ปริศนา ‘จูลส์ ริเมต์’ ถ้วยบอลโลกใบแรกที่สูญหายตลอดกาล
ถ้วยฟุตบอลโลก FIFA World Cup ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ แท้จริงแล้วไม่ได้ถูกใช้มาตั้งแต่กำเนิดฟุตบอลโลก เพราะถ้วยที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกๆ หรือ ‘ถ้วยจูลส์ริเมต์ (Jules Rimet Trophy)’ ที่สร้างจากเงินและทองคำหนักราว 3.8 KG นั้น สูญหายไปอย่างปริศนาตลอดกาล
เทศกาลฟุตบอลโลกที่วนกลับมาสร้างสีสันให้กับแฟนบอลทุกครั้งในรอบ 4 ปี รู้หรือไม่ว่าถ้วย FIFA World Cup ที่เราเห็นกันจนชินตา แท้จริงแล้วไม่ได้ใช้ถ้วยนี้มาตั้งแต่การแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรก เพราะถ้วยที่ถูกใช้ในการแข่งขันครั้งนั้นหายไปอย่างไร้ร่องรอยและไม่สามารถมีใครสืบหาได้มาจนถึงปัจจุบัน เรามาลองดูกันดีกว่าว่า เส้นทางของถ้วยฟุตบอลโลกใบแรกอย่าง ‘ถ้วยจูลส์ริเมต์’ ต้องฟ่าฟันอะไรมาบ้างจนมาถึงถ้วยฟุตบอลโลกที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
ย้อนรอยจุดกำเนิดฟุตบอลโลก
ประวัติศาสตร์อันยาวนานของฟุตบอลโลกและถ้วยรางวัล FIFA World Cup เริ่มมาจาก ‘จูลส์ ริเมต์ (Jules Rimet)’ ประธานฟีฟ่าในขณะนั้น ที่ต้องการผลักดันการแข่งขันฟุตบอลที่นอกเหนือจากโอลิมปิกขึ้นมา
โดยในปี 1930 เขาได้เลือกอุรุกวัยเป็นสถานที่จัด “ฟุตบอลโลกครั้งแรก” อย่างเป็นทางการ แน่นอนว่าเมื่อการแข่งขันเริ่มขึ้นแล้ว เราจะขาดรางวัลสำหรับผู้ชนะไปได้อย่างไร ‘ถ้วยฟุตบอลโลกถ้วยแรก’ ก็ได้กำเนิดขึ้นในช่วงเวลานี้เช่นเดียวกัน
แรกเริ่มเดิมทีถ้วยรางวัลสำหรับงานนี้ใช้ชื่อว่า “วิกตอรี” โดยมีเทพีแห่งชัยชนะจากปกรณัมกรีก ‘เทพีไนกี้ (Nike)’ เป็นสัญลักษณ์ ต่อมาถ้วยนี้ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ถ้วยจูลส์ริเมต์’ เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานฟีฟ่าผู้ให้กำเนิดฟุตบอลโลก โดยตัวถ้วยรางวัลประกอบจากเงินและทองคำหนักราว 3.8 กิโลกรัม สูง 35 เซนติเมตร บริเวณฐานทำด้วยอัญมณีสีฟ้า Lapis lazuli (ไพฑูรย์) ตรงบริเวณมุมทั้ง 4 ด้านของฐานจะสลักชื่อทีมชาติที่ได้แชมป์ฟุตบอลโลก 9 ทีมนับตั้งแต่ปี 1930-1970
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความปลอดภัยของถ้วยจูลส์ริเมต์เริ่มกลายมาเป็นประเด็นใหญ่ ‘Ottorino Barassi’ รองประธาน FIFA ในขณะนั้น จึงนำถ้วยรางวัลออกจากตู้เซฟธนาคารในกรุงโรมอย่างลับๆ และซ่อนเอาไว้ในกล่องรองเท้าที่อยู่ใต้เตียงของเขา กระทั่งสงครามเริ่มซาไป
ปริศนา ‘ถ้วยหาย’ กลางวันแสกๆ
แม้ว่า ‘ถ้วยจูลส์ริเมต์’ จะสามารถอยู่รอดมาได้อย่างปลอดภัยในช่วงสงครามโลก แต่ความวัวไม่ทันหาย ถ้วยบอลโลกใบนี้ที่ถูกนำไปจัดแสดง ณ หอกลางเวสต์มินส์เตอร์ (Westminster Hall) ประเทศอังกฤษ 4 เดือนก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก 1966 จะเริ่มขึ้น กลับหายไปตอนกลางวันแสกๆ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่ามูลค่าของถ้วยจูลส์ริเมต์ในขณะนั้นสูงถึง 30,000 ปอนด์ (ราว 1.2 ล้านบาท)
ขณะที่ตำรวจสกอตแลนด์ยาร์ดกำลังเร่งติดตามหาถ้วยเจ้าปัญหา ทางกรมก็ได้รับจดหมายจากชายที่อ้างชื่อว่า ‘แจ็คสัน (Jackson)’ โดยในเนื้อความระบุว่า หากต้องการถ้วยรางวัลคืน ต้องนำเงิน 15,000 ปอนด์มาแลก หน้าสนามกีฬาสแตมฟอร์ดบริดจ์ สังเวียนฟาดแข้งของทัพสิงโตน้ำเงินครามเชลซี
ทางตำรวจไม่รอช้า รีบไปยังสถานที่นัดหมาย ล่อซื้อแจ็คสันด้วยเงินปลอมก่อนเข้าจับกุมและให้เขาช่วยนำไปยังแหล่งที่ซุกซ่อนถ้วยไว้
เหมือนบุญมีแต่กรรมบัง การเข้าจับกุมแจ็คสันในครั้งนี้ เขากลับสารภาพว่าเขาไม่ได้เป็นคนขโมย เขาทำหน้าที่เป็นเพียงคนกลางให้กับชายคนหนึ่งที่ยากจะเข้าถึง สมญา ‘The Pole’
แจ็คสัน (ทราบชื่อในภายหลังว่า Edward Betchley) ถูกตัดสินจำคุกสองปี ในขณะที่ตำรวจยังไม่สามารถตามรอยชายที่ใช้สมญาว่า 'The Pole' ได้ และแน่นอนว่า ‘ถ้วยจูลส์ริเมต์’ ยังคงหายไปกับสายลม
‘Pickles’ วีรบุรุษกู้คืนถ้วย Jules Rimet
เพียง 1 สัปดาห์หลังจากทั่วโลกกำลังวุ่นวายกับการตามหาถ้วยจูลส์ริเมต์ที่หายไป ถ้วยฟุตบอลโลกใบแรกนี้ก็ถูกพบเข้า โดยเจ้า ‘Pickles’ เจ้าตูบของนักเดินเรือ ‘David Corbett’ แถมเจ้าตูบตัวนี้ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษของชาติ
ในขณะที่ Corbett หยุดที่ตู้โทรศัพท์เพื่อโทรหาปลายทาง เจ้าสุนัขวัย 4 ขวบตัวนี้ก็เริ่มเดินสำรวจและดมไปเรื่อยๆ จนพบเข้ากับพัสดุที่ถูกห่อด้วยหนังสือพิมพ์ รัดเชือกไว้อย่างแน่นหนา ซึ่งเจ้าพัสดุนี้อยู่ใต้ท้องรถของเพื่อนบ้านเขา
Corbett เกิดความหวาดระแวงว่าวัตถุดังกล่าวจะเป็นระเบิดหรือไม่ แต่สุดท้ายเขาก็ทนต่อความสงสัยไม่ไหว แกะพัสดุดังกล่าวเพื่อสำรวจว่าข้างในนั้นคืออะไร ผลที่ได้ทำใจเขาแทบหล่นไปอยู่ตาตุ่ม ฐานรองถ้วยที่สลักรายชื่อแชมป์ฟุตบอลโลกไว้ทั้ง เยอรมนี อุรุกวัย และบราซิล Corbett ถึงกับตะโกนออกมาด้วยความดีใจว่า “ถ้วยบอลโลก! ผมเจอถ้วยฟุตบอลโลก!”
แม้ว่าเขาจะส่งคืนถ้วยให้กับสถานีตำรวจในท้องที่ แต่ก็ไม่วายถูกกุมตัวไว้สอบสวน เพราะเจ้าหน้าที่คาดว่าเขาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจรกรรม แต่หลังจากการสอบสวน เจ้าหน้าที่จึงมั่นใจว่าเขาบริสุทธิ์และปล่อยตัวไปในที่สุด
และถือเป็นข่าวดีของชาวอังกฤษในขณะนั้น เพราะหลังจากพบเจ้าถ้วยที่สูญหายแล้ว ทีมชาติอังกฤษก็คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกและได้ครองถ้วยจูลส์ริเมต์ในปี 1966
สู่แดนแซมบ้า ก่อนหายไปตลอดกาล
จากกฎในยุคนั้น ทีมชาติใดที่สามารถคว้าแชมป์ได้ถึง 3 สมัยติดต่อกัน จะได้ครองถ้วยจูลส์ ริเมต์ ไปอย่างถาวร ซึ่งชาติแรกที่สามารถทำสถิติดังกล่าวได้หนีไม่พ้น ‘บราซิล’
แดนแซมบ้าได้ถ้วยจูลส์ ริเมต์ไปนอนกอดฝันหวานในปี 1970 แต่ถึงอย่างนั้นในปี 1983 ถ้วยจูลส์ ริเมต์ที่ถูกจัดแสดง ณ สำนักงานสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งบราซิล เมืองรีโอเดจาเนโร กลับหายไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่มีใครสามารถสืบหาตัวผู้กระทำผิดได้ บ้างคาดว่าหลังถูกขโมย ถ้วยบอลโลกใบแรกนี้คงถูกหลอมไปขายจนหมดแล้ว เพราะจนถึงปัจจุบันถ้วยใบนี้ยังคงเป็นปริศนาที่ไม่มีใครได้พบเห็นอีกเลย
หลังจากถ้วยเจ้าปัญหาไม่มีใครพบเจออีก ทางฟีฟ่าจึงจัดทำถ้วยรางวัลใหม่ขึ้น ด้วยความสูง 36 เซนติเมตรทำจากทองคำ 18 กะรัต หนักราว 6 กิโลกรัม โดยให้ชื่อว่าถ้วย “ฟีฟ่า เวิลด์คัพ (FIFA World Cup)” อันเป็นถ้วยที่เรายังเห็นกันในปัจจุบัน
ข้อมูลอ้างอิง: