posttoday

Plasticosis โรคร้ายจากไมโครพลาสติกทำลายทางเดินอาหาร

03 เมษายน 2566

ไมโครพลาสติก หนึ่งในสารปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการพูดมากขึ้นในช่วงหลัง เราทราบดีว่าการขจัดสิ่งนี้ออกจากสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องยากจนเกือบเป็นไปไม่ได้น่ากังวลถึงผลกระทบที่ตามมา และล่าสุดมีการค้นพบโรคเฉพาะที่เกิดจากการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกแล้วเช่นกัน

พลาสติกถือเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติเด่นหลายด้าน ทั้งในแง่ความทนทาน, กันน้ำ, น้ำหนักเบา รวมถึงมีค้นทุนต่ำ จึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันไปจนบรรจุภัณฑ์นานาชนิด ความแพร่หลายในการใช้งานนำไปสู่ขยะพลาสติกจำนวนมาก ยิ่งทำให้ไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมเพิ่มจำนวนเป็นทวีคูณ

 

          ที่ผ่านมามีการศึกษาข้อมูลไมโครพลาสติกหลายด้านจึงพบว่า ไมโครพลาสติกแทรกซึมเข้าไปในทุกระดับในระบบนิเวศ การปนเปื้อนแพร่กระจายเป็นวงกว้างในทุกภาคส่วนโดยไม่มีใครหรือสิ่งมีชีวิตชนิดใดรอดพ้น สร้างความกังวลต่อปัญหาสุขภาพของผู้คนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

          ล่าสุดผลกระทบจะยิ่งชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้นเมื่อมีการค้นพบโรคที่เกิดจากไมโครพลาสติกโดยเฉพาะ

 

Plasticosis โรคร้ายจากไมโครพลาสติกทำลายทางเดินอาหาร

 

Plasticosis โรคใหม่จากการปนเปื้อนไมโครพลาสติก

 

          งานวิจัยนี้มาจากทีมวิจัยแห่ง London's Natural History Museum เมื่อพวกเขาค้นพบว่า ไมโครพลาสติกที่กำลังปนเปื้อนภายในสภาพแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากไมโครพลาสติกจำนวนมากที่ปนเปื้อนสภาพแวดล้อม อาจนำไปสู่การก่อให้เกิดโรค Plasticosis

 

          Plasticosis คือ โรคที่เกิดจากการปนเปื้อนของสารอนินทรีย์ชนิดต่างๆ แบบเดียวกับ Silicosis โรคปอดที่เกิดจากฝุ่นซิลิกอน หรือ Asbestosis โรคปอดจากฝุ่นแร่ใยหิน สำหรับโรคนี้เกิดจากเศษพลาสติกเข้าไปสะสมอยู่ในทางเดินอาหาร ทำให้เกิดความเจ็บป่วยต่อระบบทางเดินอาหารนำไปสู่ปัญหาสุขภาพในอนาคต

 

          ผลกระทบเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ด้วยปริมาณไมโครพลาสติกภายในร่างกายคนเรายังมีอัตราการสะสมไม่มาก ที่เริ่มแสดงอาการให้เห็นคือ นกทะเล กับการใช้ชีวิตและหากินในบริเวณแถบชายฝั่งทะเล หนึ่งในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนไมโครพลาสติกมากที่สุดในโลก นี่จึงเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบสูงสุดเช่นกัน

 

          อาการของโรค Plasticosis คือ ระบบทางเดินอาหารเกิดการระคายเคืองและพังผืดแม้ไม่มีการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ไมโครพลาสติกจะเข้าไปสะสมภายในทางเดินอาหารจนทำให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรัง ส่งผลให้กลายเป็นแผลเป็นในเนื้อเยื่อและรูปร่างผิดปกติ ทำให้การดูดซึมสารอาหารและวิตามินภายในกระเพาะทำได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดกับสารชนิดอื่น

 

          ในกรณีอาการรุนแรงไมโครพลาสติกอาจเข้าไปรบกวนการก่อตัวของตัวอ่อน ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตอย่างราบรื่นจนถึงขั้นเสียชีวิต และต่อให้รอดชีวิตก็มีความเป็นไปได้สูงว่า ไมโครพลาสติกจะปนเปื้อนจนขัดขวางการเจริญเติบโตของลูกนก ทำให้ขนาดร่างกายแคระแกร็นขาดสารอาหารนำไปสู่การเสียชีวิตต่อไป

 

Plasticosis โรคร้ายจากไมโครพลาสติกทำลายทางเดินอาหาร

 

ความเสี่ยงต่อสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นรวมถึงมนุษย์

 

          ผลกระทบส่วนนี้เริ่มถูกสังเกตเห็นในบรรดาสิ่งมีชีวิตแถบชายฝั่งทะเล แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผลกระทบทางสุขภาพจะเกิดขึ้นกับเพียงนกทะเลเพียงอย่างเดียว เมื่อเราเองก็ทราบดีว่าพื้นที่แถบนี้เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ จึงมีสิ่งมีชีวิตอีกหลายสายพันธุ์เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยแบบเดียวกัน

 

          อีกทั้งการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกไม่ได้จำกัดอยู่เพียงพื้นที่ชายฝั่งทะเลแต่เป็นทั่วทุกมุมโลก กระทั่งบริเวณห่างไกลผู้คนอย่างแถบขั้วโลกหรือภูเขาสูงชัน ยังมีการตรวจพบไมโครพลาสติกปะปนในสภาพแวดล้อม คาดว่าอาจลอยตามกระแสน้ำหรือพัดพามาจากลม ส่งผลให้การปนเปื้อนแพร่กระจายเป็นวงกว้าง

 

          การปนเปื้อนไมโครพลาสติกเกิดขึ้นในทุกระดับของสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตแต่สามารถปนเปื้อนไปในธรรมชาติอย่างในน้ำหรืออากาศ นอกจากนี้ยังพบมากในพืชผักผลไม้หรือแม้แต่เกลือ เป็นเหตุให้ในปัจจุบันเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนนี้ได้อีกต่อไป

 

          ร้ายแรงกว่านั้นคือสถานการณ์ขยะพลาสติกต้นตอการเกิดไมโครพลาสติกทวีความร้ายแรง ในปี 2019 ทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกถึง 368 ล้านตัน/ปี และขยะพลาสติกกว่า 76% ถูกทิ้งลงทะเล ก่อนทุกอย่างยิ่งทวีความเลวร้ายภายใต้การระบาดของโควิด ทำให้อัตราการใช้งานพลาสติกพุ่งสูงแบบก้าวกระโดด

 

          ตลอดช่วงเวลาการแพร่ระบาดผลิตภัณฑ์พลาสติกถูกผลิตออกมาจำนวนมาก โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างหน้ากากอนามัยที่มีอัตราการใช้งานมากกว่า 3 ล้านชิ้น/นาที นำไปสู่การเกิดขึ้นของขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายมากกว่า 28,660 ตันทั่วโลกยิ่งซ้ำเติมปัญหานี้เข้าไปอีก

 

          นั่นจะทำให้การปนเปื้อนกระจายเป็นวงกว้างและส่งผลกระทบอย่างก้าวกระโดด คาดว่าในไม่ช้าอาจเกิดเป็นอาการป่วยชนิดใหม่ภายในร่างกายสิ่งมีชีวิตมากมาย นอกจากไมโครพลาสติกเข้าไปจะทำให้เกิดการอักเสบและพังผืดเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในอนาคต คาดว่าเมื่อเกิดการสะสมในร่างกายปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการผิดปกตินำไปสู่อวัยวะล้มเหลว หรือเป็นอีกหนึ่งสารก่อมะเร็งชนิดใหม่อีกด้วย

 

          นี่จึงเป็นสาเหตุให้เราจำเป็นต้องเอาใจใส่และเร่งหาทางรับมือการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมแบบเร่วด่วน

 

 

          แน่นอนแนวทางรับมือคงไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยปัจจุบันยังไม่มีวิธีแยกไมโครพลาสติกออกเป็นรูปธรรม บางทีเราอาจไม่สามารถขจัดการปนเปื้อนนี้อีกต่อไป ทำได้เพียงลดปริมาณขยะพลาสติกในระบบเพื่อลดจำนวนไมโครพลาสติกที่จะเกิดในอนาคต และได้แต่คาดหวังว่าผลกระทบทางสุขภาพต่อคนเราจะไม่เลวร้ายจนเกินไปเท่านั้น

 

 

 

          ที่มา

 

          https://interestingengineering.com/science/plasticosis-new-disease-in-seabirds

 

          https://newatlas.com/biology/plasticosis-new-disease-microplastics-birds/

 

          https://www.nhm.ac.uk/discover/news/2023/march/plasticosis-new-disease-caused-by-plastic-affecting-seabirds.html

 

          http://www.ej.eric.chula.ac.th/content/6140/320

 

          https://www.posttoday.com/innovation/1370

 

          https://www.posttoday.com/innovation/1370

 

          https://www.posttoday.com/innovation/1284

 

          https://www.greenpeace.org/thailand/story/17717/plastic-3-everyday-food-that-contain-microplastic/