต่คนที่มีปัญหาด้านการพูดหรือออกเสียงสามารถสนทนาให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น, การติดต่อสื่อสารในสถานที่มีเสียงรบกวนดังสนั่นจะไม่ลำบากอีกต่อไป รวมถึงการใช้ในเชิงการเรียนรู้และการศึกษาภาษาต่างๆ จะง่ายดายขึ้นมากอีกด้วย
ต้องรอดูกันต่อไปว่าการพัฒนาเซ็นเซอร์ชนิดนี้จะสามารถพัฒนาไปได้แค่ไหน แม้ปัจจุบันจำนวนคลังคำศัพท์จะมีไม่มาก แต่ในอนาคตหากทีมวิจัยยังคงพัฒนาต่อเนื่องหรือได้การสนับสนุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่สักแห่ง ผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินและการพูดอาจพูดคุยสื่อสารได้เหมือนคนทั่วไปก็เป็นได้
ที่มา
https://interestingengineering.com/innovation/invention-help-hearing-impaired-military
https://thisable.me/content/2018/07/438