"นวัตกรรมรักษ์โลก ไทยอยู่จุดไหน" บทบาทที่รัฐต้องช่วยอุ้ม?
รวมความเห็นจากองค์กรชั้นนำ เจาะประเด็นแก้ปัญหาโลกรวนจากงานสัมมนา “Innovation Keeping the World: นวัตกรรมรักษ์โลก ไทยอยู่จุดไหน?”
สื่อเครือเนชั่น นำโดย สปริงนิวส์ได้จัดงานสัมมนา “Innovation Keeping the World นวัตกรรมรักษ์โลก ไทยอยู่จุดไหน?” จบครบทุกประเด็นรับมือ “โลกรวน” ในวันพุธที่ 7 มิถุนายน 2566 เวลา 13.00-16.00 น. ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ
Session: การก้าวสู่ผู้ผลิตพลังงานสะอาด
ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เทคโนโลยีตัวแรกที่เราเอามาประยุกต์ใช้คือแผงโซลาร์ ปกติที่จะติดบนหลังคาหรือติดลงบนพื้นดิน แต่การไฟฟ้าเอาไปลอยน้ำ หรือโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ซึ่งข้อดีของการนำแผงโซลาร์ไปลอยน้ำคือช่วยประหยัดค่าที่ดินไปได้เยอะ พื้นที่ที่เหลือนำไปใช้กับการเกษตรหรือการอย่างอื่นได้
ขณะเดียวกันกฟผ. ยังเดินหน้าศึกษาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่นการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแอมโมเนียที่ไม่ปล่อยคาร์บอนระหว่างการเผาไหม้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน เช่น การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้ามาแปรรูปเป็นเมทานอลสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม โดยศึกษาใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น และ กฟผ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
ทั้งนี้ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีประสิทธิภาพสูง 20 กฟผ.จึงเตรียมยกระดับการจัดการใช้พลังงานของภาคประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและลดคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 โฉมใหม่ ที่แสดงค่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเครื่องใช้ไฟฟ้า
นวัตกรรมรักษ์โลก ไทยอยู่จุดไหน?
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ชี้ว่า นวัตกรรมที่เราสนับสนุนจะอยู่ที่Startup สองคือ SMEs ที่มีศักยภาพในการทำ Green Energy และกลุ่มที่สาม Social Enterprise กิจการเพื่อสังคม ถึงจุดหนึ่งที่เราพูดถึงเรื่องพวกนี้จะมีความเหลื่อมล้ำ ถ้าเรามองในภาพรวมส่วนหนึ่งจะเห็นได้ว่ากลุ่มที่สามารถพัฒนาแล้วก็สร้างเทคโนโลยีระดับโลกได้จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือองค์กรรัฐกึ่ง monopoly
หลายกรณีประเทศไทยไม่อนุญาตให้ทำอะไรหลายๆอย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องพลังงานหรือเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นศัพท์ใหม่ที่เกิดขึ้นในวงการ Startup อย่าง Climate Tech, Green Tech แต่ถึงเวลาจุดหนึ่ง Supply chain เป็นแบบเดิม แล้ว Supply chain แบบเดิมกฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้บอกว่าทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่บอกว่าถ้าไม่ได้เขียนกฎหมายไว้ถือว่าผิดไว้ก่อน ในหลายกรณีเทคโนโลนีจึงไม่เกิดเพราะไม่สามารถทำ Sandbox ให้ทดสอบทางนวัตกรรม กฎหมายจึงต้องเอื้อให้เกิดการทดสอบทางนวัตกรรม ให้ 3S (Startup, SMEs, Social Enterprise) เป็น Supply Chain ใหม่ มันจะทำให้ นวัตกรรมครบวงจร
ขณะที่ ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร โฆษกและผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศ GISTDA กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศว่าอุณหภูมิโลกสูงขึ้นทุกปี จากข้อมูลภูมิสารสนเทศและดาวเทียมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่าสถานการณ์ที่เราเจออยู่ปัจจุบันแทบจะล้างตำราทั้งหมดที่เราเคยเรียนมา ซึ่งปัจจุบัน สิ่งที่เราทำได้คือ เร่งปรับตัว และเรียนรู้จากสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เพื่อให้อุณหภูมิโลกลดลง ด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก
วิธีการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ต้องมองภาพรวมทั้งหมดเป็นภาพเดียวกัน การแก้ไขต้องแก้ทั้งระบบ หลังจากนี้จะมีดาวเทียมอีกกว่า 30 ดวง ที่สามารถตรวจวัดก๊าซเรือนกระจกได้ จะกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่นานาชาติใช้กำหนดนโยบาย เช่น การกีดกันการค้ากับประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ
ส่วนนายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ชี้ว่า สิ่งที่โลกกำลังเห็นอยู่ในเชิงของการเปลี่ยนเทคโนโลยี ถ้าเรามองในเรื่องการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก เทียบระหว่างปี 2017 และ 2022 ในปี 2017 รถยนต์สันดาปขายได้ที่ 85 ล้านคัน ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าขายได้ 1.2 ล้านคัน หรือเทียบเป็นอัตราส่วน 70:1 เมื่อข้ามมาที่ปี 2022 ยอดขายรถยนต์สันดาปทั่วโลกลดลงเหลือ 63 ล้านคัน เนื่องจากถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าที่ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 10.6 ล้านคัน และคาดว่าในปีนี้ยอดขายจะเพิ่มขึ้นแตะ 14 ล้านคัน
อันนี้คือเทรนด์ที่เปลี่ยนไปจากสิ่งที่เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องนโยบายของภาครัฐก็ดี หรือว่าเทคโนโลยีที่ปรับดีขึ้นก็ดี ทำให้ผู้ใช้เริ่มปรับมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
พอมาดูที่ไทย เราเห็นอัตราการเติบโตของรถ BEV ที่สูงมาก เกือบ400% ซึ่งนโยบายของภาครัฐมีผลในเรื่องของการให้ incentive ลดภาษีสรรพสามิต ที่ช่วยให้ผู้ใช้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง
ด้านพญ.จามรี เชื้อเพชระโสภณ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเมดพาร์ค เผยว่า หากนับโรงพยาบาลในประเทศต่างๆเป็นประเทศหนึ่ง ประเทศดังกล่าวจะเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก ซึ่งมีส่วน 4-5% ของการผลิตคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการใช้ไฟฟ้า,ระบบก๊าซ,ไอน้ำ,ระบบปรับอากาศ และกระบวนการทำงานต่างๆ ประเทศไทยเราก็จะรีไซเคิลอย่างเดียว แต่ไม่เริ่มจาก reduce หรือการลด ซึ่งจริงๆการลดก่อนจะง่ายกว่า
อีกหนึ่งปัญหาคือโรงพยาบาลมีขยะเยอะ ซึ่งเป็นขยะที่ต้องใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเพื่อคุณภาพ นอกจากนี้ขยะที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีเยอะมาก อย่างชุด PPE ที่ทุกวันนี้คนมองเป็นเรื่องปกติ ขนาดเจ้าหน้าที่กทม.ยังใส่ไปเก็บขยะ ซึ่งการผลิตชุด PPE ใช้พลาสติกเยอะมาก แล้วต้องใช้แล้วทิ้งทั้งนั้น นี่เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าวงการสุขภาพทำให้เกิดปัญหากับโลกเยอะ
กลับมาดูที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค เราให้ความสำคัญกับทั้งเรื่องเทคโนโลยีและความยั่งยืน ทางโรงพยาบาลมีการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ทันสมัยและคำนึงถึงการลดการใช้พลังงาน เช่น เครื่อง CT Scan ที่ลดปริมาณรังสีและลดการใช้พลังงาน โดยรุ่นที่ใช้ลดการใช้ไฟฟ้าได้มากกว่ารุ่นเดิมถึง 40% อีกทั้งยังช่วยลดการเกิดของเสียจากการทำงานหลายขั้นตอน โดยใช้กระบวนการ Automation เช่น การตรวจเลือด ทำให้ใช้ปริมาณเลือดหรือสิ่งส่งตรวจน้อยลงอีกด้วย
พีรกานต์ มานะกิจ ประธานอำนวยการ บริษัท ไอออน เอนเนอร์ยี่ จำกัด ระบุว่า ในเรื่องของค่าไฟ ทุกคนน่าจะได้รับผลกระทบจากค่าไฟที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อมองอีกมุมหนึ่งทุกคนรู้จักโซลาร์ การนำแสงอาทิตย์มาเปลี่ยนเป็นพลังงาน พอติดตั้งแล้วก็ไม่มีต้นทุนเพราะใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ อย่างไรก็ตามเราก็มองข้ามไม่ได้ว่าการติดตั้งระบบโซลาร์มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ราว 100,000 – 300,000 บาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่ใหญ่สำหรับทุกคน อยู่ดีๆเราคงไม่อยากใช้งานไปมากขนาดนั้น ดังนั้นเรื่องของ Tax Credit หรือเงินอุดหนุนจึงค่อนข้างสำคัญ และประสิทธิภาพของโซลาร์ก็ต้องเพิ่มขึ้น
โดยภาพรวมระยะเวลาคืนทุนของการติดตั้งโซลาร์ในปัจจุบันดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ในภาคครัวเรือนอาจใช้เวลาแค่ 5-6 ปี