อุปกรณ์ควบคุมสมองช่วยลดและรักษาอาการ PTSD
PTSD หนึ่งในอาการทางจิตเวชที่สามารถพบได้ทั่วไปเมื่อประสบเหตุร้ายแรง เราอาจเคยได้ยินและรู้จักอาการนี้กันมาบ้าง น่าเสียดายที่ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางรักษาโดยตรงจึงบรรเทาอาการได้ยาก แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปจากอุปกรณ์ควบคุมสมองที่ช่วยลดอาการ PTSD
เชื่อว่าหลายท่านคงรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อโรค PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder กันมาบ้าง เราทราบดีว่าโรคนี้เกิดขึ้นจากความเครียดและสะเทือนใจหลังประสบเรื่องร้ายแรงในชีวิต หลายรายอาจเกิดอาการรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต อีกทั้งยังไม่มีวิธีรักษาแน่นอนทำให้ผู้ป่วยหลายรายทรมานจากอาการนี้เป็นเวลานาน
ปัจจุบันมีการพัฒนาอุปกรณ์ควบคุมสมองที่ช่วยลดอาการ PTSD แล้วก็จริง แต่เราคงต้องเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับโรคนี้กันเสียหน่อย
อาการ PTSD การหลอกหลอนไม่จบสิ้น
PTSD ได้รับความสนใจและการพูดถึงเป็นวงกว้างมากขึ้นจากสื่อบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์อย่าง First Blood (1982) ที่บอกเล่าอาการและผลกระทบทางจิตใจของทหารผ่านศึก ที่แม้จะปลดประจำการและถูกส่งกลับแผ่นดินเกิดอย่างปลอดภัย จิตใจและความรู้สึกของเขายังคงติดพันอยู่ในการรบจนกลายเป็นความวุ่นวายครั้งใหญ่
ถ้าจะให้อธิบายอาการของโรคนี้คือการที่ผู้ป่วยยังคงรู้สึกตัวเองยังอยู่ในเหตุการณ์นั้น อาการจะเริ่มจากการเห็นภาพเหตุร้ายเกิดขึ้นซ้ำๆ คล้ายกับการฉายภาพเดิมวนเซียนซ้ำไปซ้ำมา โดยในช่วงแรกจะทำให้เกิดความเครียด, ภาพหลอน, ฝันร้าย ไปจนความวิตกกังวลขั้นรุนแรง จนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองยังคงอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายดังกล่าว
สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายโดยตรง นำไปสู่อาการมากมาย เช่น ปวดศีรษะ, ปวดท้อง, นอนไม่หลับ, เครียด, ก้าวร้าว, ฉุนเฉียวง่าย, ไวต่อสิ่งเร้า, ใจสั่น, เหงื่อออกมาก ฯลฯ จนมีกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่มีความสุข รู้สึกแปลกแยกจากสังคม ซึ่งเป็นการซ้ำเติมอาการยิ่งขึ้นไปอีก
โดยอาการสามารถนำไปสู่อาการทางจิตแทรกซ้อนหลายรูปแบบ ตั้งแต่ซึมเศร้า, หวาดกลัว, วิตกกังวล ไปจนหวาดระแวง ซึ่งอาจส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้ป่วยโดยตรง ทั้งการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์, เสพสารเสพติด ,ใช้ความรุนแรง, ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ไปจนการฆ่าตัวตาย
ด้วยเหตุนี้นี่จึงเป็นภาวะทางจิตร้ายแรงที่ในกรณีอาการหนักจำเป็นต้องรักษาและให้ความช่วยเหลือ
การรักษาโรค PTSD ปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
หลายท่านอาจสงสัยว่าแนวทางรับมือและรักษาผู้ป่วย PTSD เป็นอย่างไรบ้าง วันนี้เราจึงมาอธิบายวิธีการรัยมือโรคในปัจจุบันว่ามีวิธีการเช่นไร
- เรียนรู้การรับมือความเครียด
ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของผู้ป่วยที่ที่มีต่อโรค PTSD และสนับสนุนให้ค้นหาแนวรับมือจัดการความเครียด สร้างความผ่อนคลายแก่ผู้ป่วยเพื่อลดผลกระทบของอาการ ไปจนการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงอาการเจ็บป่วยที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ
- ขั้นตอนจิตบำบัด
แนวทางการรักษาทางจิตแบบเป็นขั้นตอน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วย PTSD ได้เรียนรู้ ยอมรับ ปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม แบ่งปันเรื่องราวความทุกข์ให้แก่ผู้ป่วยและกลุ่มบำบัด ไปจนการบำบัดด้วยเทคโนโลยีประเภท Virtual reality เพื่อเผชิญหน้ากับความกลัว
- การใช้ยา
อีกหนึ่งแนวทางในการรักษา PTSD คือการใช้ยารักษาซึมเศร้า จะช่วยควบคุมความเศร้ากับวิตกกังวลของผู้ป่วย รวมไปถึงยาในกลุ่มควบคุมอารมณ์ และยาลดความดันโลหิตบางชนิด อย่างไรก็ตามการใช้ยาจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด
เห็นได้ชัดว่าจากการรักษา PTSD ในปัจจุบันเน้นการยอมรับ ทำความเข้าใจ ช่วยให้ผู้ป่วยปรับตัวเป็นหลัก ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือและทำการรักษาต้นเหตุได้โดยตรง ทำให้กับกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงประเภททหารผ่านศึก การรักษาจะทำได้ไม่ตรงจุดและได้ผลลัพธ์ออกมาไม่ดีนัก
นี่เป็นสาเหตุนำไปสู่การคิดค้นอุปกรณ์ชนิดใหม่ที่มีส่วนช่วยในการควบคุมสมองเพื่อบรรเทาอาการ
อุปกรณ์ควบคุมสมองเพื่อลดอาการ PTSD
ผลงานนี้เป็นของบริษัท GreyMatters Health (GMH) ของอิสราเอล เจ้าของเทคโนโลยีบำบัดระบบประสาทรักษาความผิดปกติทางจิตด้วยระบบดิจิทัล พวกเขาประสบความสำเร็จในการพัฒนา Prism อุปกรณ์ชนิดใหม่ที่มีคุณสมบัติในการช่วยควบคุมการทำงานของสมองเพื่อรักษาอาการ PTSD
แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากการทำงานของสมองส่วน Amygdala ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของ ระบบลิมบิก มีหน้าที่ในการกำหนดอารมณ์และพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะ Amygdala ซึ่งรับหน้าที่เป็นส่วนหลักในการควบคุมอารมณ์และความทรงจำของบุคคลซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอาการ
การค้นพบนี้เกิดขึ้นจากการศึกษาผู้ป่วยที่มีอาการ PTSD ขั้นรุนแรง กลุ่มนี้ส่วนมากพบได้ในกลุ่มทหารผ่านศึก เมื่ออาการกำเริบสมองส่วน Amygdala จะได้รับการกระตุ้นให้ทำงานมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องกลับออกไปปฏิบัติการอีกครั้ง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ต้นตอของอาการ
Prism จะเข้าไปลดการทำงานและส่งสัญญาณของสมองในส่วน Amygdala โดยตรง มีส่วนในการปรับปรุงระดับอารมณ์และความยึดติดที่เกิดขึ้นกับภาพความทรงจำในอดีต เมื่อใช้งานไปสักพักจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมารู้สึกสงบโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา และจะช่วยเป็นแนวทางใหผู้ป่วยเรียนรู้การปรับสภาพจิตใจและอารมณ์ต่อไป
เป้าหมายการทำงานของอุปกรณ์ชนิดนี้คือ การให้ผู้ป่วยเรียนรู้ความรู้สึกเหล่านี้แล้วปรับระดับอารมณ์ให้เป็นปกติ เมื่อได้รับการบำบัดซ้ำๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้ในการควบคุมสภาพอารมณ์และการกำเริบของอาการ PTSD และสามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติสุขได้
นอกจากนี้ Prism ไม่ใช่เพียงอุปกรณ์ที่อยู่ในขั้นทดลอง แต่ได้รับการอนุมัติให้ใช้งานแล้วจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ(FDA) คาดว่าจะเตรียมพร้อมสำหรับจัดจำหน่ายภายในปี 2024 ให้บริการโดยคลินิกเอกชนเน้นผู้ป่วยนอกเป็นหลัก โดยมีเจ้าหน้าที่ผ่านการฝึกอบรมการใช้งานเฉพาะเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตามในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและรักษา PTSD กล่าวว่า Prism อาจไม่เหมาะแก่การใช้งานกับทุกคน ด้วยการรักษาอาการทางจิตเวชจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละบุคคล การรักษาด้วยอุปกรณ์อาจถือเป็นการรุกล้ำเกินไปสำหรับผู้ป่วยบางราย ซึ่งอาจเป็นผลร้ายต่อการรักษาในระยะยาวแทน
ถึงแบบนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Prism เป็นอุปกรณ์ช่วยรักษาอาการ PTSD โดยตรงเป็นทางแรก ที่อาจช่วยทหารผ่านศึกและผู้ป่วยมากมายที่ต้องทุกข์ทรมานจากอาการนี้ อีกทั้งในอนาคตข้อมูลส่วนนี้อาจช่วยให้ทีมวิจัยพัฒนาอุปกรณ์รับมือโรคจิตเวชชนิดอื่น เช่น ซึมเศร้า, วิตกกังวล, หวาดกลัว ฯลฯ เปิดโอกาสในการช่วยเหลือผู้ป่วยอีกมากในอนาคต
ที่มา
https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/PTSD
https://www.timesofisrael.com/fda-okays-israel-developed-brain-modulation-device-to-treat-ptsd/