ติวเตอร์จาก ChatGPT โอกาสในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา?
ศักยภาพของ ChatGPT เข้ามาปั่นป่วนหลายวงการโดยเฉพาะแวดวงการศึกษา ทำให้เกิดการสั่งห้ามใช้งานและปรับหลักสูตรกันจ้าละหวั่น ตรงข้ามกับบางแห่งที่เริ่มเรียนรู้ปรับตัวเข้าหาและใช้ประโยชน์ จนล่าสุดเริ่มมีการนำเสนอติวเตอร์จาก Chatbot เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
หนึ่งในวงการที่ได้รับแรงสั่นสะเทือนมากที่สุดในการมาถึงของ ChatGPT คือ แวดวงการศึกษา ตั้งแต่การใช้เอไอตัวนี้ในการทำการบ้าน ช่วยเขียนเรียงความตามหัวข้อที่กำหนด หรือแม้แต่การเขียนบทวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ปลอม นำไปสู่การปลอมแปลงข้อมูลเอกสารตามมามากมาย
ล่าสุดกลับมีข้อโต้แย้งว่าทั้ง ChatGPT และเทคโนโลยี Chatbot อาจไม่ได้มีผลกระทบในเชิงลบท่าเดียว แต่อาจสามารถใช้พัฒนาให้มีส่วนร่วมทางการศึกษา และหากได้รับการใช้งานอย่างถูกวิธีอาจเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ชิ้นสำคัญได้เช่นกัน
วันนี้เราจึงจะพาไปดูว่า ChatGPT สามารถสร้างผลกระทบต่อวงการศึกษาในแง่มุมใดได้บ้าง
ข้อเสียของ ChatGPT ทำการบ้านสะดวกสบายแค่ปลายนิ้ว
นับแต่การเปิดตัวเทคโนโลยี ChatGPT เป็นต้นมา กลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบในทางตรงคือแวดวงการศึกษา สาเหตุมาจากโพสบนอินเทอร์เน็ต ที่มีนักศึกษารายหนึ่งใช้ประโยชน์จาก ChatGPT เพื่อช่วยเหลือในการทำการบ้านและเขียนเรียงความ ช่วยให้เขาได้เกรด A และย่นเวลาสำหรับทำการบ้านลงอย่างมาก จนกลายเป็นข้อถกเถียงขนาดใหญ่ในสังคม
เรื่องนี้ถือเป็นการสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อสถานศึกษาจำนวนมาก เราทราบดีว่าเรียงความและรายงานคือส่วนสำคัญของคะแนนและเกรด ยังไม่รวมว่าอาจารย์หลายท่านนิยมให้อิสระแก่นักเรียนโดยการให้โจทย์และทำการทดสอบที่บ้าน โดยเฉพาะการสอบในช่องทางออนไลน์ ทำให้สะดวกต่อการโกงโดยใช้งาน ChatGPT อย่างยิ่ง
สิ่งนี้ก่อให้เกิดความกังวลต่อแวดวงการศึกษาทั่วโลก ความกว้างขวางรอบด้านในการใช้งานทำให้เป็นไปได้สูงว่า นักเรียนอาจใช้เอไอนี้ช่วยทำการบ้าน เฉลยบทเรียน ไปจนแบบฝึกหัดต่างๆ ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบประเมินการศึกษาจนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
เริ่มจากการปรับปรุงหลักสูตรที่เคยมีทั้งหมดแบบปัจจุบันทันด่วน จากเดิมที่สามารถตรวจวัดความรู้ความเข้าใจของนักเรียนจากรายงานและเรียงความ การวัดผลจึงเริ่มปรับทิศทางสู่การสอบปากเปล่า กิจกรรมภายในห้องเรียน หรือสั่งให้นักเรียนต้องทำการเขียนด้วยลายมือ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก ChatGPT
แน่นอนมีการพัฒนาโปรแกรมตรวจจับเพื่อรับมือบทความที่เขียนจาก ChatGPT แต่หลายครั้งก็ไม่ได้ผลนัก นำไปสู่การเปลี่ยนวิธีการจัดสอบของมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย และสั่งแบนการใช้งาน ChatGPT ภายในโรงเรียนของนิวยอร์กของสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ในทางทุจริต
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ภาพลักษณ์ ChatGPT ในสายตานักการศึกษาจะไม่ดีเสียเท่าไหร่
การใช้ประโยชน์จาก ChatGPT ในแวดวงการศึกษา
การใช้ประโยชน์ ChatGPT แทนที่การสั่งห้ามเป็นอีกแนวคิดที่ได้รับการพูดถึง อาจารย์หลายท่านมองในมุมกลับว่า พวกเขาไม่สามารถห้ามปรามนักเรียนนักศึกษาในการใช้เอไอทำงานไปตลอด จึงเริ่มเปลี่ยนแนวคิดและหันมาใช้ประโยชน์ ChatGPT เพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษาเช่นกัน
นั่นทำให้หลังเกิดการปรับเปลี่ยนหลักสูตรครั้งใหญ่ในภาคเรียนนี้ อาจารย์หลายท่านจึงมีแผนในการนำเอไอเจ้าปัญหาอย่าง ChatGPT มาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอน เช่น การนำบทความหรือเนื้อหาจากเอไอมาวิพากษ์อภิปรายภายในห้องเรียน หรือการลองเรียนรู้แนวคิดของปัญญาประดิษฐ์ที่มีต่อปัญหาในวิชานั้นๆ
ล่าสุดจากการนำเสนอของ Khan Academy หนึ่งในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พวกเขาได้ทดลองใช้โมเดลอัพเกรด อย่าง GPT-4 จากทาง OpenAI นำไปสู่การพัฒนาเอไอติวเตอร์ Khanmigo ก่อนจะพบว่าเอไอที่ได้รับการเทรนมามีคุณสมบัติในการเป็นติวเตอร์ที่ดีให้แก่เด็กนักเรียน และสามารถสนับสนุนการเรียนการสอนได้
ส่วนนี้เกิดจากคุณสมบัติของ Khanmigo ที่ได้รับการเทรนและป้อนข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น ส่งผลให้เอไอมีคุณสมบัติในการเป็นติวเตอร์ที่ดีเหมือนคนจริง โดยเอไอสามารถดูและตรวจสอบงานของนักเรียน เพื่อระบุข้อผิดพลาดในแบบฝึกหัดหรือโจทย์ที่ได้รับ สามารถตรวจสอบความถูกต้องและชี้ให้เห็นจุดผิดพลาดของคำตอบข้อนั้นๆ
Khanmigo ได้รับการบรรจุข้อมูลให้สามารถอธิยาย ไขข้องใจ และแสดงวิธีทำที่ถูกต้องแก่ผู้เรียนในกรณีตรวจพบข้อผิดพลาดนั้นๆ โดยเอไอจะทำการชี้แจงในระดับภาษาและฐานข้อมูลที่สอดคล้องกับระดับการศึกษาที่ตั้งค่าไว้ของนักเรียนคนดังกล่าว ช่วยเพิ่มเติมความเข้าใจและให้โอกาสในการแก้ไขจุดผิดพลาดง่ายดายยิ่งขึ้น
สำหรับจุดอ่อนสำคัญที่ได้รับการพูดถึงเป็นวงกว้างของ ChatGPT อย่าง คณิตศาสตร์ ส่วนนี้ Khanmigo ได้รับการเทรนข้อมูลจากทีมงานให้เรียนรู้และหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด ช่วยให้สามารถแสดงวิธีทำทีละขั้นตอนอย่างละเอียดและถูกต้อง ไปจนออกแบบโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ในระดับใกล้เคียงกับอาจารย์ผู้สอนได้อีกด้วย
ดังนั้นการมีอยู่ของเอไอตัวใหม่ Khanmigo นี้จึงมีคุณค่าใกล้เคียงกับการมีติวเตอร์ส่วนตัวเลยทีเดียว
แนวทางใหม่ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
จุดเด่นของเอไอ Khanmigo ได้รับการยืนยันจากนักเรียนและอาจารย์ภายในโครงการทดสอบ ระบบการทำงานของปัญญาประดิษฐ์นี้ได้รับการออกแบบให้ใกล้เคียงกับติวเตอร์มืออาชีพ มีความรู้และศักยภาพในการสอน, อธิบาย, ตั้งโจทย์ ไปจนวัดระดับความรู้ ซึ่งจะช่วยมอบโอกาสในการเรียนรู้ครั้งใหญ่แก่นักเรียน
เราทราบกันดีว่าปัจจุบันความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเกิดขึ้นสูงมาก โดยเฉพาะกับประเทศแถบเอเชียซึ่งให้ความสำคัญกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย การเรียนติวเสริมและกวดวิชายิ่งขยายความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างไม่รู้จบ ส่งผลให้เด็กที่ครอบครัวมีฐานะขัดสนยากจะส่งเสริมจนขาดโอกาสต่อยอดพัฒนาความสามารถ
แต่ปัญหาทั้งหมดจะเบาบางลงหากเอไอ Khanmigo ได้รับการผลักดันให้สามารถใช้งานทั่วไปได้สำเร็จ
อย่างที่เราทราบการใช้งาน ChatGPT สะดวกเป็นอย่างยิ่ง เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับเทคโนโลยีสามารถเข้าถึงได้ง่าย ติวเตอร์เอไอจึงน่าจะเข้าถึงเด็กนักเรียนจำนวนมากเพียงมีอุปกรณ์รองรับและสามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาหาความรู้เป็นอย่างมาก
หากได้รับการสนับสนุนจน Khanmigo สามารถใช้งานได้ทั่วไป ระบบนี้จะช่วยส่งเสริมเด็กที่ขาดทุนทรัพย์ให้สามารถเข้าถึงบทเรียน เนื้อหา และคำอธิบายจุดผิดพลาดในความเข้าใจ อีกทั้งยังสามารถขอให้เอไอสร้างบทเรียนและแบบฝึกหัดจากระดับความรู้ของผู้เรียน เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้เหมาะสมตรงจุดเป็นรายบุคคล
ด้วยสิ่งนี้นักเรียนที่มีข้อสงสัยและขาดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหา จะสามารถได้รับคำอธิบายเพิ่มเติมได้ง่าย สะดวกต่อการทบทวนเนื้อหาในบทเรียน ไปจนการโต้แย้งอภิปรายหัวข้อต่างๆ ใกล้เคียงกับการมีติวเตอร์ส่วนบุคคลมาคอยสอนตัวต่อตัวถึงบ้าน แต่ติวเตอร์คนดังกล่าวเข้าถึงง่าย สามารถตอบคำถามเราได้ทุกวิชา และพร้อมทำการสอนตลอด 24 ชั่วโมง
นี่เองคือจุดที่ทาง Khan Academy เล็งเห็นประโยชน์และสามารถใช้ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงติวเตอร์อัจฉริยะที่พร้อมให้บริการเราตลอดเวลาได้เพียงแค่มีอุปกรณ์และเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อาจสามารถผลักดันผู้เรียนโดยไม่เกี่ยงฐานะอีกต่อไป
ในอนาคตนี่อาจกลายเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการเรียนพิเศษกวดวิชาก็เป็นได้
แน่นอนทั้งหมดเป็นเพียงแนวคิดยังต้องได้รับการพัฒนาและพิสูจน์อีกหลายด้าน ทั้งในด้านตัวเอไอเอง อาจารย์ผู้สอนที่จำเป็นต้องปรับตัว ไปจนนักเรียนที่จะเก็บเกี่ยวประโยชน์และใช้งานระบบนี้ได้แค่ไหน เพราะหากนำมาใช้อย่างผิดวิธีก็อาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่คนกำลังกังวลได้เช่นกัน
ที่มา
https://waymagazine.org/chatgpt-change-how-universities-teaching/
https://www.wsj.com/articles/ai-bot-chatgpt-needs-some-help-with-math-assignments-11675390552
https://interestingengineering.com/innovation/gpt-4-ready-to-be-tutor-sal-khan