‘เวทมนต์ คาถา ความเชื่อ’ กับความเชื่อมโยงสะท้อนการเมืองระดับมหภาค
ไม่ว่าโลกจะพัฒนาไปแค่ไหน แต่งานวิจัยกลับพบว่าความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถา (Witchcraft) กลับกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นและแพร่กระจายไปหลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้งยังเป็นเครื่องสะท้อนความเป็นอยู่ของคนในแต่ละภูมิภาคตั้งแต่การศึกษา ไปจนถึงการบริหารของรัฐบาลในแต่ละประเทศ
จากผลการศึกษาพบว่าประชากรราว 1 พันล้านคนจาก 95 ประเทศในกลุ่มตัวอย่างมีความเชื่อเรื่องการใช้เวทมนตร์คาถา(Witchcraft) และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าจำนวนผู้ศรัทธาจริง เนื่องจากผู้ตอบแบบสำรวจบางรายหลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามในประเด็นอ่อนไหวหรือเปราะบางเกี่ยวกับความเชื่อนี้ ในขณะที่ความเชื่อเรื่องเวทมนต์และคาถายังมีความแตกต่างกันไปในหลายพื้นที่ ตัวอย่างเช่น ในประเทศตูนิเซีย ประชากรราว 90% มีความเชื่อเรื่องเวทมนต์และคาถา ในขณะที่ทางฝั่งสวีเดนกลับพบเพียงร้อยละ 9
Boris Gershman นักเศรษฐศาสตร์และผู้ศึกษาเรื่องดังกล่าวจาก American University กล่าวว่า แม้ในบางประเทศความเชื่อเรื่องการใช้เวทมนตร์คาถาจะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ตามปกติ แต่ความเชื่อนี้ดันกระจายไปอีกหลายประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ การศึกษาความเชื่อเรื่องการใช้เวทมนต์ในยุคก่อนเกิดขึ้นหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่ด้วยข้อมูลที่ยังไม่มากพอจึงทำให้ผู้วิจัยไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลออกมาได้
เขาได้สร้างชุดข้อมูลใหม่ (Dataset) จากการสำรวจเก็บข้อมูลด้วยตนเองรวมถึงสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ตั้งแต่ปี 2008 ถึง 2017 จากสำนักวิจัย Pew Research Center และหน่วยงานวิจัยอื่นๆ ซึ่งภายในแบบสำรวจจะประกอบด้วยชุดข้อมูลคำถามเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาอย่างกว้างๆ ก่อนจะสโคปคำถามให้แคบลงมาให้อยู่ในประเด็นความเชื่อเรื่องเวทมนต์
Gershman ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ทำแบบสอบถามส่วนใหญ่แม้จะมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับเวทมนตร์และคาถาในรูปแบบต่างๆ มากมาย แต่หนึ่งคีย์เวิร์ดที่ปรากฏแทบทุกครั้งคือ "นัยน์ตาปีศาจ (evil eye)" เครื่องรางต้องมนต์ ที่เชื่อกันว่าสามารถป้องกันอำนาจมืดจากสิ่งชั่วร้าย รวมถึงความอิจฉาริษยา ของผู้ไม่ประสงค์ดี และราวร้อยละ 40 ของผู้ทำแบบสอบถามมีความเชื่อในเครื่องรางชนิดนี้ ซึ่งถ้าหากแปลงเป็นจำนวนประชากรจากที่เขาได้ทำแบบสอบถามจะอยู่ที่ราว 1 พันล้านคน
ความเชื่อกับความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างทางสังคม
จากข้อมูลที่ได้มาใหม่นี้ทำให้ Gershman สามารถศึกษาถึงความเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อเรื่องการใช้เวทมนตร์คาถากับปัจจัยต่างๆ ทั้งในระดับบุคคลและระดับประเทศได้
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อเรื่องเวทมนต์ในระดับบุคคล เขาพบว่า ในกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาค่อนข้างสูง มีความมั่นคงและเสรีภาพทางการเงิน แทบจะไม่ปรากฎความเชื่อในเรื่องดังกล่าวเลย
ส่วนในระดับภูมิภาค การศึกษาพบว่า ผู้ที่มีความเชื่อในเรื่องเวทมนต์คาถามักอยู่ในภูมิภาคที่สถาบันการปกครองมีความอ่อนแอ เทคโนโลยียังขาดการพัฒนา ประชากรมีความกังวลในระดับที่สูง ขาดกิจกรรมที่ส่งเสริมความสร้างสรรค์ และความไว้วางใจทางสังคมอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงยังพบว่าในขณะนี้ความเชื่อดังกล่าวเริ่มขยายและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยจำนวนความชุกที่แพร่กระจายมีความสัมพันธ์กับลักษณะทางวัฒนธรรม สถาบันการปกครองของพื้นที่นั้นๆ สภาวะด้านจิตใจของคนในประเทศ รวมถึงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคม
สู่การต่อยอดด้านการพัฒนานโยบายระดับประเทศ
Gershman ยังยอมรับว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้ได้มุมมองระดับโลกอย่างแท้จริงเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องเวทมนต์และคาถา เนื่องจากการศึกษานี้ยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น การขาดข้อมูลจากจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นสองประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก
การทำความเข้าใจความเชื่อเหล่านี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของรัฐบาลแต่ละประเทศ หรือแม้กระทั่งกลุ่มหรือองค์กรที่พยายามหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กับคนในท้องถิ่น ทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดเพื่อช่วยปรับนโยบายและโครงการเพื่อพัฒนาประชากรได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ Gershman ยังยกคำพูดของนักมานุษยวิทยา Monica Hunter Wilson ผู้ล่วงลับไปแล้ว ไว้ดังนี้
“การศึกษาวิจัยเรื่องเวทมนต์คาถาเหมือนเป็นฝันร้ายสำหรับคนบางกลุ่ม และฉันเชื่อว่าการวิเคราะห์เปรียบเทียบเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องโบราณคร่ำครึ แต่เป็นหนึ่งในกุญแจไขสู่ความเข้าใจของสังคม”
ข้อมูลอ้างอิง:
https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0276872