posttoday

สุราษฎร์ธานีฯ จับมือ“สสค.-สกว.” เดินหน้าปฏิรูปการศึกษาด้วย “SQIP”

01 มีนาคม 2560

สุราษฎร์ธานีฯ เปลี่ยนมาตรฐานคุณภาพการศึกษา สร้างโรงเรียนให้เป็น “แหล่งเรียนรู้ที่มีความสุข”

สุราษฎร์ธานีฯ เปลี่ยนมาตรฐานคุณภาพการศึกษา สร้างโรงเรียนให้เป็น “แหล่งเรียนรู้ที่มีความสุข”

จังหวัดสุราษฎร์ธานี นับเป็น 1 ใน 14 จังหวัดนำร่องในการ “ปฏิรูปการศึกษา” ภายใต้โครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้หรือ การจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area-Based Education) และล่าสุดได้ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) นำ “โครงการวิจัยและปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง” (School Quality Improvement Program: SQIP) มาใช้กับโรงเรียนขนาดกลางและเล็กในพื้นที่ เพื่อแสวงหาแนวทางการพัฒนาโรงเรียนทั้งในด้านของคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา และการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้อย่างมีความสุข

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. เปิดเผยว่าจากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่าประเทศไทยมีปัญหาช่องว่างคุณภาพสถานศึกษาระหว่างชนบทและเมืองที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ นักเรียนในโรงเรียนเขตชนบทมีคะแนนต่ำกว่านักเรียนในโรงเรียนเขตเมืองถึง 3 ปีการศึกษา สาเหตุเกิดจากการพัฒนาคุณภาพการศึกษาพุ่งเป้าแต่โรงเรียนเขตเมือง การกระจายงบประมาณไม่สอดคล้องกับภาระของโรงเรียน และการประเมินที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ยากลำบาก หากต้องการคลี่คลายปัญหานี้ การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในพื้นที่ยากลำบากจึงเป็นข้อจำ เป็นมากที่สุด

“ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนที่มีศักยภาพเป้าหมายคุณภาพ Q-Goal พัฒนาให้เป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ในระดับตำบลจำนวน 4,514 แห่ง สกว. และ สสค. จึงพัฒนาโครงการวิจัยปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง (Development and Action Research) เพื่อค้นหามาตรการที่มีประสิทธิภาพ (Effective Interventions) ในการพัฒนาโรงเรียน โดยมีเป้าหมายนำร่องในโรงเรียนขนาดกลางที่มีจำนวนนักเรียนประมาณ 200-500 คนในพื้นที่ดำเนินงาน 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน ลำปาง สุโขทัย อำนาจเจริญ สุรินทร์ เพชรบุรี กาญจนบุรีชลบุรี อยุธยา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต จังหวัดละ 10-15 โรงเรียนระยะเวลาประมาณ 2-3 ปี”

 

สุราษฎร์ธานีฯ จับมือ“สสค.-สกว.” เดินหน้าปฏิรูปการศึกษาด้วย “SQIP”

 

นายนคร ตังคะพิภพ หัวหน้า Q-Coach โครงการวิจัยและปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง ได้กล่าวถึงเป้าหมายหลักของโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องว่าโรงเรียนจะพัฒนาตนเองตามบริบทของโรงเรียนโดยมีเป้าหมายร่วมคือ “โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความสุข” ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทุกคนจะเติบโตในเชิงวิชาชีพสูงขึ้น และเป็นมืออาชีพมากขึ้น เป็นที่ยอมรับ นักเรียนเข้าถึงโอกาสทางการเรียนรู้ที่สร้างคุณภาพตามศักยภาพ

“โครงการนี้มีมาตรการช่วยสนับสนุนให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการก้าวสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.Q–Coach ทีมเพื่อนร่วมทางช่วยจุดประกาย เปิดประเด็น ริเริ่มการจัดกระบวนการช่วยเหลือ 2.Q-PLCs เสริมสร้างชุมชนครูที่เข้มแข็ง นำประเด็นพัฒนาไปสู่การเรียนการสอนนักเรียน 3.Q-Info ป้อนข้อมูลแก่ผู้บริหาร ทีมทำงานของโรงเรียนสำรวจสถานะนักเรียน และเกิดระบบจัดการข้อมูลสารสนเทศ ลดภาระธุรการ 4.Q-Goal เป้ากระตุ้นการมีส่วนร่วม ของบุคลากรและชุมชน ตรงตามประเด็นเป้าหมายคุณภาพ Q-Goal แต่ละภาคเรียน และ 5.Q-Networkเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ข้ามโรงเรียน เรียนรู้จากเพื่อนที่Q-Goal ก้าวหน้าไปแล้ว”

จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่ประสบความสำเร็จในการนำ “โครงการพัฒนาระบบกลไกและแนวทางการหนุนเสริมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาผู้เรียน (Professional Learning Community)” หรือ PLC ภายใต้ “โครงการพัฒนาครูโดยใช้พื้นที่เป็นฐานจังหวัดสุราษฎร์ธานี” ไปใช้เพื่อพัฒนาครูและสร้างคุณภาพการเรียนรู้อย่างมีความสุขให้เกิดขึ้นในสถานศึกษา

“PLC เป็นแนวคิดในการที่จะพัฒนาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ไม่ได้เชิญวิทยากรมานั่งบรรยาย หรือเชิญครูที่ขาดแคลนในแต่ละชั้นเรียนอยู่แล้วออกไปอบรมที่โรงแรมเหมือนกับที่ผ่านๆ มา PLC เป็นการสร้างชุมชนในโรงเรียน ใช้โรงเรียนเป็นฐาน ใช้ครูจับคู่กันทำงานเพื่อหาจุดบกพร่องของการจัดการเรียนการสอน และหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน สร้างให้เกิดกระบวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างเพื่อนครู โดยมีผู้รู้และนักวิชาการจากภายนอกช่วยให้คำแนะนำ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของตัวครูและตัวผู้เรียน เพราะแต่ละโรงเรียนจะมีปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งกระบวนการนี้จะสามารถสร้างนวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอนได้หลากหลาย” นายชัยวัฒน์ แก้วบัวทอง ประธานโครงการพัฒนาครูโดยใช้พื้นที่เป็นฐานฯ กล่าวถึงกระบวนการ PLC

โดย “โรงเรียนบ้านห้วยด่าน” อำเภอกาญจนดิษฐ์ เป็นสถานศึกษาที่นำกระบวนการ PLC เข้าไปใช้แก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเด็กนักเรียนมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 จนประสบความสำเร็จ ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าปัญหาต่างๆ ในสถานศึกษานั้นสามารถเริ่มต้นได้ที่โรงเรียนโดยอาศัยพลังความร่วมมือร่วมใจของคณะครูและผู้บริหาร โดยไม่จำเป็นไม่ต้องรองบประมาณและการสนับสนุนช่วยเหลือจากต้นสังกัด

“โรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่อนุบาลถึง ป.6 มีนักเรียน 167 คน ปัญหาของเราคือเด็กของเราอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แถมยังไม่มีครูเอกภาษาไทยโดยตรง แต่เมื่อนำกระบวนการ PLC เข้ามาใช้ ก็ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรม 4 ฐานเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหา จนทำให้ผลการประเมินโอเน็ตวิชาภาษาไทยเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมที่อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์กลางก็เพิ่มสูงขึ้นเป็น 58.41 และยังส่งผลให้ค่าเฉลี่ยในวิชาอื่นๆ สูงขึ้นตามไปด้วย แต่สิ่งที่สำคัญกว่าผลการประเมินก็คือ PLC ได้ทำให้เกิดความรักสามัคคีความผูกผันระหว่างครูผู้สอนจากเดิมที่ต่างคนต่างสอนก็หันมาทำงานเป็นเครือข่าย ที่สำคัญกว่านั้นก็คือเด็กๆ มีความกระตือรือร้นมีความสุขในการเรียนและอยากจะเข้ามาเรียนรู้ในฐานการเรียนรู้ต่างๆ วันนี้จึงอยากจะบอกว่า PLC เป็นกระบวนการพะฒนาครูที่จะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของเด็ก ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทำได้ง่าย และเห็นผลอย่างยั่งยืน” นางพิทยา บุญคง หัวหน้าคณะทำงาน PLC รร.บ้านห้วยด่านระบุ

การนำโครงการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง (SQIP) มาใช้ในการยกระดับมาตรฐานการเรียนรู้และคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษา เพื่อสร้างการเรียนรู้อย่างมีความสุข จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสุราษฏร์ธานีให้ประสบความสำเร็จ

 

สุราษฎร์ธานีฯ จับมือ“สสค.-สกว.” เดินหน้าปฏิรูปการศึกษาด้วย “SQIP”