โดรนขนส่งรุ่นใหม่ ความจุ 45 กิโลกรัม บินไกล 965 กิโลเมตร
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาภาคการขนส่งถือเป็นธุรกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง หลายบริษัทเริ่มพัฒนาแนวทางการนำโดรนมาใช้งานเพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว จนล่าสุดเริ่มมีการคิดค้นโดรนบรรทุกพัสดุโดยเฉพาะที่สามารถจุของได้มากถึง 45 กิโลกรัม
การขนส่งสินค้าถือเป็นธุรกิจที่ได้รับความสำคัญและเติบโตยิ่งขึ้นภายใต้การระบาดของโควิด แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะคลี่คลายผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยดังเดิม หลายท่านก็ยังคงใช้งานจากความสะดวกสบายและโปรโมชั่นโดนใจทั้งหลายที่พาเหรดออกมาทุกเดือน
เมื่อผู้ให้บริการในตลาดมีจำนวนมากการแข่งขันจึงดำเนินไปอย่างดุเดือด ล่าสุดเริ่มมีแนวคิดนำเอาเทคโนโลยีโดรนมาใช้ในการขนส่ง เช่น ระบบขนส่งของ Amazon หากเป็นสมาชิก Amazon Prime จะมีตัวเลือกบริการขนส่งผ่านโดรนให้ทดลองใช้งาน
นั่นทำให้ล่าสุดเริ่มมีการพัฒนาโดรนเพื่อการขนส่งสินค้าขึ้นมาโดยเฉพาะแล้วเช่นกัน
โดรนขนส่งลำใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ผลงานนี้เป็นของบริษัท MightyFly ในซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ กับการพัฒนาโดรนขนส่งรุ่นใหม่อย่าง Cento โดรนที่ได้รับการออกแบบพัฒนาเพื่อรองรับการขนส่ง มีขีดความสามารถในการบรรจุพัสดุสูงสุดถึง 96 ชิ้น จึงถือเป็นโดรนขนส่งสินค้าที่มีความจุสูงสุดในปัจจุบัน
Cento ถูกพัฒนาขึ้นโครงมาจากวัสดุ คาร์บอนไฟเบอร์ น้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 161 กิโลกรัม เมื่อรวมน้ำหนักบรรทุกสูงสุดอีก 45 กิโลกรัมจะทำให้ตัวเครื่องแบกน้ำหนักได้มากถึง 206 กิโลกรัม ขนาดของโดรนจะมีความสูงอยู่ที่ 4 เมตร ยาว 5 เมตร ทำให้สามารถอาศัยพื้นที่ลงจอดเทียบเท่ากับรถสองคันรวมกัน
ตัวโดรนขับเคลื่อนด้วยใบพัดขนาดเล็ก 8 ใบที่ถูกใช้ขับเคลื่นในแนวดิ่ง และใบพัดขนาดใหญ่อีก 1 ใบในแนวขวาง ทำให้โดรนลำนี้มีศักยภาพการลงจอดแนวดิ่งแบบเฮลิคอปเตอร์เช่นเดียวกับโดรนทั่วไป ตัวเครื่องสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง และมีระยะบินไกลสุดถึง 965 กิโลเมตร
จุดเด่นสำคัญของโดรน Cento คือ ขั้นตอนการส่งพัสดุอันรวดเร็ว นอกจากสามารถลงจอดโดยอาศัยพื้นที่ไม่มากแล้ว โดรนยังได้รับการติดตั้งช่องบรรจุพัสดุขนาดราว 1.8 เมตร ทำให้สามารถบรรจุพัสดุได้สูงสุดถึง 96 ชิ้น และสามารถนำพัสดุที่กำหนดขนย้ายออกมาผ่านสายพานเมื่อถึงที่หมาย โดยไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคน
ปัจจุบันบริษัทอยู่ในขั้นตอนทดสอบการบินกับ องค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ(FAA) เพื่อขออนุญาตให้ทำการบิน โดยทางบริษัทคาดหวังว่าจะได้รับการอนุญาตให้สามารถแสดงประสิทธิภาพของโดรนลำนี้ได้ในเร็ววัน แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีกำหนดให้บริการที่แน่ชัดก็ตาม
การขนส่งผ่านโดรน อีกหนึ่งตัวเลือกแห่งอนาคต
สำหรับบางท่านอาจมองว่าการขนส่งสินค้าผ่านโดรนเป็นเรื่องเกินจำเป็น จริงอยู่เมื่อเราทำการสั่งซื้อสินค้าไปย่อมต้องอยากให้ของชิ้นนั้นมาอยู่ในมือให้เร็วที่สุด กระนั้นหลายท่านเมื่อได้รับฟังอาจยังรู้สึกว่า เราไม่ได้จำเป็นต้องรีบร้อนในการได้พัสดุจนต้องขนส่งทางอากาศ
นั่นคือความคิดส่วนหนึ่งแต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าสินค้าบางชนิดก็จำเป็นต้องขนส่งแข่งกับเวลา
สินค้าบางชนิดจำเป็นต้องส่งให้ถึงมือปลายทางโดยเร็วที่สุด ทั้งในด้านการรักษาระดับมาตรฐานทางคุณภาพสินค้าหรือรับมือความจำเป็นเร่งด่วนรูปแบบต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น สินค้าประเภทวัตถุดิบประกอบอาหาร ด้วยทุกวินาทีที่ผ่านไปส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินค้า รวมถึงสินค้าประเภทเวชภัณฑ์และการแพทย์ เพื่อรับมือสถานการณ์วิกฤติรักษาชีวิตคนไข้ นี่เป็นส่วนที่โดรนจะเข้ามามีบทบาทช่วยให้การขนส่งรวดเร็วขึ้น
ตามมาด้วยการขนส่งในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง เราทราบดีว่ายิ่งห่างไกลจากเมืองขั้นตอนการขนส่งยิ่งทวีความซับซ้อน บางพื้นที่สามารถเข้าถึงได้ยากจากเส้นทางคมนาคมทางบกที่ติดขัด นี่เป็นส่วนที่ได้รับการชดเชยจากการขนส่งผ่านโดรน ด้วยการขนส่งทางอากาศแม้เป็นพื้นที่เข้าถึงยากก็สามารถไปถึงได้ดังใจ
อีกหนึ่งความจำเป็นในการขนส่งผ่านโดรนคือ การกู้ภัยและให้ความช่วยเหลือพื้นที่ภัยพิบัติ เราทราบกันดีว่าโอกาสเกิดและความรุนแรงของภัยธรรมชาตินับวันยิ่งมากขึ้น การเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์จึงจำเป็น โดยเฉพาะเส้นทางขนส่งอุปกรณ์ให้แก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่อันตรายหรือเส้นทางสัญจรถูกตัดขาด อาจช่วยรักษาชีวิตรวมถึงบรรเทาความทุกข์ยากของผู้คนได้อีกมาก
และแม้ Cento ยังอยู่ในขั้นตอนขอใบอนุญาต แต่ทางบริษัทยังคงพัฒนาโดรนขนส่งรุ่นอื่นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ทำการพัฒนาโดรนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการขนของได้มากกว่า 200 กิโลกรัม เพื่อใช้ในการขนส่งขนาดใหญ่เพิ่มเติมในอนาคต
ฟังดูโดรนน่าจะเป็นแนวทางใหม่การขนส่งที่จะได้รับความนิยมในอนาคต แต่อาจไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป
ข้อจำกัดในปัจจุบันที่อาจทำให้โดรนขนส่งไม่บูมอย่างที่คิด
ปัจจุบันเทคโนโลยีโดรนได้รับความสนใจและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถูกนำไปใช้งานหลายภาคส่วนจนเริ่มได้รับความสำคัญมากขึ้น แต่ในด้านการใช้งานเองโดรนก็มีข้อจำกัดและกฎหมายควบคุมหลายด้าน ทั้งช่วงระยะเวลาทำการบิน เพดานการบิน ไปจนพื้นที่หวงห้ามต่างๆ เช่น
- จำกัดเวลาทำการบินเฉพาะในช่วงระหว่างพระอาทิตย์ขึ้น-ตก เพื่อให้สามารถมองเห็นโดรนได้ชัดเจน
- ห้ามบินเข้าใกล้หรือบินเข้าไปในก้อนเมฆ
- เพดานการบินสูงสุดในการบินโดรนอยู่ที่ 90 เมตรเหนือพื้นดิน
- ห้ามทำการบินเข้าไปในพื้นที่รัศมี 9 กิโลเมตรในบริเวณสนามบินหรือพื้นที่ขึ้น-ลงอากาศยาน
- ห้ามทำการบินในเขตชุมชน หมู่บ้าน เมือง หรือพื้นที่ที่มีคนชุมนุม
- ห้ามบังคับโดรนเข้าใกล้อากาศยานที่มีนักบิน
- ห้ามบินหรือเข้าใกล้เขตพระราชทานในทุกกรณี
- ห้ามบินในสถานที่ราชการ หน่วยงานรัฐ หรือโรงพยาบาล เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่
นี่เป็นเพียงกฎหมายที่ได้รับการบัญญัติในประเทศไทย แน่นอนในต่างประเทศเองต่างมีข้อจำกัดแตกต่างกันไป เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้งานโดรนอาจก่อให้เกิดอันตราย ทั้งต่อคนทั่วไปภายในพื้นที่ ตึกราบ้านช่อง รวมถึงอากาศยานชนิดอื่นที่อาจนำไปสู่โศกนาฎกรรมได้ไม่ยาก
นอกจากนี้เทคโนโลยีโดรนยังเริ่มถูกขยับนำมาใช้โจรกรรมมากขึ้น บริษัททางการเงินและบริษัทคอมพิวเตอร์เริ่มถูกการโจมตีโดยอาศัยโดรนเข้ามาแทรกแซงระบบต่างๆ ทำให้ในอนาคตการใช้งานโดรนอาจถูกจำกัดหรือห้ามบินมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้การขนส่งผ่านโดรนเติบโตยากขึ้นไปอัก
คงต้องรอดูต่อไปว่าเทคโนโลยีโดรนจะได้รับการพัฒนาทิศทางใด จะมีแนวทางป้องกันรับมือการใช้งานในทางที่ผิดหรือไม่ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือหากไม่ติดข้อกฎหมาย ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว ในอนาคตโดรนอาจเป็นอุปกรณ์ที่เข้ามาพลิกโฉมภาคการขนส่งให้ต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง
ที่มา
https://www.posttoday.com/post-next/687555
https://blog.boxme.asia/th/logistics-ship-parcel-by-drone/
https://mightyfly.com/press-release/cento/