posttoday

Hyperloop จากโครงการในฝันที่ถูกยกเลิก สู่ความเป็นจริงในจีน

24 พฤษภาคม 2566

Hyperloop ถือเป็นโครงสร้างเส้นทางคมนาคมแห่งอนาคต เทคโนโลยีที่ดูเพ้อฝันแต่เริ่มขยับเข้าใกล้ความจริงทีละก้าว น่าเสียดายที่เจ้าของแนวคิดอย่าง อีลอน มัสก์ ดูจะถอดใจยอมแพ้ แต่ล่าสุดจีนได้นำเทคโนโลยีนี้ไปพัฒนาต่อจนพร้อมเปิดให้ใช้บริการในไม่ช้า

เชื่อว่าหลายท่านอาจเคยได้ยินโครงการ Hyperloop กันมาบ้าง อีกหนึ่งโครงการที่ได้รับการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่จากมหาเศรษฐีเลื่องชื่อ อีลอน มัสก์ เทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจล้นหลามว่านี่อาจเป็นหนึ่งในระบบคมนาคมแห่งอนาคตที่สะดวกและรวดเร็ว สุดท้ายกลับไม่อาจถึงฝั่งฝันเมื่อทางต้นตำรับกลับทำท่าจะล้มเลิกโครงการ

 

          แต่อาจไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป เมื่อล่าสุดจีนประสบความสำเร็จในการพัฒนา Hyperloop และอาจเปิดให้ใช้งานในไม่ช้า

 

Hyperloop จากโครงการในฝันที่ถูกยกเลิก สู่ความเป็นจริงในจีน

 

Hyperloop คืออะไร? มีหลักการทำงานอย่างไร?

 

          Hyperloop ถือเป็นโครงการล้ำยุคที่ช่วยยกระดับการคมนาคมชนิดก้าวกระโดดจนถูกขนานนามว่า อนาคตแห่งการขนส่ง ด้วยรูปแบบการเดินทางผ่านอุโมงค์สุญญากาศผ่านกระสวยที่สร้างขึ้นเป็นการเฉพาะ มีคุณสมบัติในการเดินทางไปสู่จุดหมายได้ภายในเวลาอันสั้น

 

          รูปแบบการทำงานของ Hyperloop เกิดจากเทคโนโลยี Magnetic Levitation(Maglev) ระบบลอยตัวกลางอากาศจากพลังงานสนามแม่เหล็ก ช่วยให้ยานพาหนะภายในระบบไม่ต้องใช้ล้อ ในระยะเริ่มต้นตัวรถจะขับเคลื่อนผ่านกำลังไฟฟ้า จากนั้นก็สามารถปล่อยแคปซูลให้ไหลตามแรงไปตามธรรมชาติ

 

          จุดเด่นของระบบขับเคลื่อนรูปแบบนี้คือ การวิ่งโดยไร้แรงต้าน ด้วยการเคลื่อนที่แบบลอยตัวไม่จำเป็นต้องอาศัยล้อในการขับเคลื่อนสร้างแรงส่ง อีกทั้งยังเดินทางภายในอุโมงค์สุญญากาศ ทำให้ไม่เกิดแรงต้านทั้งจากแรงเสียดทาน กระแสลม หรือแรงดันอากาศ ช่วยให้สามารถเร่งและรักษาระดับความเร็วสูงสุดเอาไว้ได้โดยง่าย

 

          ตัวท่ออาจใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงก็จริง แต่กินพื้นที่ในการสร้างอุโมงค์ค่อนข้างน้อย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 3 เมตร สามารถสร้างได้ทั้งบนพื้นดินและใต้ดิน จึงใช้พื้นที่น้อยกว่าถนนและรางรถไฟแบบดั้งเดิมมาก คาดว่าสามารถทำความเร็งได้มากกว่า 1,200  กิโลเมตร/ชั่วโมงเลยทีเดียว

 

          นอกจากนี้ Hyperloop ยังใช้พลังงานไฟฟ้าและแม่เหล็กซึ่งเป็นพลังงานสีเขียวเต็มรูปแบบ จึงสามารถเดินทางได้โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ประหยัดพลังงานเพราะใช้พลังงานในการรักษาระดับความเร็วน้อย รวมถึงทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไปจนภัยพิบัติต่างๆ จึงถือเป็นแนวทางการขนส่งคมนาคมแห่งอนาคตอย่างแท้จริง

 

Hyperloop จากโครงการในฝันที่ถูกยกเลิก สู่ความเป็นจริงในจีน

 

จุดสะดุดแห่งความฝัน เมื่อต้นแบบ Hyperloop ถูกรื้อทิ้ง

 

          แนวคิด Hyperloop ได้รับการเปิดตัวครั้งแรกจาก อีลอน มัสก์ โดยบริษัท SpaceX ในปี 2012 ด้วยข้อโต้แย้งว่า รถไฟความเร็วสูงที่เป็นเมกะโปรเจคในหลายประเทศมีราคาแพงและช้าจนไม่คุ้มทุน จึงได้นำเสนอแนวทางการใช้งานยานพาหนะชนิดใหม่ที่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น

 

          แรกสุดหลายคนต่างมองว่าแนวคิดนี้เป็นเรื่องเพ้อฝัน จนทาง SpaceX ได้พัฒนาตัวต้นแบบความยาว 1 ไมล์ในปี 2016 รวมถึงจัดการแข่งขันออกแบบกระสวยหรือแคปซูลที่ใช้คู่กับ Hyperloop ดึงดูดความสนใจจากรอบด้านตั้งแต่สื่อไปจนบริษัทเทคโนโลยีมากมาย จนคนจำนวนมากเริ่มมองเห็นอนาคตของเทคโนโลยีนี้

 

          ทางฝั่งอีลอน มัสก์เองก็ได้ดำเนินโครงการ เริ่มดำเนินการการขุดเจาะเพื่อวางรากฐาน พัฒนาเส้นทางขนส่งรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ถึงขั้นบริษัท Boring Company ของเขาได้รับใบอนุญาตให้ขุดเจาะพื้นที่ภายในเส้นทางเชื่อมต่อระหว่าง นิวยอร์ก และ วอชิงตัน แล้วเช่นกัน

 

          น่าเสียดายที่สุดท้ายโปรเจคนี้ในมือของอีลอนกลับไปไม่ถึงฝั่ง เมื่อสุดท้ายเขากลายเป็นฝ่ายลดความสำคัญในเทคโนโลยีนี้ลง ตั้งแต่การรื้ออุโมงค์ต้นแบบที่ถือเป็นสัญลักษณ์เพื่อนำไปสร้างลานจอดรถ ไปจนบริษัทสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับ Hyperloop ทยอยปิดตัวหรือเปลี่ยนแนวทางธุรกิจกันไม่น้อย

 

          ทำเอาหลายท่านตั้งคำถามว่าที่สุดแล้วโครงการ Hyperloop จะไม่ได้ไปต่อและมีโอกาสเกิดจริงอย่างนั้นหรือ?

 

 

          แนวทางการพัฒนาของบริษัทอื่น และความสำเร็จของประเทศจีน

 

          ภายหลังการรื้อ Hyperloop ตัวต้นแบบออกย่อมทำให้เกิดคำถามมากมายภายในวงการ แต่ทางบริษัท Boring Company ยืนยันว่า โครงการ Hyperloop ยังคงอยู่และกำลังเข้าสู่ช่วงทดสอบเต็มรูปแบบ กระนั้นก็ไม่ได้มีรายละเอียดออกมาให้ชมเพิ่มเติม ทั้งความสำเร็จและผลการทดสอบจนทำให้เกิดข้อกังขาว่ายังอยู่ในการดำเนินงานจริงหรือไม่

 

          แต่ใช่ว่าจะไร้หนทางเสียทีเดียวเมื่อบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งต่างกระโจนเข้ามาลงสนามด้วยเช่นกัน

 

          นอกจาก Boring Company แล้วยังมีอีกหลายเจ้าที่ให้ความสนใจเทคโนโลยี Hyperloop จนตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาขึ้นมา เช่น Virgin Hyperloop บริษัทในเครือ Virgin Group ที่อ้างว่า Hyperloop ของพวกเขาทำความเร็วได้สูงสุดถึง 1,070 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ HyperloopTT ที่คาดว่าจะทำความเร็วมากสุดได้ถึง 1,300 กิโลเมตร/ชั่วโมงเลยทีเดียว

 

          แน่นอนไม่ใช่เพียงสหรัฐฯประเทศอื่นต่างให้ความสนใจเทคโนโลยีนี้เช่นกันโดยเฉพาะจีน ท่ามกลางความสนใจในการพัฒนาของทั่วโลก จีนถือเป็นประเทศแรกที่ประสบความสำเร็จในการทดสอบเทคโนโลยี Hyperloop แม้จะเป็นเพียงในระดับความเร็ว 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง และระยะทางเพียง 210 เมตร แต่ถือเป็นก้าวสำคัญช่วยให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีนี้เต็มตัว

 

          ล่าสุดจีนได้อนุมัติให้ทำการสร้าง Hyperloop ขบวนแรกและเตรียมพร้อมสำหรับเปิดใช้บริการแล้วเช่นกัน

 

Hyperloop จากโครงการในฝันที่ถูกยกเลิก สู่ความเป็นจริงในจีน

 

 

          สู่ฝันที่เป็นจริง Hyperloop ขบวนแรกในประวัติศาสตร์

 

          หน่วยงานที่ให้ความสนใจแก่เทคโนโลยีนี้คือ Chinese Academy of Engineering ซึ่งกำลังผลักดัน Hyperloop นี้ให้เป็นจริง ภายหลังประสบความสำเร็จจากการทดสอบ เป้าหมายต่อไปของพวกเขาคือการสร้าง Hyperloop ไว้ใช้สำหรับเชื่อม เซี่ยงไฮ้ และ หางโจว เข้าด้วยกันเป็นที่แรก

 

          ระยะทางของ Hyperloop ชุดแรกที่จะทำการสร้างคือ 175 กิโลเมตร ระยะทางซึ่งหากเดินทางผ่านรถยนต์จะใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ต่อให้เป็นรถไฟความเร็วสูงที่ให้บริการในปัจจุบันก็ต้องกินเวลา 1 ชั่วโมง แต่ด้วย Hyperloop คาดว่าจะช่วยย่นระยะเวลาเดินทางให้เหลือเพียง 15 นาที

 

          ส่วนนี้คาดว่าได้รับอานิสงค์มาจากการขยายตัวของรถไฟความเร็วสูงภายในประเทศ ช่วยให้จีนมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการคิดค้นวิจัยวิศวกรรมขั้นสูง สนับสนุนแนวคิดในการสร้างเทคโนโลยี Hyperloop จนสามารถพัฒนาให้ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

 

          แน่นอนการสร้าง Hyperloop ขึ้นใช้งานของพวกเขาจะไม่ได้จบลงเส้นเดียว หากทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นทางบริษัทมีแนวคิดพัฒนาอีกหลายเส้นทาง เช่น ปักกิ่ง-ฉือเจียจวง และ กวางโจว-เซินเจิ้น เชื่อมต่อศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งสำคัญเพื่อผลักดันภูมิภาคให้เป็นศูนย์กลางของเอเชีย และบรรเทาปัญหาความแออัดคับคั่งของการจราจรในปัจจุบัน

 

          คาดว่า Hyperloop สายแรกจะได้รับการสร้างจะแล้วเสร็จพร้อมสำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์ภายในปี 2035

 

 

          แน่นอนทั้งหมดเป็นเพียงคาดการณ์เป็นไปได้ว่าถึงเวลาอาจติดขัดไปต่อไม่ได้ เช่นเดียวกับ Boring Company ที่เคยได้รับอนุญาตให้ทำการสร้างแต่ก็เกิดการหยุดชะงักจนเงียบหายไป แต่เมื่อประเมินจากความสำเร็จของจีนในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่ผ่านมา เป็นไปได้เช่นกันว่าอาจสามารถทำตามกำหนดการนี้ได้จริง

 

          จากนี้คงต้องมารอดูกันว่าจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเต็มตัว หรือสหรัฐฯจะตีตื้นและชิงความเป็นหนึ่งในเทคโนโลยี Hyperloop กลับมาได้

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.washingtonpost.com/local/trafficandcommuting/dc-has-given-elon-musk-a-permit-to-do-a-little-digging-for-the-hyperloop/2018/02/16/ee8d2f08-1359-11e8-9570-29c9830535e5_story.html?utm_term=.ee4031e1f566

 

          https://blog.pttexpresso.com/what-is-hyperloop/

 

          https://edition.cnn.com/travel/article/virgin-hyperloop-video-scli-intl/index.html

 

          https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-11-03/musk-s-spacex-dismantles-hyperloop-prototype-puts-up-a-parking-lot

 

          https://www.scmp.com/news/china/science/article/3207355/chinas-hyperloop-completes-first-test-runs-pushing-ahead-race-ultra-fast-land-transport

 

          https://interestingengineering.com/transportation/china-first-hyperloop-train