posttoday

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) เผยโฉมผลงานวิจัย “ยานเกราะล้อยาง 8x8” รุ่น Black Widow Spider ที่ผลิตขึ้นเองคันแรกของประเทศ

06 พฤศจิกายน 2558

ในงาน Defense & Security 2015

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) เผยโฉมผลงานวิจัย “ยานเกราะล้อยาง 8x8” รุ่น Black Widow Spider ที่ผลิตขึ้นเองคันแรกของประเทศ โดยถือเป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เกิดความเข้มแข็งมีศักยภาพเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง พร้อมนำทัพอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ โชว์ฝีมือนักวิจัยไทย ในงาน Defense & Security 2015

พล.อ.สมพงศ์ มุกดาสกุล ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) เปิดเผยว่า การจัดงานแสดงผลงานวิจัยและพัฒนาในงานนิทรรศการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (Defense & Security 2015) ครั้งนี้ DTI ได้ร่วมกับกระทรวงกลาโหมและภาคเอกชนในการเผยแพร่ และจัดแสดงผลงานวิจัยด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้กับหน่วยผู้ใช้และผู้เข้าร่วมงาน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ชมศักยภาพ เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด องค์ความรู้ และประสบการณ์ในการวิจัยกับผู้เข้าร่วมชมงาน ซึ่งจะได้นำไปปรับใช้กับการปฏิบัติงานต่อไป

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) เผยโฉมผลงานวิจัย “ยานเกราะล้อยาง 8x8” รุ่น Black Widow Spider ที่ผลิตขึ้นเองคันแรกของประเทศ

สำหรับในปีนี้ DTI มีความภูมิใจในการนำเสนอผลงานที่เป็นนวัตกรรมชิ้นสำคัญคือ “ยานเกราะล้อยาง DTI 8x8” คันแรกของเมืองไทย ชื่อรุ่น Black Widow Spider ที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทยของ DTI บูรณาการความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC และภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนิรภัย ยานยนต์ ทำให้เกิดต้นแบบยานเกราะนี้ขึ้นมา โดยใช้เทคโนโลยีของตัวเองมากกว่า 60% และใช้ระยะเวลาเพียง 2 ปี ซึ่งถือเป็นก้าวกระโดดสำคัญของโครงการพัฒนายุทธยานยนต์เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยที่ประสิทธิภาพของยานเกราะล้อยาง DTI 8x8 นี้เป็นไปตามมาตรฐานทางทหารของกลุ่มประเทศนาโต้ (NATO STANAG) ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก

คุณสมบัติสำคัญของยานเกราะล้อยาง DTI 8x8 คือ สามารถขับเคลื่อนได้ทั้งบนบกและในน้ำ รองรับผู้ปฏิบัติงานได้ 12 นาย ติดตั้งป้อมปืนได้ถึงขนาด 30 มม. มีกล้องตรวจการณ์รอบคันรถจึงปฏิบัติภารกิจได้หลากหลายรูปแบบ เช่น เป็นยานบัญชาการ มีตัวถังเกราะได้มาตรฐานนาโต้ STANAG 4569 ระดับ 4 คือ ทนทานต่อกระสุนปืนเล็กทุกขนาด ทนต่อกระสุนปืนกลหนักขนาด 14.5 x 114 มม. หรือ 0.57 คาลิเบอร์ ที่ยิงระยะ 200 เมตร และยังทนต่อแรงระเบิดของกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 มม.ที่ตกระยะ 30 เมตรอีกด้วย อีกทั้งยังมีสมรรถนะสูงที่เหมาะสมต่อการ ปฏิบัติงานในสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างได้เป็นอย่างดียิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการไต่ลาดชันได้ไม่น้อยกว่า 60% การไต่ลาดเอียงได้ไม่น้อยกว่า 30%

ปัจจุบันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยถือว่ามีความรุดหน้าไปมาก โดย DTI ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความสามารถ และมีความตั้งใจในการพัฒนาและผลักดันให้เกิดการวิจัยและสร้างยุทโธปกรณ์ของไทยให้กับกองทัพ ซึ่งเมื่อเกิดความเข้มแข็งแล้วในอนาคตก็จะมีโอกาสในการร่วมมือพัฒนาด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างชาติ ในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน

“ช่วงปี 2558-2559 DTI ซึ่งเป็นหน่วยงานด้าน R & D อาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพไทย ได้สร้างผลงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศไปแล้วกว่า 20 โครงการ โดยหลายโครงการที่นำมาจัดแสดงนั้นได้มีการส่งมอบ ให้กองทัพไปใช้งานแล้ว ซึ่งต้องขอบคุณหน่วยผู้ใช้ที่ให้การสนับสนุนและร่วมผลักดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ สะท้อนได้ว่า DTI กำลังพัฒนาไปถูกทาง สามารถสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เติบโต ได้สร้างประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจนำรายได้เข้าสู่ประเทศและสร้างงานให้แก่ประชาชนได้เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมประเภทอื่น”

นอกจากนี้ ภายในงาน DTI ยังมีผลงานพัฒนาอื่น ๆ ที่นำมาจัดแสดงอีกมากมาย อาทิ อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) ระบบจำลองยุทธ์ (UAV Simulator) จรวดขนาด 122 ม.ม. สำหรับฝึก D10A กระสุนขนาด 30 มม. รถสายพาน ความพิเศษ อีกอย่างคือการแสดงแบบจำลองของรถสายพาน Type 85 ที่ติดตั้งแท่นยิงจรวดขนาด 122 มม. เป็นครั้งแรกที่นี่อีกด้วย

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) เผยโฉมผลงานวิจัย “ยานเกราะล้อยาง 8x8” รุ่น Black Widow Spider ที่ผลิตขึ้นเองคันแรกของประเทศ

สำหรับงาน Defense & Security 2015 เป็นงานแสดงอาวุธ ยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีทางด้านการรักษาความปลอดภัย หัวใจสำคัญของงานก็คือการนำผู้แทนด้านอาวุธชั้นนำจากประเทศต่างๆ เกือบ 100 บริษัท มาจัดแสดงให้หน่วยงานทางด้านการทหารได้ชมเทคโนโลยี สมรรถนะ ของอุปกรณ์แต่ละชนิดที่จะนำมาใช้งานด้านรักษาความปลอดภัย ป้องกันประเทศของแต่ละประเทศกัน ซึ่งปีนี้จัดงานภายใต้แนวคิด “The Power of Partnership” ให้น้ำหนักกับการร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาวิจัยงานด้านอาวุธยุทโธปกรณ์เทคโนโลยีป้องกันประเทศ