Innovation Keeping the World : Rethink Recover รักษ์โลกไม่ใช่แค่เทคโนโลยี
เปิดประสบการณ์ใหม่กับการสร้างโลกสีเขียวอย่างยั่งยืน Innovation Keeping the World : Rethink Recover นวัตกรรมรักษ์โลก
‘Innovation Keeping The World Rethink Recover นวัตกรรมรักษ์โลก’ งานเสวนาออนไลน์ จาก SPRiNG ร่วมมือกับ Nation Online และ NEXT BY NATION ซึ่งได้รับเกียรติจาก วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอีก6 วิทยากรจาก 6 องค์กรชั้นนำมาร่วมปาฐกถาพิเศษแบ่งปันหาทางออกให้กับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน
ซึ่งหัวข้อที่ร่วมเสวนาในครั้งนี้ คือ Rethink Recover คิดใหม่เพื่อโลก : Innovation for Zero Carbon และ Innovation for Zero Waste
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า เมื่อก่อนเรามองน้ำมันเป็นทองคำสีดำ แต่หลังจากนี้ต้องเปลี่ยนเทคโนโลยีรักษ์โลก เป็น ทองคำสีเขียว ที่มีค่า กระทรวงฯ กำลังผลักดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเปลี่ยนจากภาคสมัครใจเป็นภาคบังคับ ในการรักษ์โลก สร้างการลงทุนที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
คุณเทอดเกียรติ พร้อมมูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ระบุว่า ธุรกิจของ ปตท. เกี่ยวข้องกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์โดยตรง ดังนั้นเมื่อโลกหันมาจัดการคาร์บอนมากขึ้น ธุรกิจของ ปตท. เองก็ต้องปรับตัว ปตท. เกิดมาในวันที่ประเทศไทยขาดแคลนน้ำมันเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ดังนั้นเมื่อโลกขยับไปลดใช้น้ำมัน เราก็ต้องปรับตัวตามให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีความมั่นคงในพลังงานสะอาด
ส่วนทางคุณกิตติศักดิ์ เงินงอกงาม ผอ.ฝ่ายพัฒนาธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ด้านระบบพลังงาน บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์(ประเทศไทย) มองว่า หากสามารถสร้างพฤติกรรมรักษ์โลก ตั้งแต่โรงงานผลิตแล้วจึงขยายไปสู่โลกภายนอก โดยการลดของเสียในการผลิตให้ออกมาน้อยที่สุด ซึ่งเมื่อพนักงานสามารถมองเห็นภาพว่าพวกเขาควรรักษ์โลกอย่างไร แล้วพวกเขาจะเริ่มคิดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยที่ไม่ขัดต่อสิ่งที่พวกเขาทำ และที่สำคัญคือเมื่อไม่มีของเสีย ก็ประหยัดต้นทุนในการกำจัดของเสียด้วย
ขณะเดียวกัน คุณเอกอธิ รัตนอารี กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ สายงานทรัพยากรบุคคลและบริหารงานทั่วไป บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส(ประเทศไทย) ชี้ว่า “ถ้าพนักงานของเราเข้าใจว่าพวกเขาควรรักษ์โลก ประหยัดพลังงาน ลดของเสียให้ได้มากที่สุดได้อย่างไร พวกเขาก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการลดคาร์บอนไดออกไซน์ของประเทศได้ เมื่อพนักงานในโรงงานเข้าใจมันก็จะถูกส่งต่อไปยังครอบครัวของพนักงานและส่งต่อมายังสังคมได้ในที่สุด”
คุณสมถวิล ปรานวนิช ที่ปรึกษาคณะจัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ระบุว่า นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากเพราะเกี่ยวข้องกับทุกคน เพื่อให้นโยบายนี้สามารถขับเคลื่อนได้จริง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ซึ่งสำหรับโรงพยาบาลเมดพาร์คเอง ก็เริ่มจากนวัตกรรมอาคารที่เราใช้ เช่น กระจกลดแสงสะท้อน , ระบบกรองฝุ่นภายในอาคาร เป็นต้น แล้วจึงก้าวไปสู่ขั้นตอนต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาล
คุณภูวินทร์ คงสวัสดิ์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Easy Rice (Easy Rice Technology Co.,Ltd.) ระบุว่า ปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดของเสียภาคการเกษตรปัจจุบัน คือ การใช้คนในการตรวจสอบและเกิดข้อบกพร่องจากมนุษย์ ดังนั้นหากนำเทคโนโลยีเข้ามาเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลก็จะทำให้เราสามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทิภาพมากขึ้น เช่น การซื้อข้าว หากเราใช้ Ai ก็จะทำให้เกษตรกรปลูกข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
ดร.นงนุช อธิพันธุ์อำไพ ผอ.ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ ABSOLUTE PLANT (Global Food Trading Co.,Ltd.) ให้ความเห็นว่า การรับประทานอาหารจากสัตว์ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมายังชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งในการศึกษาพิ่มเติมพบว่า เนื้อจากพืช สามารถลดมลพิษได้มากกว่าเดิมถึง 30% และยังมีผลดีต่อธรรมชาติด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น เราไม่จำเป็นต้องทำลายพื้นที่ป่าเพื่อนำมาทำฟาร์มปศุสัตว์ เป็นต้น
สำหรับงาน SPRiNG News Special Forum : Innovation Keeping the World : Rethink Recover นวัตกรรมรักษ์โลก จัดเมื่อวันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 2565 เวลา 13.30 - 16.00 น. ผู้สนใจสามารถรับชมได้ทางแพลตฟอร์ม Facebook และ Youtube ของ SPRiNG News, Facebook : NATION ONLINE และ Facebook : NEXT BY NATION