DPU X โดย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ติดอาวุธความรู้ ปั้นนักพัฒนาบล็อกเชนในไทย
“บล็อกเชน” (Blockchain) เทคโนโลยีที่ร้อนแรงและได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในช่วง 1-2 ปีมานี้ ความสำคัญของเทคโนโลยีนี้คืออะไร? และเข้ามาเสริมศักยภาพการทำงานของภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐได้มากน้อยแค่ไหน?
ด้วยจุดเด่นของบล็อกเชนในเรื่องหลักๆ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย (Secure) และความน่าเชื่อถือข้อมูลที่จัดเก็บเอาไว้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้
บล็อกเชน ยังมีข้อดีในเรื่องที่ไม่มีศูนย์กลาง (Decentralized) ในการจัดเก็บข้อมูล ดังนั้น ระบบจึงต้องฟังความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในการตรวจสอบข้อมูล Transaction ที่เกิดขึ้น
จากการทำงานในคอนเซ็ปต์ดังกล่าวทำให้ภาคธุรกิจเริ่มมองว่า เป็นรูปแบบที่จะเข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับระบบหลังบ้าน ลดปริมาณงานด้านเอกสาร ช่วยในการจดจำข้อมูล ติดตาม โอนย้ายข้อมูล สร้างความถูกต้องและตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ ทั้งยังมองถึงการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจในอนาคต
ในวันนี้ธุรกิจทั่วโลกเริ่มนำบล็อกเชนเข้ามาพัฒนางานต่างๆ ของธุรกิจกันมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงธุรกิจในไทย เช่น สถาบันการเงิน โดยมีการคาดการณ์ว่าการนำบล็อกเชนมาใช้งานในองค์กรธุรกิจจะเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ในขณะที่มองกลับมาอีกด้านจะพบว่าโปรแกรมเมอร์ที่มีความรู้เกี่ยวกับบล็อกเชนนั้นยังมีจำนวนไม่มากนักในไทย ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดการพัฒนาหลักสูตร บล็อกเชนระดับประเทศ Geeks on the Block(Chain) Batch#1 ขึ้นมา โดย DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสร้าง Developer ที่มีความรู้ด้านบล็อกเชน และสามารถนำกลับไปพัฒนาองค์กรของตนเองเมื่ออบรมจบหลักสูตร
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการ DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้งานในภาคธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐนับว่ายังอยูในวงเล็กๆ แต่แนวโน้มในอนาคตแล้วเชื่อว่าบล็อกเชนจะเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีการนำไปใช้งานในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆหากมองย้อนกลับไปในยุคแรกๆ ของอินเทอร์เน็ตที่เริ่มมีการใช้งานในระดับหนึ่งเท่านั้นจนเมื่อถึงวันที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพื่อให้การใช้งานมากขึ้นในวงกว้าง เทคโนโลยีบล็อกเชนก็เช่นกันสิ่งที่ต้องเร่งทำในตอนนี้ก็คือเร่งพัฒนาคนที่มีทักษะและเข้าใจการทำงานของบล็อกเชน ไม่ใช่แค่คิดได้ แต่ต้องสามารถทดสอบไอเดียจนถึงการสร้างเป็นโปรเจ็คที่ใช้งานจริงได้
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม
“ทุกคนคิดได้ แต่เวลาทำจริง จะมีข้อจำกัดหลายส่วนให้ต้องพิจารณา ทั้งเทคโนโลยี บิสิเนส วันนี้ Developer ที่มีความรู้และเข้าใจในคอนเซ็ปต์ของบล็อกเชนในไทยยังมีอยู่น้อย แต่ละองค์กรยังต้องการคนที่มีความรู้ทางด้านนี้เข้าไปทำงาน เมื่อถึงเวลา อยู่ที่ใครพร้อมกว่าจะคว้าโอกาสได้ก่อน”
ในคลาสนี้ ผู้เรียนสามารถเข้าใจถึงพื้นฐานและแนวคิดของระบบ Blockchain สามารถเขียนโค้ด Blockchain เรียนรู้การทำงานทั้ง Hyperledger และ Ethereum
ปิดท้ายด้วยโปรเจครีวิวโดย Mentors แบบ Project by Project ในแง่ของธุรกิจ, User Experience และการใช้งานเชิงเทคนิค โดยผู้เข้าอบรบสามารถนำความรู้ไปประกอบธุรกิจหรือสร้างคุณค่าให้กับองค์กรได้ทันทีที่เรียนจบ โดยตลอดการจัดอบรมจะได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน นำโดย ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่มาเป็นวิทยากรและผู้ออกแบบหลักสูตร รวมถึงวิทยากรสายตรงด้านบล็อกเชน อาทิ นายสถาพน พัฒนะคูหา CEO & Founder, SmartContract และ BlockM.D.และรองนายกสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย หนึ่งในในผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าของเมืองไทยด้านบล็อกเชน และ ดร.สิริวัฒน์ เกษมวัฒนาโรจน์ Advance Visionary Architect at KASIKORN Labs ที่มาคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดตลอดหลักสูตร
ดร.ภูมิ ภูมิรัตน
ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวเสริมว่า ในวันนี้ บล็อกเชน เป็นเทคโนโลยีที่คนเข้าใจยังมีน้อย อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่เอาไปใช้จริงได้ยาก เพราะเอาไปใช้โจทย์เชิงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรู้อยู่แล้วว่ายาก ทำให้เห็นว่า บล็อกเชน เป็นการนำไปใช้เพื่อสร้างสิ่งใหม่ มากกว่าการแก้ปัญหา
ทั้งนี้ ข้อดีของเทคโนโลยีบล็อกเชน คือ เทคโนโลยีอื่นๆไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้เท่าบล็อกเชน เรียกว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ในยุคนี้ที่ให้อำนาจกับคนที่มีอำนาจน้อยกว่า ทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ทุกคน เมื่อใช้งานแล้วมีการรวมเอาอำนาจของทุกคนมาไว้ด้วยกัน ขณะที่เทคโนโลยีอื่นๆมักจะให้อำนาจกับคนที่มีอำนาจเยอะอย่าง AI หรือ ควอนตัม หากจะทำต้องลงทุนค่อนข้างสูง นอกจากด้านธุรกิจแล้วก็ยังมีความสนใจนำบล็อกเชนเข้าไปแก้ปัญหาทางสังคมเช่น แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น