posttoday

มุ่งสู่ดาวอังคาร ระบบลงจอดยานอวกาศรุ่นใหม่ของ NASA

09 มีนาคม 2566

เทคโนโลยีอวกาศกลับมาได้รับสำคัญหลังข้อมูลมากมายที่ได้จากการสำรวจ โดยเฉพาะดาวที่สามารถเดินทางไปถึงง่ายอย่างดวงจันทร์และดาวอังคาร นำไปสู่การพัฒนาหลากหลายรูปแบบ ล่าสุดมีการคิดค้นระบบลงจอดรุ่นใหม่ เพื่อให้การส่งยานอวกาศเป็นไปอย่างราบรื่น

ภารกิจสำรวจอวกาศกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ภายหลังโครงการอวกาศจากนานาประเทศ จุดหมายที่ทุกชาติต่างต้องการมุ่งไปคือดวงจันทร์ แต่ที่ได้รับการพูดถึงไม่แพ้กันคือดาวเคราะห์อีกดวงในระบบสุริยะอย่าง ดาวอังคาร อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการสำรวจถึงขั้นมีการวางแผนตั้งรกรากในอนาคต

 

          แน่นอนการเดินทางสู่ดาวอังคารได้รับการให้ความสำคัญทุกภาคส่วน จากงบประมาณมหาศาลที่ใช้ในการสำรวจแต่ละครั้ง สถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ ไปจนหน้าตาชื่อเสียงทางเทคโนโลยีของแต่ละประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนารอบด้านเพื่อรองรับทุกสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น

 

          นั่นทำให้ NASA คิดค้นระบบลงจอดยานอวกาศรุ่นใหม่ เพื่อลดโอกาสผิดพลาดให้น้อยที่สุด

 

มุ่งสู่ดาวอังคาร ระบบลงจอดยานอวกาศรุ่นใหม่ของ NASA

 

ระบบลงจอดรุ่นใหม่ของ NASA ตั้งเป้าสู่ดาวอังคาร

 

          ในอดีต NASA ประสบความสำเร็จในการลงจอดยานอวกาศบนดาวอังคารทั้งสิ้น 9 ครั้ง โดยที่ผ่านมามีการใช้ระบบลงจอดมาแล้วหลากหลายรูปแบบตั้งแต่การใช้ร่มชูชีพ ถุงลมนิรภัย ไปจนเจ็ทแพ็คในการชะลอความเร็วการตกเพื่อลงจอดลงบนพื้นผิวดาวอย่างปลอดภัย

 

          ส่วนระบบลงจอดรุ่นใหม่ของ NASA ถูกออกแบบรองรับภารกิจสำรวจอวกาศที่มีความซับซ้อน เพื่อให้สามารถรองรับแรงกระแทกรุนแรงในการลงจอดที่จะเกิดขึ้น สำหรับภารกิจสำรวจอวกาศตามพื้นผิวดาวต่างๆ  ด้วยการออกแบบระบบลงจอดให้สามารถดูดซับแรงกระแทกและชะลอความเร็วการตกที่เรียกว่า SHIELD

 

          SHIELD หรือ Simplified High Impact Energy Landing Device เป็นโลหะวงแหวนรูปทรงพีรามิดคว่ำ ทำหน้าที่ช่วยในการดูดซับแรงกระแทก มีหลักการทำงานคือเมื่อได้รับแรงกระแทกในขั้นตอนการลงจอด วงโลหะจะเกิดการยุบตัวลงตามแรง และส่วนนี้จะช่วยดูดซับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นโดยไม่ส่งผลกระทบต่อยานอวกาศ

 

          การทดสอบระบบลงจอด SHIELD เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงเดือนสิงหาคม 2022 โดยยานอวกาศจำลองที่ใช้ในการทดสอบประสบความสำเร็จในการลงจอดอย่างปลอดภัย ไม่สร้างความเสียหายให้แก่โครงสร้างโดยรวม แม้จะทำการลงจอดในระดับความเร็ว 177 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนแผ่นเหล็กที่มีโอกาสทำให้เกิดความเสียหายสูงก็ตาม

 

          เครื่องวัดพลังงานที่ติดตั้งอยู่บนตัวทดสอบตรวจวัดแรงปะทะได้มากถึง 1 ล้านนิวตัน เทียบเท่ากับแรงปะทะถึง 112 ตัน โดยเกิดความเสียหายเพียงชิ้นส่วนพลาสติกภายนอกที่ไม่มีความสำคัญ ถือเป็นการยืนยันถึงผลสำเร็จในการพัฒนาระบบลงจอดนี้เป็นอย่างดี นั่นทำให้พวกเขาเตรียมพัฒนาเพิ่มเติมให้สามารถรองรับการลงจอดได้มากยิ่งขึ้น

 

มุ่งสู่ดาวอังคาร ระบบลงจอดยานอวกาศรุ่นใหม่ของ NASA

 

ความสำคัญในการสำรวจอวกาศ สู่การตั้งรกรากบนดาวอังคาร

 

          ถึงตรงนี้หลายท่านอาจสงสัยว่า เหตุใดภารกิจสำรวจอวกาศจึงกลับมาได้รับความสำคัญ ภายหลังการสิ้นสุดของยุคสมัยแห่งการบุกเบิกอวกาศของสหรัฐฯ การพัฒนาพลันชะลอตัว สวนทางกับปัจจุบันที่ครั้งนี้ไม่เพียงชาติมหาอำนาจ แต่เกือบทุกประเทศทั่วโลกล้วนต้องการมีส่วนร่วมในภารกิจนี้ทั้งสิ้น

 

          สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องด้วยมุมมองที่มีต่ออวกาศในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตโดยสิ้นเชิง

 

           ในอดีตการสำรวจอวกาศถูกมองเป็นการแข่งขันทางเทคโนโลยีของสองมหาอำนาจ ในยุคสมัยสงครามเย็นทั้ง สหรัฐฯ และ โซเวียต ต่างต้องการอวดแสงยานุภาพ เมื่อไม่สามารถห้ำหั่นกันโดยตรงเทคโนโลยีจึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือก นำไปสู่การแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศ

 

          ปัจจุบันวิทยาการได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้า เทคโนโลยีอวกาศไม่ได้มีไว้โฆษณาความยิ่งใหญ่อีกต่อไป แต่มีความจำเป็นและสำคัญในเทคโนโลยีหลายแขนง เช่น การติดสื่อสาร การเดินทาง ไปจนพยากรณ์อากาศ นั่นทำให้เทคโนโลยีอวกาศสามารถทำจุดคุ้มทุน จากดาวเทียมจำนวนมหาศาลที่ส่งขึ้นฟ้าในแต่ละปีจนเริ่มมุ่งสู่การต่อยอด

 

          ทริปท่องเที่ยวบนอวกาศถูกจัดขึ้นจากหลายบริษัท จนเริ่มมีการพูดถึงการตั้งรกรากบน ดวงจันทร์ หรือ ดาวอังคาร เมื่อเราส่งยานสำรวจออกเก็บรวบรวมข้อมูลมากขึ้นจึงพบว่า บนดาวเหล่านั้นมีทรัพยากรพอให้นำมาใช้ประโยชน์สำหรับการตั้งรกราก นำไปสู่โครงการมากมายที่เริ่มมุ่งเป้าสู่การตั้งอาณานิคมบนอวกาศ

 

          โครงการที่เราต้องพูดถึงอย่างแน่นอนคือ Artemis ของสหรัฐฯที่มีแผนในการนำมนุษย์กลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง รวมถึงประเทศชั้นนำ เช่น จีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย ฯลฯ ที่เริ่มมุ่งสู่ดวงจันทร์ไม่ขาดสาย หลังการค้นพบน้ำธารน้ำแข็งในแถบขั้วใต้ของดวงจันทร์ เช่นเดียวกับโครงการของ SpaceX ที่มุ่งพามนุษย์ไปอยู่อาศัยบนดาวอังคาร

 

          นอกจากเพื่อมองหาตัวเลือกใหม่ในการอยู่อาศัย ปัจจุบันยังเริ่มมีแนวคิดในการเก็บเกี่ยวทรัพยากรจากดาวเคราะห์น้อยที่กระจายอยู่ในอวกาศ นั่นทำให้สถานีอวกาศบนดวงจันทร์หรือดาวอังคารที่ให้นักบินอวกาศสามารถอยู่อาศัยได้ ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต

 

          ด้วยเหตุนี้การพัฒนาเทคโนโลยีลงจอดจึงมีความจำเป็นยิ่งสำหรับรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันหน้า

 

 

          แน่นอนว่าโครงการนี้อาจไม่ได้ยิ่งใหญ่ถึงขี้นพลิกโฉมโลกได้ทันที แต่นี่ก็อาจเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี ที่อาจช่วยให้การสำรวจอวกาศเป็นไปด้วยดีบุกเบิกยุคสมัยใหม่ต่อไป

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://interestingengineering.com/science/nasa-crash-land-mars-missions-future

 

          https://www.bbc.com/thai/international-55995678

 

          https://thematter.co/brief/141094/141094

 

          https://www.posttoday.com/innovation/1513

 

          https://interestingengineering.com/innovation/asteroid-mining-startup-astroforge-missions