การค้นพบใหม่ สู่การชี้ชัดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาการที่สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัยแต่สร้างผลกระทบได้มากมาย ร้ายแรงอาจถึงขั้นต้องปลูกถ่ายหัวใจใหม่หรือเป็นอัมพาตอีกทั้งยังวินิจฉัยยาก แต่ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปเมื่อเราอาจค้นพบสาเหตุและชี้ชัดอย่างแม่นยำด้วยการตรวจเลือด
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ถือเป็นหนึ่งในโรคหัวใจที่พบได้ทั่วไปแต่กลับมีอัตรายอย่างคาดไม่ถึง ด้วยเป็นโรคที่สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ยากต่อการระบุต้นตอ และเป็นสาเหตุของโรคอีกหลายชนิด การรักษาอย่างทันท่วงทีถือเป็นสิ่งจำเป็น น่าเสียดายที่การตรวจวินิจฉัยทำได้ไม่ง่ายนัก
ล่าสุดมีวิธีเพิ่มความแม่นยำการตรวจแล้วก็จริง แต่เรามาย้อนดูเสียหน่อยว่า กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ คืออะไร?
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือ Myocarditis เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการสูบฉีดเลือดหล่อเลี้ยงร่างกายลดลงจนเกิดความเจ็บปวด หรือทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะจากสัญญาณไฟฟ้าแปรปรวน ในกรณีรุนแรงอาจนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือด ปัญหาหลอดเลือดหัวใจ ไปจนภาวะหัวใจล้มเหลวจนเสียชีวิตได้
อาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาจเกิดขึ้นโดยไม่แสดงอาการใดล่วงหน้าแต่ก็สามารถแสดงอาการได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ เจ็บหน้าอก, ใจสั่น, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, เหนื่อยง่าย, หายใจได้สั้นลง, อ่อนเพลีย, มือเท้าบวม, มีไข้, ปวดตามตัว ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงอาการเบื้องต้นโดยอาจแตกต่างกันไปตามผู้ป่วยแต่ละคน
นอกจากนี้ในกรณีเกิดขึ้นกับเด็กทั้งในเด็กโตและเด็กเล็ก อาจมีอาการแตกต่างจากผู้ป่วยทั่วไปจนสามารถสังเกตได้ยาก ตัวเด็กขาดเองก็ความสามารถในการสื่อสารอธิบาย อีกทั้งด้วยสาเหตุของโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กว้างขวาง ทั้งจากเชื้อไวรัส, แบคทีเรีย, รา, ปรสิต, ยา, สารเคมี, รังสี หรือแม้แต่โรคประจำตัว การวินิจฉัยจึงอาจทำได้ยาก
จริงอยู่อาการของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบใช่จะร้ายแรงเสมอไป บางครั้งผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูและหายได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา หรืออาจถึงขั้นไม่เกิดความผิดปกติใดๆ กระนั้นก็มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นกับร่างกาย และเป็นไปได้ว่าอาการนี้จะทิ้งร่องรอยความเสียหาย จนอาจเพิ่มความเสี่ยงและความรุนแรงของอาการโรคหัวใจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้แก่ หัวใจล้มเหลว, หัวใจวาย, โรคหัวใจขาดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง, ลิ่มเลือดอุดตัน, หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไปจนหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน นี่จึงเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังและรู้ตัวแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคอื่นตามมา
การตรวจเลือดรูปแบบใหม่สำหรับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
ผลงานวิจัยนี้มาจากทีมวิจัยของ British Heart Foundation ที่ค้นพบสัญญาณบ่งชี้ใหม่ของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งช่วยให้การระบุอาการของโรคและวินิจฉัยอาการทำได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการของโรคนี้เด่นชัด
อย่างที่รู้กันว่าโรคนี้แสดงอาการและความผิดปกติของโรคออกมาแตกต่างกัน กลุ่มที่สร้างความปวดหัวให้แก่แพทย์มากที่สุดคือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อชนิดต่างๆ ด้วยอาการที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของผู้ป่วยมักมีเพียงอาการหายใจลำบาก อ่อนเพลีย และมีไข้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจตามมาด้วยอาการหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ในไม่กี่วัน
ส่วนนี้เองที่เป็นข้อจำกัดเมื่อการตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบยังมีความคลุมเครือ ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยปัจจุบันอาศัยการ เอ็กซ์เรย์ หรือ ซีทีสแกน แต่หลายครั้งก็ไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเองก็อาจไม่แสดงความผิดปกติเด่นชัด
ส่วนการตรวจเลือดที่มีในปัจจุบันบ่งบอกว่าเกิดการอักเสบในร่างกายเป็นหลักแต่ไม่เฉพาะเจาะจง หลายครั้งจึงไม่สามารถระบุสาเหตุได้แน่ชัด วิธีตรวจเดียวที่สามารถชี้วัดได้แม่นยำคือการตรวจเนื้อเยื่อหัวใจ แต่วิธีนี้ค่อนข้างสร้างภาระให้แก่ร่างกายคนไข้และเสี่ยงจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ จึงถือเป็นทางเลือกที่ยังไม่ตอบโจทย์
แต่งานวิจัยชิ้นนี้เจาะจงการศึกษาไปยัง T-cell ที่เป็นเซลล์ภูมิคุ้มกัน ก่อนพบว่าเมื่อเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ โมเลกุลชนิดหนึ่งชื่อว่า cMet จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นภายในเซลล์ภูมิคุ้มกัน และสามารถอาศัยส่วนนี้ชี้วัดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกิดในร่างกายผู้ป่วยได้
ผลการทดสอบตรวจเลือดพบว่าผู้ป่วยที่มีค่า cMet สูงกว่าปกติ มีแนวโน้มเจ็บป่วยจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสูง โดยในขั้นตอนการเก็บข้อมูลตัวอย่างเลือด พวกเขาค้นพบผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่มีอาการน้อยรวมถึยังไม่แสดงอาการถึง 34 ราย ช่วยให้พวกเขาสามารถเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ทันท่วงทีและหายเป็นปกติได้ไม่ยาก
ข้อดีของกระบวนการตรวจเลือดนี้คือ ขั้นตอนการตรวจเรียบง่ายไม่แตกต่างไปจากการตรวจเลือดทั่วไป สามารถเข้าใจง่ายสำหรับผู้ทำการทดสอบ อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายไม่มากและระยะเวลาในการตรวจสอบสั้น จึงถือเป็นรูปแบบการระบุอาการได้แม่นยำ สะดวก และประหยัดค่าใช้จ่ายไปพร้อมกัน
การค้นพบนี้ยังช่วยยืนยันว่า แท้จริงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอาจเกิดขึ้นจากภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ด้วยการทำงานของ T-cell ถูกกระตุ้นโดย cMet ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเกิดปฏิกิริยาต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน นำไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในที่สุด ซึ่งนี่จะช่วยอธิบายได้ว่าเมื่อมีการติดเชื้อชนิดต่างๆ ยา หรือสารเคมี จึงทำให้เกิดอาการของโรคขึ้นมา
อีกทั้งจากการทดลองในหนูพวกเขาพบว่า ในหนูที่เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หากสามารถยับยั้งการทำงานของ T-cell ลดปริมาณ cMet ภายในร่างกายได้ ก็ช่วยทุเลาอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแก่หนูเหล่านั้นลง ซึ่งอาจเป็นประโยชน์แก่การรักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องรักษาตามอาการแบบในปัจจุบันอีกต่อไป
นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่โดยเฉพาะสำหรับแวดวงการแพทย์ เมื่อจากนี้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะไม่ใช่โรคลึกลับอีกต่อไป แต่สามารถตรวจสอบวินิจฉัยได้ง่ายด้วยการตรวจเลือด อีกทั้งยังอาจเป็นประโยชน์ในการคิดค้นวิธีรักษาเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะช่วยเหลือผู้ป่วยที่ประสบปัญหานี้ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรังได้อีกมาก
ที่มา
https://www.bangkokhearthospital.com/content/myocarditis-from-long-covid