ความก้าวหน้าทางการแพทย์จากโควิด สู่ยุคสมัยแห่ง mRNA
เราต่างคุ้นเคยกับคำว่า mRNA จากการระบาดของโควิด คนส่วนใหญ่ล้วนผ่านการฉีดวัคซีนนี้มาไม่น้อยกว่า 1 เข็มจนไม่อาจปฏิเสธขีดความสามารถของเทคโนโลยีนี้ แต่ล่าสุดกำลังจะได้ยกระดับไปอีกขั้น เมื่อ mRNA กำลังจะทำให้เรามีวัคซีนมะเร็งและโรคหัวใจในอีกไม่กี่ปี
เชื่อว่าปัจจุบันทุกท่านย่อมรู้จักหรือคุ้นเคยกับคำว่า mRNA ภายหลังการระดมฉีดวัคซีนเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่แกะกล่องที่เราอนุมัติให้ได้รับการใช้งานอย่างเร่งด่วน เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่เราไม่เคยรู้จัก ผลักดันสังคมให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตัดสินใจนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยง เห็นได้จากที่ผู้ได้รับวัคซีนเกิดผลข้างเคียงไม่คาดฝันอยู่หลายราย ในกรณีร้ายแรงถึงขั้นเกิดปัญหากับในระดับกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กระนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับการติดโควิดเราก็ยังยินดีรับความเสี่ยง เป็นเหตุให้เกิดการฉีดแพร่หลายเป็นวงกว้าง
นี่จึงเป็นเป็นก้าวกระโดดแห่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่เกิดจากโควิด
ต้องยอมรับว่านี่เป็นผลพวงอีกด้านจากการระบาดของโควิด แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและชีวิตไปมากมาย แต่ความร่วมแรงร่วมใจและเงื่อนไขที่เกิดขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ครั้งใหญ่เช่นกัน
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากเม็ดเงินมหาศาลพากันหลั่งไหลสู่อุตสาหกรรม ในช่วงวิกฤติการณ์โควิดทุกชาติต่างทุ่มทรัพยากรในการคิดค้นวัคซีนจนออกมาเป็นวัคซีนโควิดได้สำเร็จ แต่ผลพวงความก้าวหน้านั้นสามารถนำไปต่อยอดได้มากมาย โดยเฉพาะวัคซีนชนิดใหม่ที่ได้รับการพัฒนาจากเทคโนโลยี mRNA
ที่ผ่านมาเทคโนโลยีการส่งสารพันธุกรรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เคยเป็นเพียงแนวคิด จำเป็นต้องใช้เวลาศึกษาวิจัยและผลักดันอีกพักใหญ่ แต่ด้วยการกระตุ้นของเม็ดเงินในการพัฒนาโควิด เงื่อนไขในการพัฒนาจึงสามารถทำได้ราบรื่นและรวดเร็วอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
นอกจากความสำเร็จในการผลักดันและพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว อีกส่วนที่สำคัญคือการฉีดวัคซีน mRNA แพร่หลายทั่วทุกมุมโลก ช่วยให้บรรดานักวิจัยได้รับข้อมูลตัวอย่างผลการศึกษาและผลข้างเคียงจำนวนมหาศาล ขั้นตอนการทดลองทางคลินิกหรือขออนุมัติความปลอดภัยจากองค์การอาหารและยาถูกเร่งรัดข้ามขั้น ย่นระยะเวลาการพัฒนาลงเป็นจำนวนมาก
นี่จึงเป็นสาเหตุให้จากนี้อีกไม่กี่ปีแนวโน้มการพัฒนาวัคซีน mRNA จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ขยายความเป็นไปได้จากวัคซีนให้ไร้ขีดจำกัด สู่วัคซีนป้องกันมะเร็ง
ฟังดูน่าทึ่งเมื่อเรากำลังจะข้ามขั้นจากการรักษาโรคร้ายแรงไปเป็นการคิดค้นวัคซีนสำหรับป้องกัน แต่นั่นอาจเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจากแนวโน้มพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ แม้โรคนานาชนิดเราอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่อาจผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดเนื้องอกที่จะช่วยชีวิตผู้คนได้อีกมหาศาล
ส่วนนี้เกิดขึ้นจากกลไกการทำงานของวัคซีน mRNA เราสามารถฉีดเซลล์สร้างโปรตีนเพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ช่วยให้ร่างกายเรียนรู้วิธีการรับมือกับโรคอุบัติใหม่หรือโรคหายากที่เราไม่สามารถพัฒนายารักษาแบบโควิดได้สำเร็จ ส่วนนี้เองที่จะได้รับการต่อยอดและนำไปใช้พัฒนาวัคซีนชนิดอื่น
วัคซีนที่ได้รับความสนใจในการพัฒนาอย่างยิ่งคือ วัคซีนมะเร็ง เราทราบดีว่าการรักษามะเร็งทำได้ยาก ด้วยเซลล์มะเร็งเกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ในร่างกายผู้ป่วย ทำให้การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้นับร้อยพันรูปแบบ รวมกับความแตกต่างของร่างกายผู้ป่วยแต่ละบุคคลการรักษาจึงทำได้ยาก
แต่ความพิเศษของเทคโนโลยี mRNA ของบริษัท Moderna ในการผลิตวัคซีนมะเร็งคือ สามารถทำวัคซีนเจาะจงเฉพาะบุคคลได้
โดยในขั้นแรกเมื่อเกิดเนื้องอกขึ้นภายในร่างกายผู้ป่วย แพทย์สามารถทำการตัดชิ้นเนื้อคล้ายกับการทดสอบเนื้องอกอันตราย จากนั้นเมื่อทำการส่งไปยังห้องเพาะเชื้อจะช่วยจัดลำดับและระบุการกลายพันธุ์อันตรายจากเซลล์มะเร็งนั้นๆ เมื่อวิเคราะห์องค์ประกอบความผิดปกติ ก่อนนำมาผลิตเป็นสารพันธุกรรมฉีดเข้าสู่ร่างกาย
ผลลัพธ์ที่เกิดคือภูมิคุ้มกันจะได้รับการกระตุ้น ระบุว่าเซลล์แปลกปลอมชนิดเดียวกับที่ได้รับการฉีดเป็นอันตราย จากนั้นจะเริ่มการทำลายเซลล์มะเร็งที่เติบโตภายในร่างกายผู้ป่วยอย่างแม่นยำ การตอบสนองของภูมิคุ้มกันจะช่วยทำลายเซลล์มะเร็งโดยไม่ส่งผลกระทบต่อเซลล์แข็งแรงส่วนอื่นในร่างกาย แตกต่างจากกรรมวิธีรักษามะเร็งชนิดอื่นที่อาจสร้างความเสียหายแก่ร่างกายอย่างมหาศาล
เราจึงพูดได้เต็มปากว่าในอนาคตวัคซีน mRNA อาจเป็นหมุดหมายสำคัญในการรักษามะเร็งเลยทีเดียว
วัคซีนนานาชนิดที่จะได้รับการพัฒนาตามมา
แนวโน้มการพัฒนาวัคซีนจากเทคโนโลยี mRNA ไม่ได้จบแค่มะเร็ง แม้นี่จะเป็นโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปเป็นอันดับหนึ่ง แต่แนวโน้มการพัฒนาวัคซีนยังสามารถใช้งานได้หลากหลายกว่านั้น ทั้งจากบริษัทยาที่ได้รับอานิสงค์ครั้งใหญ่จากการระบาด หรือบรรดายักษ์ใหญ่ที่มองเห็นลู่ทางจากเม็ดเงินส่วนนี้
เริ่มจากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เพิ่งเข้ามาจับธุรกิจเวชภัณฑ์อย่าง Amazone ที่เริ่มมุ่งเป้าความสนใจในด้านการแพทย์ ได้พัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งขึ้นมาแล้วเช่นกัน โดยในชุดแรกเป็นวัคซีนมะเร็งเต้านมและมะเร็งผิวหนัง โดยอยู่ในขั้นทดสอบกับกลุ่มอาสาสมัครเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ตรวจสอบผลกระทบและประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีต่อผู้ป่วย
ที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กันคือผลงานจากทีมวิจัยแห่ง University of California แห่ง Los Angeles ได้นำเทคโนโลยี mRNA มาใช้ในการพัฒนายารักษาอาการภูมิแพ้ โดยได้พัฒนายาที่ส่ง mRNA ของสารที่เกิดการแพ้เข้าสู่ร่างกายเพื่อให้เกิดการปรับตัวเข้ากับผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ถั่ว เพื่อสร้างภูมิต้านทานแก่ผู้ป่วยและเป็นความหวังให้เกิดการรักษาหายขาดได้ในอนาคต
และจะขาดไปไม่ได้กับบริษัทยาชื่องดัง Moderna กับการประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ภายหลังคิดค้นวัคซีนโควิด ความก้าวหน้านี้ทำให้ทางบริษัททำการคิดค้นวัคซีนชนิดใหม่ขึ้นมากมาย นอกจากวัคซีนมะเร็งยังมี วัคซีนเริม, วัคซีนงูสวัส, วัคซีนโรคภูมิคุ้นกันทำลายตนเอง หรือแม้แต่วัคซีนหลอดเลือดหัวใจ ทั้งหมดล้วนอยู่ในกระบวนการพัฒนาทั้งสิ้น
เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของ Moderna ยืนยันว่าวัคซีน mRNA จะเป็นบทใหม่สำหรับเทคโนโลยีการแพทย์ ช่วยให้พัฒนาวัคซีนคุณภาพสูงเพื่อรักษาชีวิตผู้คนได้อีกนับล้าน จากวัคซีนนานาชนิดที่กำลังอยู่ในขั้นตอนค้นคว้าวิจัย และอาจกลายเป็นทางออกใหม่สำหรับโรคที่ยังไม่มีวิธีรักษาอีกมากมายในปัจจุบัน
พวกเขาคาดว่าวัคซีน mRNA จะเปิดทางเลือกในการรักษาใหม่ให้แก่ผู้คนจากนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้า และหากยังสามารถรักษาระดับการพัฒนานี้ไว้ได้ เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้เราระบุสาเหตุของโรคทางพันธุกรรม รวมถึงค้นหาขั้นตอนและกรรมวิธีรักษาให้หายขาดได้ต่อไปในอนาคต
ฟังดูน่าทึ่งแต่นี่คือเรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้นจริง เมื่อวัคซีนมะเร็งซึ่งเราเคยได้ยินแต่ในสื่อบันเทิงกำลังจะได้รับการพัฒนาออกมา เมื่อล่าสุดทาง FDA ของสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้วัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคลของ Moderna ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย จึงคาดว่าอาจเริ่มมีการทดสอบทางคลินิกในอีกไม่ช้า
ดังนั้นแม้ไม่อยากยอมรับแต่การระบาดของโควิดก็ถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการแพทย์ให้ก้าวหน้าอย่างแท้จริง
ที่มา
https://newsroom.ucla.edu/releases/nanoparticle-mrna-possible-treatment-peanut-allergies
https://www.posttoday.com/innovation/1381
https://www.posttoday.com/innovation/1262