posttoday

บ้านดินถู่โหลวหนานจิ้ง

10 กรกฎาคม 2560

บ้านดินถู่โหลวหนานจิ้ง คือแหล่งวัฒนธรรมมรดกโลกที่สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 12-20 ในห้วงของราชวงศ์ซ่ง ราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง

 

บ้านดินถู่โหลวหนานจิ้ง คือแหล่งวัฒนธรรมมรดกโลกที่สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 12-20 ในห้วงของราชวงศ์ซ่ง ราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง โดยเป็นฝีมือและภูมิปัญญาโบราณของชาวฮกเกี้ยน ที่ได้ออกแบบและสร้างกลุ่มบ้านดินอันน่าทึ่งที่มีความสูงตั้งแต่ 2-5 ชั้น ด้วยรูปแบบที่เรียบง่ายแต่แข็งแกร่งใหญ่โต เพื่อให้เป็นทั้งป้อมปราการและเป็นบ้านพักอาศัยในคราวเดียวกัน ภายในอำเภอหนานจิ้งมีบ้านดินถู่โหลวกว่า 1,300 หลังตั้งอยู่กระจัดกระจายบนพื้นที่ 1,962 ตารางกิโลเมตรของอำเภอหนานจิ้ง เมืองจางโจว มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน ซึ่งในจำนวนนี้มีจำนวน 57 หลังที่มีอายุมากกว่า 100 ปี และ 20 หลังที่ได้ยกย่องให้เป็นมรดกโลก

สไตล์การสร้างบ้านดินมี 2 รูปแบบ คือแบบอาคารทรงกลมหลายชั้น และแบบทรงเหลี่ยม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นทรงกลมมากกว่า และมีบ่อน้ำอยู่ตรงกลางตามหลักฮวงจุ้ยที่ดี ตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งที่โอบล้อมด้วยภูเขาสูง มีการทำนาขั้นบันไดและไร่ชา ตัวบ้านสร้างขึ้นจากดิน ไม้ หิน และไม้ไผ่ เป็นวัสดุก่อสร้างหลัก มีความหนาของกำแพงถึง 1 เมตร ช่วยป้องกันพายุลมแรง และทำให้บ้านดินมีอากาศเย็นในฤดูร้อนและอบอุ่นในฤดูหนาว นอกจากนี้ด้วยโครงสร้างที่แน่นหนายังช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในบริเวณนี้อีกด้วย

ภายในออกแบบโดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยอย่างคุ้มค่า แบ่งเป็นห้องย่อยๆในขนาดเท่าๆกัน เพื่อให้ทุกครอบครัวได้อยู่กันเป็นสัดส่วน ทุกห้องถูกสร้างให้หันหน้าเข้าหากัน ส่วนผนังหลังห้องจะทำหน้าที่เป็นกำแพงของบ้านดิน มีพื้นที่ส่วนกลางเปิดโล่งเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ชั้นบนของบ้านดินมีช่องระบายลมที่จะเปลี่ยนเป็นหอยืนยามและป้อมยิงในการต่อสู้กับโจร มีประตูใหญ่ที่ใช้สัญจรเข้าออกเพียงทางเดียวสร้างขึ้นจากไม้กระดานหนา 10 เซนติเมตร เหนือประตูจะมีรางน้ำ หากเมื่อถูกโจมตีด้วยไฟ ชาวบ้านจะลำเลียงน้ำจากชั้น 2 ผ่านถังเก็บน้ำและรางไม้ไผ่เพื่อดับไฟ บ้านดินจึงเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความแข็งแกร่ง และยากที่จะเจาะเข้าไปถึงภายในได้ นักสถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่น Keiichiro Mogi ยกย่องให้บ้านดินเป็นโครงสร้างที่มีลักษณะเฉพาะ ที่เปรียบเปรยไว้ว่าเป็นสิ่งที่ UFO ส่งลงมาจากฟากฟ้า และผุดขึ้นมาจากพื้นดินดั่งเห็ด และ Stevens Andre เจ้าหน้าที่จากองค์กรยูเนสโก กล่าวว่า บ้านดินเป็นรูปแบบสิ่งก่อสร้างแบบชนบทที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์แห่งภูมิปัญญาที่สืบทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นที่ทรงคุณค่าของโลก โดยในปี 2008 คณะกรรมการมรดกโลกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียนบ้านดินให้เป็นเป็นมรดกโลก และในปี 2011 ได้รับการจัดอันดับจากการท่องเที่ยวประเทศจีน China National Tourism Administration ในระดับ 5A (AAAAA) หรือระดับสูงสุดของที่เที่ยวในจีน

Tianluokeng Tulou Cluster

บ้านดินถู่โหลวหนานจิ้ง

หมู่บ้านเถียนหลัวเคิง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "ข้าวสี่จานซุปหนึ่งถ้วย" เป็นกลุ่มบ้านดินที่ประกอบด้วย บ้านดินทรงกลม 4 หลัง และทรงสี่เหลี่ยม 1 หลังตั้งอยู่กึ่งกลาง แสดงถึงวัฏจักรการกำเนิดของธาตุทั้ง 5 ตามหลักปรัชญาจีนโบราณ (ทอง ไม้ น้ำ ไฟ ดิน) เมื่อมองจากด้านบน จะมีลักษณะเปรียบเหมือนภาพดอกเหมยฮัว ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติ ที่มีสัญลักษณ์หมายถึงความเข้มแข็ง มั่นคง และอุตสาหะ ด้วยการจัดวางองค์ประกอบโครงสร้างและรูปแบบในทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นนี้เอง ที่ทำให้บ้านดินแห่งนี้ได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโก รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ของบ้านดินในมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งต่อมาภายหลังยังได้กลายมาเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่มีทัศนียภาพสวยงามของจีน และเป็นหมู่บ้านที่สะท้อนถึงแก่นประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจีนอีกด้วย

Taxia Village

ในจำนวนหมู่บ้านที่มีทัศนียภาพงดงามของจีน และหมู่บ้านที่สะท้อนถึงแก่นประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของมณฑลฝูเจี้ยน หมู่บ้านถ่าเซี่ยเป็นที่กล่าวขานถึง ในด้านทัศนียภาพเมืองชนบทแห่งสายน้ำที่สวยงามดั่งภาพในฝัน มีลำธารที่ใสสะอาดทอดตัวยาวคดเคี้ยวผ่านหุบเขาเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ผูกพันอยู่กับสายน้ำเป็นหลัก สะท้อนภาพความเป็นอยู่ของคนจีนในสมัยโบราณที่ดูเรียบง่าย มีสะพานหินโค้งรูปแบบต่างๆถึง 11 สะพาน ที่เชื่อมระหว่างสองฝั่งของลำธารเข้าไว้ด้วยกัน อันเป็นที่ตั้งของบ้านดินจำนวน 42 หลัง ที่กระจายตัวอยู่ท่ามกลางเนินเขาและลำธารของหมู่บ้านแห่งนี้ เปรียบดั่งภาพวาดไท้จิ จิตรกรรมภูมิทัศน์จีนสุดคลาสสิคจากมุมมองไกล นอกจากความงดงามทางธรรมชาติแล้ว ที่นี่ยังมีศาลเจ้าเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของบรรพบุรุษตระกูล Zhang ที่ได้มีการอนุรักษ์ไว้อย่างสมบูรณ์เป็นสมบัติของชาติภายใต้การดูแลของรัฐ ในฐานะวัดเก่าแก่ของบรรพบุรุษที่ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศจีน ด้านหน้าศาลเจ้ามีเสาหินมังกร 24 ต้น ที่ถือเป็นกลุ่มเสาหินที่มีจำนวนมากที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดในประเทศจีน

Yuchanglou

บ้านดินอี้ชางโหล่ว นับเป็นบ้านดินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่หลงเหลืออยู่ในมณฑลฝูเจี้ยน สร้างขึ้นในปี 1308 มีอายุราว 700 ปี เป็นบ้านดินหลังเดี่ยวรูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 36 เมตร ขนาดความสูง 18.2 เมตร ภายในมี 5 ชั้น ซึ่งมีจำนวนห้องมากถึง 270 ห้อง มีบันไดขึ้นลงทั้งหมดถึง 5 ทาง ที่แบ่งสัดส่วนของบ้านออกเป็น 5 ส่วน มีบ่อน้ำจำนวน 22 บ่อในบริเวณห้องครัวชั้นล่าง ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากที่สุด ในบรรดาบ้านดินในฝูเจี้ยนทั้งหมด ตั้งแต่บริเวณชั้น 2 ของอาคารขึ้นไปมีเสาไม้ลาดเอียงถึง 210 ท่อน ท่อนที่เอียงที่สุดมีความเอียงถึง 15 องศา บ้านดินหลังนี้แสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมโบราณที่แข็งแกร่ง แม้ว่าจะผ่านเวลามายาวนานกว่า 700 ปี รอดพ้นจากแผ่นดินไหวมานับครั้งไม่ถ้วน ก็ยังคงตั้งตระหง่านให้ชนรุ่นหลังได้มาสัมผัสจวบจนปัจจุบัน

Yunshuiyao

บ้านดินถู่โหลวหนานจิ้ง

ยวินชุ่นเหยา หมู่บ้านเล็กๆในชนบทแห่งหนึ่งในเขตหนานจิ้ง ที่เงียบสงบและยังคงวิถีการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม หมู่บ้านที่สุดแสนโรแมนติกอันเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์รักแสนเศร้าเรื่องยวินชุ่ยเหยา เรื่องราวของคู่รักที่ต้องเผชิญช่วงเวลาอันโหดร้ายโดยการต้องพลัดพรากจากกันกว่าครึ่งศตวรรษจากเหตุการณ์บ้านเมืองอันไม่สงบสุขในไต้หวัน ท่ามกลางความงดงามของต้นไทรโบราณที่ตั้งตระหง่าน ทางเดินหินเก่าแก่ ทิวทัศน์บ้านดิน ผิวน้ำของลำธารที่นิ่งใส สถานที่แห่งนี้จึงทำให้รู้สึกได้ถึงความรัก ความห่วงหา ความคิดถึง ที่แทรกตัวแฝงไปในทุกหนแห่ง

Heguilou

บ้านดินเหอกุ้ยโหล่ว ตั้งอยู่บนพื้นที่แอ่งน้ำขนาด 3,000 ตารางเมตร เปรียบได้ดั่งเรือโนอาห์ขนาดใหญ่บนพื้นแผ่นดิน และเป็นบ้านดินรูปทรงสี่เหลี่ยมที่มีความสูงที่สุด อันเปี่ยมด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ทั้งในด้านความสูง และความหนาของตัวกำแพงในสัดส่วน 13:1 ซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่จะสร้างขึ้นได้เมื่อ 200 ปีก่อน

Huaiyuanlou

บ้านดินหวนเหยียนโหล่ว สร้างในปี 1905 เป็นบ้านดินวงกลมคู่รูปทรงกลองที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด เป็นต้นแบบการสร้างอาคารโบราณที่ใช้เทคนิคทางสถาปัตยกรรม ที่เรียกว่าการสร้างกำแพงเอียง ซึ่งใช้หินและดินอัดที่มีคุณภาพแตกต่างกันเป็นวัสดุพื้นฐาน แสดงให้เห็นถึงรากฐานในการสร้างกรอบกระดานของชาวจีนตอนกลางสมัยโบราณ และทักษะหัตถศิลป์ในการทำดินอัด ทั้งเสาคู่ ลวดลายแกะสลักบนคานหลังคา ภาพวาดบนผนัง ล้วนประกอบขึ้นจากความสอดคล้องอันเป็นเลิศระหว่างรูปแบบการก่อสร้างในแบบฝูเจี้ยนใต้ และแนวคิดทางสังคมของขงจื้อ ชื่อของบ้านดินหลังนี้มีความหมายแฝงที่สื่อถึงความคิดถึงที่มีต่อญาติคนสนิทที่อยู่ห่างไกล และการสั่งสอนลูกหลานให้มีความใจกว้าง ทำให้การสร้างบ้านดินหลังนี้เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์และมีความหมาย