posttoday

จากบทบาทใน APEC สู่มิติใหม่ของขนส่งสาธารณะ “MINE Smart Ferry – Thai smile bus”

04 ธันวาคม 2565

เอ็นไอเอเปิดมิติใหม่แห่งการขนส่งสาธารณะ “MINE Smart Ferry – Thai smile bus” 2 นวัตกรรมเรือและรถไฟฟ้ากับบทบาทพาผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจสู่ฝั่งฝันความยั่งยืน

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือ APEC 2022 ได้ปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไทยในฐานะเจ้าภาพปีนี้ ยังถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้เราได้ชูนวัตกรรมผ่านศิลปวัฒนธรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทย ของที่ระลึกหรือการแสดง และหนึ่งในนวัตกรรมที่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยคือ  “นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า Thai smile bus และเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry ” เพื่อใช้รับ-ส่ง ผู้เข้าร่วมการประชุม ทั้งยังได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านเศรษฐกิจ ประจำปี 2563 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA

จากบทบาทใน APEC สู่มิติใหม่ของขนส่งสาธารณะ “MINE Smart Ferry – Thai smile bus”

ฝีมือคนไทย บริการด้วยใจ ห่วงใยสิ่งแวดล้อม

ระบบขนส่งสาธารณะเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อภูมิอากาศของโลก เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เห็นได้จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามโดยมีการกล่าวถึงข้อตกลงสัญญาที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาและลดภาระด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change

จากข้อกำหนดดังกล่าวทำให้กระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในระบบขนส่งสาธารณะของประเทศไทยมากขึ้น ตามเป้าหมายของภาครัฐที่ต้องการเชื่อมต่อการเดินทางทั้งรถ ราง เรือ ให้มีระดับมาตรฐานการบริการที่ใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ ถือเป็นจังหวะเหมาะสมที่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) หรือ EA และกลุ่มบริษัทพันธมิตรจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านคมนาคมของไทย โดยการดำเนินธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ 

จากบทบาทใน APEC สู่มิติใหม่ของขนส่งสาธารณะ “MINE Smart Ferry – Thai smile bus”

รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า “Thai smile bus”

     หลังเสร็จสิ้นภารกิจ พา 21 ผู้นำเขตเศรษฐกิจบรรลุเป้าหมายแห่งความยั่งยืน รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า “Thai smile bus” จำนวน 500 คันโดย บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด จะให้บริการตามเส้นทางในพื้นที่เขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เช่น สาย 8 แฮปปี้แลนด์ – สะพานพุทธ สาย 12 พระประแดง – บางลำพู และสาย 17 พระประแดง – อนุสาวรีย์ชัยฯ ซึ่งภายในปี 2566 จะผลิตรถบัส EV เพิ่มอีกประมาณ 2,500 – 3,000 คัน เพื่อมาวิ่งให้บริการแทนรถร่วมใน 117 เส้นทาง โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตของโรงงานที่มีอยู่ให้สามารถผลิตรถได้ปีละ 5,000 คัน

จากบทบาทใน APEC สู่มิติใหม่ของขนส่งสาธารณะ “MINE Smart Ferry – Thai smile bus”

เรือไฟฟ้าโดยสาร “MINE Smart Ferry” 

          ส่วน เรือไฟฟ้าโดยสาร “MINE Smart Ferry” จำนวนอีก 23 ลำ โดย บริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด จะให้บริการใน 3 เส้นทาง คือ 

  • สาย Urban Line พระนั่งเกล้า - สาทร 
  • สาย Metro Line สะพานพระราม 7 - วัดวรจรรยาวาส 
  • สาย City Line สายสีเขียว พระปิ่นเกล้า - สาทร

จากบทบาทใน APEC สู่มิติใหม่ของขนส่งสาธารณะ “MINE Smart Ferry – Thai smile bus”

เพื่อรองรับการบริการในระบบขนส่งโดยสารสาธารณะของไทยให้มีมาตรฐานเดียวกัน และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงทุกระบบบริการขนส่งได้อย่างเท่าเทียม 

ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยเทียบเท่าสากล เนื่องจากมีการใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน IP68 เช่นเดียวกับที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก แถมยังช่วยประหยัดพลังงาน เพราะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่มีวงจรการผลิตพลังงานทดแทน สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ร้อยละ 30 – 40 ทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยในส่วนของภาคการขนส่งปรับตัวได้รวดเร็วมากขึ้น

 

จากบทบาทใน APEC สู่มิติใหม่ของขนส่งสาธารณะ “MINE Smart Ferry – Thai smile bus”

 

ยานยนต์ไฟฟ้า นวัตกรรมไทยบนเวทีโลก

          นาวาโท ปริญญา รักวาทิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้นำนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นโดยฝีมือคนไทย 100% ตั้งแต่การผลิตแบตเตอร์รี่ การประกอบรถบัส EV และการต่อเรือ ไปนำเสนอให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่าประเทศไทยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่พร้อมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 

          ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาคเอกชนมีการพัฒนาและความพร้อมมากพอที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน หากมองในกลุ่มประเทศอาเซียน เชื่อว่า EA และบริษัทพันธมิตร มีความพร้อมที่จะรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี เพราะมีธุรกิจที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของระบบยานยนต์ไฟฟ้า

          ไม่ว่าจะเป็นสถานีให้บริการอัดประจุไฟฟ้าที่เป็นระบบชาร์จเร็วของเรือไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถชาร์จไฟได้ 800 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ภายใน 15 นาที โดยในปี 2566 ตั้งเป้าจะเพิ่มสถานีให้บริการอัดประจุไฟฟ้าให้ครบ 700 สถานี เพื่อรองรับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าส่วนตัวที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง