ทำไมคบใครก็ไม่รอด? เมื่อการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ส่งผลต่อรูปแบบความสัมพันธ์
ขึ้นชื่อว่า ‘ความสัมพันธ์’ ไม่มีอะไรง่ายแน่นอน รู้หรือไม่ว่าการถูกเลี้ยงดูและประสบการณ์ในวัยเด็กถือว่ามีอิทธิพลกับรูปแบบการเป็น ‘แฟน’ หรือรูปแบบการอยู่ในความสัมพันธ์ในฐานะคนรักของเรา
ช่วงชีวิตที่ได้ตกหลุมรักหรือแอบชอบใครสักคน ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเวลาในขณะนั้นเหมือนโลกหยุดหมุนในทันตา ทุกอย่างรอบตัวดูสดใสมีชีวิตชีวาขึ้นมาเสียหมด แต่หลังจากความตรากตรำพยายามทุกทางกับภารกิจพิชิตใจจนได้พัฒนาความสัมพันธ์ ทำไมชีวิตหลังคบกันมันไม่กระชุ่มกระชวยเหมือนเจอกันครั้งแรก
ขึ้นชื่อว่า ‘ความสัมพันธ์’ ไม่มีอะไรง่ายแน่นอน บางคนอาจหาลู่ทางพบเจอคนใหม่ๆเพื่อสร้างความตื่นเต้นในชีวิต จนอาจนำไปสู่ปัญหาการนอกใจ คนนั้นก็ดี คนนี้ก็ใช่ บางคนต่อให้เบื่อหรือโดนทำร้ายจิตใจแค่ไหนก็ยังฝืนคบต่อได้ไม่ว่าจะทรมานแค่ไหนก็ตาม แต่รู้หรือไม่ว่าการถูกเลี้ยงดูและประสบการณ์ในวัยเด็กถือว่ามีอิทธิพลกับรูปแบบการเป็น ‘แฟน’ หรือรูปแบบการอยู่ในความสัมพันธ์ในฐานะคนรักของเราพอสมควร
นักบำบัดคู่สมรส Milan และ Kay Yerkovich ได้ศึกษาและพัฒนาจนนำไปสู่การจำแนกรูปแบบคนรัก 5 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทล้วนได้รับประสบการณ์ในวัยเด็กที่แตกต่างกัน
1. ชอบเอาใจ อะไรก็ยอม (The Pleaser)
สำหรับใครที่เป็นสาย ‘ชอบเอาใจ’ แฟนอยากได้อะไรก็ยอมไปเสียหมด จากการศึกษาพบว่าในวัยเด็กของคนกลุ่มนี้จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นภาระของครอบครัว ทุกอย่างที่ทำมีแต่คำว่าต้องดี ต้องเพอร์เฟค ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องจากความเคร่งครัดและเข้มงวดของผู้ปกครอง
บุคลิกภาพในลักษณะนี้สามารถติดตัวเรามาจนโตได้ ทำให้เป็นคนที่กลัวความขัดแย้ง ไม่กล้ายืนหยัดในความคิดหรือความต้องการของตัวเอง ไม่กล้าปฏิเสธผู้อื่น แต่ถึงอย่างนั้นคนในกลุ่มนี้ก็มักเป็นคนจิตใจดี รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นได้ไว ชื่นชอบการเอาอกใจผู้อื่น จนบ้างครั้งอาจมากเกินความพอดีชนิดที่ว่าเอ็นดูเขาเอ็นเราขาดไปเลย
ในทางกลับกันหากคนประเภทนี้รู้สึกว่าเขาทำให้คนรักผิดหวัง หรือตัวเขาไม่ดีพอ ก็มีแนวโน้มสูงว่าจะพาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ดังกล่าว หรือเทเอาง่ายๆ การจะพัฒนาให้ความสัมพันธ์เป็นไปอย่าง Healthy และมั่นคง คนในกลุ่มนี้ต้องฝึกที่จะยืนหยัดในความรู้สึกตัวเองบ้าง พยายามพูดคุยและแบ่งปันปัญหากับคู่รักแทนที่จะเห็นดีเห็นงามคล้อยทำตามไปหมดทุกอย่าง
2. ผู้ถูกกระทำ (The Victim)
สำหรับคนที่เป็นแฟนประเภท The Victim นักบำบัดคู่สมรสพบว่า ในวัยเด็กของคนกลุ่มนี้มักเติบโตมาในครอบครัวที่วุ่นวาย และหลายครั้งตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากความเกรี้ยวกราดของพ่อแม่ พวกเขาจึงเรียนรู้ที่จะทำตัวให้สงบเสงี่ยมเพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้ามากที่สุด ซึ่งในบางครั้งอาจจมอยู่กับจินตนาการและความคิดของตัวเอง
เมื่อคนกลุ่มนี้เติบโตขึ้น มักเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าแสดงความเห็น บางรายอาจเผชิญกับภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า และมักถูกดึงดูดจากคนที่มีบุคลิกตรงข้ามโดยสิ้นเชิง (อาจตกหลุมรักคนที่โดดเด่น มีความมั่นใจ) เนื่องจากมีความคล้ายกับพ่อแม่ แน่นอนว่าเรามักตกหลุมรักกับคนที่เรารู้สึกคุ้นเคยกับพฤติกรรม มากกว่าคนที่เราไม่คุ้นเคย แม้ว่าพฤติกรรมเหล่านั้นจะชวนให้หวนนึกถึงความทรงจำอันโหดร้ายก็ตาม
หากคนในกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ เขามักจะเป็นแฟนที่ค่อนข้างเฉยเมย ปล่อยให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้นไปตามน้ำ และหากความสัมพันธ์ยังดำเนินไปแบบแฮปปี้ไร้ซึ่งความขัดแย้ง คนกลุ่มนี้จะเริ่มเกิดความหวาดระแวง กลัวว่าสักวันหนึ่งจะไม่สงบสุขแบบนี้อีก เนื่องจากชินกับความขัดแย้งของพ่อแม่ในวัยเด็ก นักบำบัดคู่สมรสแนะนำว่าแทนที่จะอดทนกับทุกสิ่ง The Victim ควรเรียนรู้ที่จะรักและยืนหยัดเห็นค่าในตัวเอง ความสัมพันธ์ถึงจะดำเนินไปได้อย่าง Healthy
3. ตัวพ่อตัวแม่จอมบงการ (The controller)
ใครที่เป็นจอมบงการในความสัมพันธ์ นักบำบัดคู่สมรสมองว่าในวัยเด็กของคนกลุ่มนี้มักรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งและแทบไม่ได้รับการปกป้องดูแลจากผู้ปกครองเลย พวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นคนที่มีความแข็งแกร่งและเป็นอิสระสูง
เมื่อโตขึ้นคนในกลุ่มนี้มักพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้พวกเขารู้สึกกลัว, ไม่ปลอดภัย, ไร้ความช่วยเหลือ หรือออกจากคอมฟอร์ทโซนเพราะรู้สึกตกอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมอะไรไม่ได้ แถมยังชอบแก้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเองแบบเงียบๆ นอกจากนี้พวกเขายังมองว่าการแสดงความโกรธเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง และเป็นหนึ่งในตัวรับประกันว่าเขาจะไม่เสียอำนาจในการควบคุมไปง่ายๆ ทั้งยังไม่ค่อยเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากนัก และมักเรียกร้องให้คนอื่นทำสิ่งต่างๆที่ตัวเองต้องการ แม้ว่าคำขอนั้น จะทำให้ฝั่งตรงข้ามเดือดร้อนก็ตาม
หากคนกลุ่มนี้อยู่ในความสัมพันธ์ เขาจะเป็นแฟนที่พยายามกุมอำนาจเหนือกว่า พยายามบงการและควบคุมไปหมดทุกอย่าง สิ่งที่ The Controller ควรเรียนรู้เมื่ออยู่ในความสัมพันธ์คือต้องเรียนรู้ความไว้วางใจ ปล่อยวางและระงับความโกรธให้ได้
4. ขี้กังวล กลัวไม่เป็นที่รัก (The Vacillator)
คนในกลุ่มนี้มักโตมากับครอบครัวที่คาดเดาอะไรไม่ได้ พวกเขามักรู้สึกว่าตัวเองไม่สำคัญพอ หรือไม่ใช่สิ่งแรกๆที่พ่อแม่ให้ความสำคัญ ดังนั้นจึงใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกกลัวว่าถูกทอดทิ้งมาโดยตลอด
สำหรับในเรื่องความสัมพันธ์ คนกลุ่มนี้จะโหยหาความรักที่ยาวนานมั่นคง และกลัวว่าความขัดแย้งเพียงเล็กๆน้อยๆจะนำไปสู่ปัญหาการเลิกราได้ หรือเรียกได้ว่าอะไรนิดๆหน่อยก็เก็บมาเครียดมาใส่ใจไปทุกอย่าง ด้วยเหตุนี้พวกเขามักเผชิญกับความเครียดทางอารมณ์ และเป็นกลุ่มคนที่อ่อนไหวมาก
การพัฒนาไปสู่ Healthy Relationship คนกลุ่มนี้ต้องฝึกปล่อยวางให้เป็น และเรียนรู้ว่าความสัมพันธ์ต้องใช้เวลากว่าจะปรับตัวเข้าหากันได้ ก่อนตัดสินใจคบใครสักคนควรเรียนรู้นิสัยใจคอให้รู้ตื้นลึกหนาบางกันก่อน จะดีกว่าการตัดสินใจคบใครแบบหุนหันพลันแล่นเพราะโหยหาความรัก ไม่อย่างนั้นก็มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นความผิดหวังในตอนท้าย
5. ปากหนักบอกรักไม่เป็น (The Avoider)
คนกลุ่มนี้มักโตมาในครอบครัวที่ไม่แสดงความรักกันสักเท่าไหร่ รวมถึงเมื่อแสดงความต้องการหรือความรู้สึกออกไปมักไม่ได้รับการตอบสนองมากนัก หรือบางรายอาจถูกลดทอนกำลังใจอยู่บ่อยครั้ง พวกเขาจึงเรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้ด้วยตัวเองอย่างอิสระ และละซึ่งการแสดงออกทางความรู้สึก
เมื่อโตขึ้น คนกลุ่มนี้มักมีกำแพงหรือขีดระยะห่างกับสังคมเท่าที่จะทำได้ ทั้งยังเป็นคนยึดถือในเหตุผลและตรรกะมากกว่าความรู้สึก สิ่งที่คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่รับมือได้ยากที่สุดคือ อารมณ์ที่แปรปรวนจากคนรอบตัว นอกจากนี้เมื่ออยู่ในความสัมพันธ์ พวกเขาจะเป็นคนที่แทบไม่แสดงออกหรือบอกรักเลย ใช้เวลาทั้งหมดไปกับการทำงานหรืองานอดิเรก บางรายอาจไม่ชอบให้ใครโดนตัวแม้กระทั่งแฟนก็ตาม
ระยะแรกของการคบกัน คนรักมักมองว่าคนกลุ่มนี้มีความมั่นคง เปี่ยมไปด้วยความรับผิดชอบ แต่พอผ่านไปสักพัก คู่รักของคนกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าถูกละเลย นี่เธอรักฉันอยู่จริงๆเหรอ? นักบำบัดคู่สมรสแนะนำว่า คนกลุ่มนี้ควรเรียนรู้ที่จะเปิดใจ ลดกำแพงลงและซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเองบ้างเพื่อพัฒนาให้ความสัมพันธ์ไปสู่ชีวิตคู่แบบ Healthy
แทนที่จะมานั่งหวาดระแวงพาลอารมณ์เสียว่าทำไมคนนั้นเป็นแบบนั้น ทำไมคนนี้ไม่ได้ดั่งใจ การพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกันถือว่าไม่ใช่เรื่องแย่อะไร มิหนำซ้ำยังช่วยให้เปิดใจเห็นภาพในมุมกว้างมากขึ้น แน่นอนว่าการจำแนกประเภททั้ง 5 นี้ ช่วยให้เราเข้าใจและมองเห็นลักษณะพฤติกรรมของคู่รักได้ชัดเจนขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นการใช้ชีวิตในความสัมพันธ์ยังมีปัจจัยภายนอกอีกมากที่ส่งมาเป็นบททดสอบของแต่ละคู่ว่าจะกัดฟันกอดคอกันถึงฝั่งฝันหรือไม่