posttoday

อินเดียยึดหัวหาดผู้นำองค์กรธุรกิจโลก

02 พฤศจิกายน 2565

มีความเห็นมากมายร้อยแปดพันประการเมื่อผู้คนเกิดคำถามว่า เหตุใดคนอินเดียจึงครองตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของบรรษัทยักษ์ใหญ่ของโลกมากมาย (โดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอฯ) ตั้งแต่ Google Microsoft IBM Master Card Starbucks ไปจนถึงราชาแห่งคอนเทนต์อย่าง OnlyFans

 

อินเดียยึดหัวหาดผู้นำองค์กรธุรกิจโลก

รวมไปถึงครั้งล่าสุดเมื่อ นายริชี ซูแน็ก ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟท่วมท้น ให้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีต่อจากนางลิซ ทรัสส์ (หลังอยู่ในตำแหน่งเพียง 44 วัน) ทำให้เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรีเชื้อสายเอเชียคนแรกของสหราชอาณาจักร สำคัญคือ เขาเป็นชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย และเป็นผู้นับถือศาสนาฮินดูคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้

ซุนเดอร์ กาตวาลา แห่งสถาบันความคิด "อนาคตคนอังกฤษ" หรือ British Future บอกกับเดอะการ์เดี้ยนว่า การที่คนเชื้อสายอินเดียได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ของอังกฤษ เป็น "ห้วงประวัติศาสตร์" ที่ "เป็นไม่ได้หากเกิดขึ้น เมื่อ 1-2 ทศวรรษที่แล้ว"

อินเดียยึดหัวหาดผู้นำองค์กรธุรกิจโลก

คำถามคือ เพราะคนอินเดียมีความสามารถมากกว่าคนชาติอื่นหรืออย่างไร?

มีคำตอบมากมายในโลกอินเทอร์เน็ต ที่ต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์กันถึงเรื่องนี้ เช่นว่า

“ประมาณหนึ่งในเจ็ดคนในโลกนี้เป็นคนอินเดีย ในขณะที่คนเหล่านี้จำนวนมากไม่สามารถตระหนักถึงศักยภาพของตนอย่างเต็มที่เนื่องจากความยากจน การเลือกปฏิบัติ และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดี แต่อินเดียก็มีเสถียรภาพเพียงพอและมีระบบการศึกษาที่ดีพอที่จะทำให้พวกเขาหลายคนทำเช่นนั้นได้  และยังมีการใช้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาของธุรกิจระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง และมีผู้พลัดถิ่นชาวอินเดียจำนวนมากในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหลายแห่ง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมภายในประเทศที่แข็งแกร่งในหลายภาคส่วน รวมถึงภาคส่วนเทคโนโลยีที่มีการเติบโตสูง”

หรือว่า

“คำตอบที่ดีที่สุดน่าจะเป็นระบบการศึกษาของอินเดียและกลยุทธ์ของรัฐบาลอินเดียในการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อหล่อเลี้ยงผู้มีความสามารถ

แม้ว่า ความจริงคือมากกว่า 90% ของซีอีโอที่มีชื่อเสียงของอินเดียจะเลือกศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยนอกอินเดีย ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะโลกภายนอกอินเดียดูแลและหล่อเลี้ยงความสามารถดังกล่าว”

“ฉันไม่คิดว่าบริษัทเหล่านี้แต่งตั้งคนตามแหล่งกำเนิด พวกเขากำลังมองหา CEO ไม่ใช่เจ้าบ่าว”

วิเคราะห์ไปจนถึงอุปสัยในเรื่องความจงรักภักดีของชาวอินเดีย

เพราะบางคนเชื่อว่า แนวความคิดของเรื่องความภักดีนั้นแข็งแกร่งสำหรับชาวอินเดียมากกว่าชาวอเมริกัน

  • ข้อหนึ่ง ชาวอินเดียส่วนใหญ่ที่อาศัยในสหรัฐอเมริกาจะไม่มีวันกลับบ้าน และจะยินยอมมอบแขนและขาให้กับพาสปอร์ตของสหรัฐฯ
  • ชาวอินเดียในสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในครีมของชาวอินเดียและจบ PG จาก US University (MS หรือ MBA) เสมอ 
  • ชาวอินเดียไม่ใช่ภัยคุกคามต่อผู้ก่อตั้ง แม้ว่าพวกเขาจะเป็นผู้จัดการที่ยอดเยี่ยม - พวกเขาไม่เคยสร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายให้กับบริษัทเหล่านั้น
  • ชาวอินเดียพูดภาษาอังกฤษได้ดีเยี่ยม
  • ชาวอินเดียนั้นยอมจำนนโดยธรรมชาติและจะ “ยืดหยุ่น” ต่อผู้ก่อตั้งบริษัทหรือคณะกรรมการผู้ถือหุ้นเสมอ (มันอยู่ในยีนของเรา)

“นั่นเป็นสาเหตุที่ชาวอินเดียได้รับการปรับแต่งให้เป็น CEO ของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ พวกเขาเป็นผู้จัดการโดยกำเนิดและมีความสามารถเพียงพอที่จะช่วยให้บริษัทที่ก่อตั้งแล้วเติบโต และพวกเขามีความภักดีและซื่อสัตย์มาก และจะไม่มีวันเป็นภัยคุกคามต่อผู้ก่อตั้งหรือมรดกของพวกเขา” (มีคนเห็นด้วยกับคอมเมนต์นี้มากกว่า 3,800 คน และกดแชร์ความเห็นออกไป 28 ครั้ง)

ในขณะเดียวกันในมุมมองของผู้บริหารชาวอินเดียกลุ่มหนึ่งมองว่า ชาวอินเดียที่ประสบความสำเร็จหลายคนมาจากภูมิหลังของชนชั้นกลาง “ความหิว การปรับตัว และความดื้อรั้นเป็นสิ่งที่โดดเด่น”  

ถึงขั้นเม้ามอย CEO กันจริงจัง

“ตอนที่นาเดลลา (Nadella - CEO ของ Microsoft) เข้ารับตำแหน่งที่ Microsoft ก็ยังอยู่ยงคงกระพันมาเป็นเวลากว่าทศวรรษแล้ว ในช่วงเกือบ 5 ปีนับตั้งแต่ นาเดลลาเข้ารับตำแหน่ง มูลค่าตลาดของ Microsoft เพิ่มขึ้นจาก 315 พันล้านดอลลาร์เป็น 830 พันล้านดอลลาร์ 

Windows 10 เป็น Windows ที่ดีรุ่นแรกในรอบกว่าทศวรรษ และในบรรดาสินค้าอุปโภคบริโภค Microsoft กำลังแซงหน้า Apple ด้วยผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมแถมยังเซ็กซี่

นาเดลลาได้เปลี่ยนวัฒนธรรมของ Microsoft โดยสิ้นเชิง และเขาทำให้ Microsoft น่าตื่นเต้นอีกครั้ง นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำกับยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินกิจการเหมือนการผูกขาดของชาติมากกว่าบริษัทเทคโนโลยี

จากผลงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นาเดลลาอาจเรียกได้ว่าเป็นซีอีโอที่ดีที่สุดในโลก เหนือกว่าเบโซส คุก และมัสก์เสียอีก” (คอมเมนต์นี้มีคนเห็นด้วยกว่า 8,600 คน)

มาทำความรู้จัก CEO ชาวอินเดียที่ถูกพูดถึงเหล่านี้กัน

เริ่มจากเจ้าพ่อ Google 

อินเดียยึดหัวหาดผู้นำองค์กรธุรกิจโลก

Sundar Pichai หรือ สุนทร พิชัย CEO ของ Google และ Alphabet

วาระการดำรงตำแหน่ง: Google (ตั้งแต่ปี 2558 - ปัจจุบัน); Alphabet (ตั้งแต่ 2019 - ปัจจุบัน)

Pichai Sundararajan หรือที่เรียกว่า Sundar Pichai เกิดในรัฐทมิฬนาฑูประเทศอินเดีย จบปริญญาจาก IIT Kharagpur ในสาขาวิศวกรรมโลหการและเป็นศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงของสถาบันนั้น หลังจากนั้นไปคว้าวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและปริญญาโทบริหารธุรกิจจากวิทยาลัยวอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

พิชัยเริ่มต้นงานในตำแหน่งวิศวกรวัสดุและร่วมงานกับ Google ในตำแหน่งผู้บริหารในปี 2547 และดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Google ในปี 2558 นอกจากนี้ พิชัยยังได้รับการเสนอชื่อให้เป็นซีอีโอของ Alphabet บริษัทแม่ของ Google ในเดือนธันวาคม 2562 แทนที่แลร์รี่ เพจ

อินเดียยึดหัวหาดผู้นำองค์กรธุรกิจโลก

Satya Nadella (สัตยา นาเดลลา) CEO ของ Microsoft 

วาระการดำรงตำแหน่ง: ตั้งแต่ปี 2557 - ปัจจุบัน

Satya Nadella เกิดในไฮเดอราบาด สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันเทคโนโลยีมานิปาล, ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน–มิลวอกี และปริญญาโทบริหารธุรกิจจาก University of Chicago Booth School of Business เขาเป็น CEO ของ Microsoft ต่อจาก Steve Ballmer ในปี 2014 นอกจากนี้เขายังสืบทอดตำแหน่งต่อจาก John W. Thompson และได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานของ Microsoft ในปี 2021 ด้วย

อินเดียยึดหัวหาดผู้นำองค์กรธุรกิจโลก

Laxman Narasimhan (ลักษมัน นรสีหาญ) CEO แห่ง Starbucks

วาระการดำรงตำแหน่ง: 2565 เป็นต้นไป

Laxman Narasimhan ที่เกิดในปูเน่ได้รับเลือกให้เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนต่อไปของ Starbucks เขาสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกลจากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยปูเน่ ปริญญาโทสาขาภาษาเยอรมันและการศึกษานานาชาติจากสถาบันลอเดอร์ และปริญญาโทสาขาการเงินจากวิทยาลัยวอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

ลักษมันดำรงตำแหน่ง CEO ของ Reckitt Benckiser ก่อนจะก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายน เพื่อร่วมงานกับร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงก้องโลกนี้ในฐานะ CEO เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเขาจะทำงานร่วมกับ CEO คนปัจจุบัน ของ Starbucks, Howard Schultz ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง CEO อย่างสมบูรณ์และเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในวันที่ 1 เมษายนปี 2023

อินเดียยึดหัวหาดผู้นำองค์กรธุรกิจโลก

Parag Agrawal (พารัก อักราวาล) CEO แห่ง Twitter 

วาระการดำรงตำแหน่ง: 2564 - 2565

สดๆ ร้อนกับการโดนปลดฟ้าผ่าของ พารัก อักราวาล ซีอีโอทวิตเตอร์ (โดยจะได้รับเงิน 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 60,800 บาท หากถูกเลิกจ้างภายใน 12 เดือน) หลังการยึดทวิตเตอร์ของมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์

รอยเตอร์ส รายงานว่า จากการที่นายอีลอน มัสก์ ประธานกรรมการบริหารของบริษัท เทสล่า มอเตอร์ และมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก ได้เข้าปิดดีลซื้อกิจการทวิตเตอร์ โซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานกว่า 230 ล้านราย ด้วยมูลค่า 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีข่าวสะพัดว่าได้ไล่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทออกไปหลายคน รวมถึงซีอีโออย่าง พารัก อักราวาล (Parag Agrawal)

ไปทำความรู้จักเขากันหน่อย

Parag Agrawal เกิดที่เมืองอัจเมอร์ รัฐราชาสถาน สำเร็จการศึกษาที่สถาบันพลังงานปรมาณูกลางหมายเลข 4 (Atomic Energy Central School No.4) ซึ่งเขาเรียนร่วมรุ่นกับนักร้องชื่อดังอย่าง Shreya Ghoshal ก่อนเข้าเรียนที่สถาบัน IIT Bombay คว้าปริญญาวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันเดียวกันในปี 2548 จากนั้น Parag ตัดสินใจศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา

Parag ดำรงตำแหน่งในระดับบริหารหลายตำแหน่งที่ Microsoft Research และ Yahoo! ก่อนเข้าร่วมงานกับ Twitter ในตำแหน่งวิศวกรซอฟต์แวร์ในปี 2011 ซึ่งปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่ง CEO หลังจากที่ Jack Dorsey อดีต CEO ลาออกจากตำแหน่ง

Agrawal ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็น Chief Technology Officer (CTO) ในเดือนตุลาคม 2017 แทนที่ Adam Massinger ก่อนที่จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนปีที่ผ่านมา

เขาได้รับเลือกให้รับผิดชอบ Project Bluesky เมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มในการพัฒนาโปรโตคอลเครือข่ายโซเชียลแบบ decentralized โดย Jack Dorsey CEO ในขณะนั้น

Parag Agrawal เป็นที่รู้จักในฐานะคนรักรถยนต์และคอมพิวเตอร์ พ่อแม่ของเขากล่าวว่า คณิตศาสตร์เป็นเหมือนมือขวาของ Agrawal เขาเป็นผู้ชนะเหรียญทองในการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกปี 2544 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศตุรกี

อินเดียยึดหัวหาดผู้นำองค์กรธุรกิจโลก

Leena Nair (ลีน่า แนร์) CEO แห่งแบรนด์ Chanel

วาระการดำรงตำแหน่ง: มกราคม 2565 เป็นต้นไป

ลีนา แนร์เกิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2512 ในเมืองโกลฮาปูร์ รัฐมหาราษฏระ เป็นนักศึกษาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์วัลแชนด์ 

Nair ร่วมงานกับ Unilever บริษัทแองโกล-ดัตช์ และได้รับแต่งตั้งให้เป็น Chief Human Resource Officer ของบริษัทในปี 2559 เธอได้รับการยอมรับว่าเป็นน้องคนสุดท้อง ผู้หญิงคนแรก และคนเอเชียคนแรกที่ประสบความสำเร็จ ลีน่าดำรงตำแหน่งผู้นำหลายตำแหน่งในบริษัทเดียวกันก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็น ประธานกรรมการบริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล (CHRO) ของ Unilever ทำงานอยู่ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน

ก่อนที่ Chanel แบรนด์แฟชั่นหรูสัญชาติฝรั่งเศสจะประกาศแต่งตั้ง Leena Nair เป็น CEO คนใหม่ของบริษัท ตั้งแต่มกราคมปีนี้ ต่อจาก Alain Wertheimer ผู้เป็น CEO และเจ้าของบริษัทคนปัจจุบัน

ว่าแต่ทำไม Chanel ถึงจะตั้ง CEO คนใหม่ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในวงการแฟชั่นมาก่อน?

Chanel แถลงว่า การตั้ง CEO คนใหม่ในครั้งนี้ จะช่วยการันตีความสำเร็จของบริษัทในระยะยาว และยังระบุเพิ่มเติมอีกด้วยว่า วิสัยทัศน์และความสามารถของ Leena Nair จะช่วยให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายในระยะยาวควบคู่ไปกับผลลัพธ์ในการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่ง และสาเหตุที่เลือก Leena Nair เป็น CEO คนใหม่เพราะเธอมีชื่อเสียงระดับโลกในสไตล์การนำแบบหัวก้าวหน้าและยึดผู้คนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมาจากประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับคนกว่า 30 ปี ที่ Unilever

อินเดียยึดหัวหาดผู้นำองค์กรธุรกิจโลก

Amrapali 'Ami' Gan อมรปาลี 'อามิ' กัน CEO ของ OnlyFans

ดำรงตำแหน่ง: ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

Amrapali Gan ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น CEO คนใหม่ของบริษัท OnlyFans ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการคอนเทนต์ทางอินเทอร์เน็ตในลอนดอน เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 โดย Tim Stokely ผู้ก่อตั้งบริษัทจะก้าวลงจากตำแหน่ง

อัมราปาลี กัน หรือ 'อามิ' กัน ตามชื่อเล่นของเธอ จบการศึกษาระดับมัธยมและระดับอุดมศึกษาในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาด้านการตลาดจาก FIDM จากนั้นเธอก็ไปเรียนต่อศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์กรจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย นอกจากนี้ เธอยังได้รับประกาศนียบัตร Entrepreneurship จาก Harvard Business School Online อาทิเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับ Arcade Agency มาประมาณ 4 ปีก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็น CEO ของ OnlyFans

อินเดียยึดหัวหาดผู้นำองค์กรธุรกิจโลก

Shantanu Narayen (ศานทานู นารายณ์) CEO แห่ง Adobe Inc.

วาระการดำรงตำแหน่ง: ตั้งแต่ปี 2550 - ปัจจุบัน

Shantanu Narayan เกิดที่เมืองไฮเดอราบัด ประเทศอินเดีย เริ่มการทำงานที่ Apple เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออสมาเนีย ปริญญาโทบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโบว์ลิงกรีน Narayen เข้าร่วมงานกับ Adobe ในปี 1998 และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็น CEO ในเดือนธันวาคม 2007 เมื่ออายุ 45 ปี 

Narayen ยังเป็นตัวแทนของอินเดียในการแล่นเรือที่ Asian Regatta และยังมีชื่ออยู่ในการจัดอันดับ CEO ที่ดีที่สุดในโลกโดย Barron's Magazine ในปี 2016

อินเดียยึดหัวหาดผู้นำองค์กรธุรกิจโลก

Ajaypal Singh Banga (อชัยปาล ซิงห์ บังกา) CEO ของ Mastercard

วาระการดำรงตำแหน่ง: 2553 - 2563

เริ่มต้นอาชีพทางธุรกิจกับเนสท์เล่ในปี 1981 Ajaypal Singh Banga ที่เกิดในปูเน่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานและซีอีโอของมาสเตอร์การ์ดในเดือนกรกฎาคม 2010 และดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2020 หลังจากนั้นเขาก็ลาออกจากตำแหน่งเพื่อหลีกทางให้ Michael Miebach เขาสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนรัฐบาลไฮเดอราบัดในเมืองเบกัมเพท และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีศิลปศาสตร์ (เกียรตินิยม) ในสาขาเศรษฐศาสตร์จากวิทยาลัยเซนต์สตีเฟน มหาวิทยาลัยเดลี ตามด้วย PGP ด้านการจัดการจาก IIM อาเมดาบัด

อินเดียยึดหัวหาดผู้นำองค์กรธุรกิจโลก

Arvind Krishna (อารวินด์ กฤษณา) CEO ของ IBM

วาระการดำรงตำแหน่ง: 2563 - ปัจจุบัน

Arvind Krishna CEO ของ IBM ซึ่งเพิ่งดำรงตำแหน่งประธานบริษัทเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 เกิดที่เมือง Dehra Dun ประเทศอินเดีย เขาสำเร็จการศึกษาที่ St Joseph's Academy, Dehradun และ Stanes School, Coonoor ในรัฐทมิฬนาดู จากนั้นเขาได้รับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าจาก IIT Kanpur ในปี 1985 และปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า Krishna เริ่มต้นอาชีพของเขาที่ IBM ในฐานะวิศวกรใน IBM Research และได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็น CEO ในปี 2020 ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่ง CEO และประธานของ IBM

 

ศิวดี อักษรนำ

 

อ้างอิง: 

 

https://financhill.com/blog/investing/how-many-indian-ceos-are-in-the-fortune-500

 

https://www.cnbctv18.com/business/companies/what-makes-indian-origin-ceos-rise-to-the-top-of-fortune-500-companies-14446172.htm

 

https://startuptalky.com/indian-ceos-ruling-world/