อพท.ดันสุโขทัยเมืองมรดกโลกเป็นแหล่งท่องเที่ยว “Low Carbon”
อพท.จับมือ ชุมชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและอปท.เร่งทำท่องเที่ยว“Low Carbon” ลดการปล่อยคาร์บอน ดันจ.สุโขทัยเมืองมรดกโลกเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
อพท.จับมือ ชุมชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและอปท.เร่งทำท่องเที่ยว“Low Carbon” ลดการปล่อยคาร์บอน ดันจ.สุโขทัยเมืองมรดกโลกเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า จ.สุโขทัยเป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรการท่องเที่ยวที่งดงาม ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวสุโขทัย ในปี 2562 งานประเพณี “ลอยกระทง” เผาเทียน เล่นไฟ จ.สุโขทัย ยังคงจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา ระหว่างวันที่ 2 -11 พ.ย.นี้ ที่บริเวณลานหน้าวัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ทั้งนี้ การจัดงานลักษณะนี้มักจะมีสิ่งไม่พึงประสงค์กับเมืองมรดกโลกแห่งนี้ด้วย นั่นคือ “ขยะ” ซึ่งอพท.ให้ความสำคัญมาก เพราะจ.สุโขทัย อยู่ในความดูแลของ อพท.4 ในพื้นที่เขตพัฒนามรดกโลกด้านวัฒนธรรม (สุโขทัย ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร) และเป็นจังหวัดที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะประกาศนโยบายการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon Tourism หรือ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นต้นแบบให้กับ อพท.พื้นที่อื่นๆ ด้วย
นายทวีพงษ์ กล่าวว่า การตายของพะยูนน้อย “มาเรียม” เนื่องจากกินขยะพลาสติกเข้าไปจนลำไส้อุดตัน ลุกลามจนติดเชื้อในกระแสเลือดก็เป็นบทเรียนหนึ่ง แม้จ.สุโขทัยจะไม่มีทางออกทะเล แต่ก็มีลำน้ำหลายสาย จึงควรนำมาเป็นกรณีศึกษาชีวิตสัตว์น้ำ ที่เราไม่ควรมองข้าม และขยะก็เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมมือกัน
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นภารกิจหลักของ อพท. ที่จะต้องดำเนินการ อพท.ได้ดำเนินตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) ประกอบเป็น 4 เสาหลัก คือ 1.การบริหารจัดการด้านความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ 2.การเพิ่มประโยชน์และลดผลกระทบเชิงลบทางสังคม-เศรษฐกิจแก่ชุมชนท้องถิ่น 3.การเพิ่มประโยชน์และลดผลกระทบเชิงลบทางวัฒนธรรมแก่ชุมชน และ4.การเพิ่มประโยชน์และลดผลกระทบเชิงลบทางสิ่งแวดล้อม
สำหรับ การเพิ่มประโยชน์และลดผลกระทบ หากเป็นด้านสิ่งแวดล้อม คือ จะใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพไว้ ด้วยการทำให้ชุมชนเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวเห็นคุณค่าในทรัพยากรของชุมชนเอง ส่วนการลดผลกระทบ คือ การนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงองค์ความรู้ มาช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยว
ผู้อำนวยการอพท.กล่าวว่า นโยบายการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon Tourism ในจ.สุโขทัย ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 โดย อพท.4 ทำงานร่วมกับภาคีต่างๆ ใน 4 กลุ่มหลัก คือ ชุมชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) โดยมีภารกิจการลดการปล่อยคาร์บอนให้น้อยลง สำหรับภาคการท่องเที่ยวนั้น อพท. มีภารกิจในการ 1.ประสานสร้างความเข้าใจต่อความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ Low Carbon Tourism กับภาคี ทั้งภาครัฐผู้ดูแลแหล่งท่องเที่ยว ภาคธุรกิจบริการท่องเที่ยว ภาคประชาชน หรือ ชุมชน
2.ส่งเสริมความรู้ และ 3.สนับสนุนงบประมาณ แบบบูรณาการร่วมกัน อาทิ ชุมชน ที่มีบริการท่องเที่ยวในลักษณะท่องเที่ยวโดยชุมชน อพท.4 ได้นำวิทยากรมาให้ความรู้ การพาไปศึกษาดูงาน และการจัดกิจกรรมทดสอบเส้นทางท่องเที่ยว ตลอดจนการให้ความรู้ในการพัฒนาเส้นทางในลักษณะเชิงอนุรักษ์ หากเป็นเส้นทางที่เข้าไปในแหล่งธรรมชาติ
นอกจากนั้น ผู้ประกอบการ มุ่งสู่การเป็นสถานประกอบการ-ที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ โรงแรม เพื่อส่งเสริมให้ได้มาตรฐานรางวัลระดับประเทศ Green Hotel ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม อพท. หาผู้มีความรู้มาให้คำแนะนำกับผู้บริหาร-เจ้าหน้าที่โรงแรม เพื่อดำเนินการปรับเปลี่ยน หรือ เพิ่มประสิทธิภาพทั้งในเรื่องการประหยัดน้ำ ไฟฟ้า เชื้อเพลิง การลดปริมาณขยะ โดยประสานให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมมาประเมินตามเกณฑ์ ซึ่งในอนาคต โรงแรมใดที่ผ่านเกณฑ์โรงแรมสีเขียว( Green Hotel ) ระดับสูงสุดแล้ว อพท.พร้อมสนับสนุนให้ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ เพื่อยกระดับยิ่งขึ้นไปอีกด้วย
สำหรับ ปีนี้อพท.ได้สร้างความตระหนักในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวสามารถรถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกับกิจกรรมท่องเที่ยว และที่สำคัญ คือ การสร้างแนวทางลดผลกระทบจากิจกรรมท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการท่องเที่ยวสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ก็ส่งผลกระทบทางสังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นความหมายของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวที่จะต้องคำนึงถึงปัจจุบันและอนาคต และผลกระทบที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
“ที่ผ่านมาการจัดงานถึง 10 วัน ถึงแม้ว่าจะสามารถจัดการขนขยะออกนอกพื้นที่ได้หมด แต่ก็ต้องใช้งบประมาณในการจัดการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการจัดงานหลายวันนั้น สร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่น ปัญหาขยะ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะโต้แย้งให้วันจัดงานน้อยลงได้ ดังนั้น สิ่งที่ อพท.จะต้องก้าวต่อไป คือ การวางแผน เพื่อจัดเก็บข้อมูลทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์ผลกระทบ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องได้บริหารจัดการต่อไป เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยวิสัยทัศน์ที่ว่า “เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างชุมชนแห่งความสุข”นายทวีพงษ์กล่าว