เมาช่วยชาติ ‘Sake Viva’ แคมเปญกระตุ้นเศรษฐกิจจากญี่ปุ่น
เศรษฐกิจญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องซบเซามานาน การระบาดของโควิด-19 ยิ่งเป็นเหมือนตัวซ้ำแผลเก่าขึ้นไปอีก รัฐจึงผุดไอเดียกระตุ้นเศรษฐกิจกับแคมเปญ Sake Viva หรือ มาดื่มสาเกกัน เพื่อให้กลุ่มวัยทำงานช่วง 20-39 ปี หันกลับมาดื่มกันมากขึ้น ภาครัฐจะได้จัดเก็บภาษีเพิ่มตามไปด้วย
หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มซาไป แต่ละประเทศต่างออกนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายไปจากวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ ซึ่งหนึ่งในแคมเปญกระตุ้นเศรษฐกิจที่น่าสนใจคือการ ‘เมาช่วยชาติ’ กับแคมเปญ ‘Sake Viva’ จากทางรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการให้หนุ่มสาววัย 20-39 ปี กลับมาดื่มกันให้เยอะขึ้น รัฐบาลจะได้จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากขึ้นตามไปด้วย!
วิกฤต ‘เมาน้อยลง’ เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาด
ก่อนหน้าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ราว 7-8 ปี หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นเรียกได้ว่าอยู่ในอัตราสูงอยู่แล้ว ด้านอดีตผู้นำอย่าง ชินโซ อาเบะ เองก็เคยให้คำมั่นว่าจะเร่งค่า GDP ในประเทศ เพื่อชำระหนี้ให้ได้ในระยะเวลาที่เร็วที่สุด การระบาดของโควิด-19 เป็นเพียงหนึ่งในตัวย้ำที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจในญี่ปุ่นยิ่งระส่ำ
ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐพอจะทำได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจคือเพิ่มการจัดเก็บภาษีในทุกช่องทางที่เป็นไปได้ ภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ภาครัฐเล็งเห็นว่าคงกอบโกยได้ไม่น้อย ซึ่งถ้านั่นหมายความว่าคนหนุ่มสาวในแดนอาทิตย์อุทัยต้องบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ก็จงปล่อยให้มันเป็นไปตามวิถี
แคมเปญ ‘Sake Viva!’ จึงผุดขึ้นมาจากการดำเนินงานของ National Tax Agency (NTA) โดยขอให้ผู้ที่มีอายุ 20-39 ปีช่วยเสนอแผนฟื้นฟูความนิยมของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ลดลงในช่วงการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 หนุ่มสาววัยทำงานที่ต้อง Work From Home กันมากขึ้น พบปะเพื่อนร่วมงานน้อยลง การสังสรรค์หลังเลิกงานก็ลดลงตาม เรียกได้ว่าวิถีชีวิตของหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นเป็นอันต้องเปลี่ยนแปลงไปตามวิถี New Normal
ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเสนอแนวคิดใหม่ๆในการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงออกแบบวิถีการดื่มให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น หรือจะใช้ Metaverse และ AI เข้ามาเป็นสื่อกลางในการช่วย ก็ไม่ผิดกติกา
ในปี 1995 เฉลี่ยแล้วประชาชนชาวญี่ปุ่นจะบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันราว 100 ลิตรต่อคน แต่ในปี 2020 กลับลดลงเหลือแค่ 75 ลิตรต่อคน ทำให้ความสามารถในการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขาดดุลไปแล้วกว่า 48 ล้านล้านเยน
The National Tax Agency (The NTA) ยังให้ข้อมูลว่าเมื่อเทียบกับปี 2011 แล้ว ภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2022 ลดลงจาก 3% มาอยู่ที่ 1.7% ของรายรับภาษีญี่ปุ่น ซ้ำยังเป็นตัวเลขที่ลดลงมากที่สุดในรอบ 31 ปี
นอกจากนี้โรงงานเบียร์ Kirin ยังให้ข้อมูลว่าในปี 2020 ปริมาณการบริโภคเบียร์ต่อคนในญี่ปุ่นเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ขวดต่อปี ซึ่งลดลง 9.1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
‘Sake Viva’ แคมเปญช่วยชาติ หรือปัญหาสังคม?
เห็นได้ชัดว่าแคมเปญ ‘Sake Viva!’ ภาครัฐต้องการให้เยาวชนญี่ปุ่นกลับมาใช้ชีวิตตามแบบแผนดั้งเดิมของแดนซามูไรที่การดื่มเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เลิกงานแล้วก็ต้องสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานต่อ นอกจากจะจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นแล้ว ยังช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมน้ำเมาได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบัน มุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อวัฒนธรรมการดื่มนั้นแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนอย่างสิ้นเชิง วัฒนธรรมการดิ่มเริ่มไม่เป็นที่น่าพิสมัย ซ้ำส่วนใหญ่ยังรู้สึกไม่เอนจอยกับกิจกรรมนี้มากนัก
อย่างไรก็ตามการเปิดตัวแคมเปญนี้จากทางรัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัย เรียกเสียงวิจารณ์ให้แตกเป็น 2 ฝั่งได้ทันที ฝั่งที่เห็นดีเห็นงามต่างช่วยกันเสนอไอเดียแปลกๆ อย่างการให้คนดังมาแสดงเป็นพนักงานเสิร์ฟในโลกเสมือน Metaverse
ส่วนอีกฝั่งกลับมองว่า เดิมทีประชากรในญี่ปุ่นก็มีปัญหาเรื่องบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินควรอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นปัญหาเรื้อรังทางสังคม ที่ส่งผลต่อไปถึงปัญหาทางสุขภาพ แคมเปญนี้จะเป็นเหมือนเครื่องกระตุ้นพฤติกรรมให้ชาวญี่ปุ่นยิ่งเมาหัวราน้ำหรือไม่?
ด้านกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นให้ความเห็นว่าแม้จะมีแคมเปญนี้ออกมา ยังไงซะก็ควรดื่มกันแต่พอเหมาะ ทั้งนี้ Sake Viva! จะเป็นแคมเปญที่สามารถผลักดันเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ดีจริงหรือไม่ ก็ต้องรอลุ้นกับไอเดียที่ชาวญี่ปุ่นจะส่งเข้าประกวดกันต่อไป เพราะไหนๆชาตินี้เขากขึ้นชื่อเรื่องความคิดสร้างสรรค์กันอยู่แล้ว ไม่แน่ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาอาจดีเกินความคาดหมายและขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่ถูกที่ควรก็เป็นได้
ข้อมูลจาก
Japan Wants Gen Z To Drink More To Cover My $75,000 Tab (forbes.com)