ไดเวอร์ เอ็กซ์ เคป ฮอร์น และ นีโม พอยต์: เรือนเวลาเพื่อพิชิตเอเวอเรสต์แห่งท้องทะเล
นาฬิกาทรหดสูงสุด เพื่อพิชิตความท้าทายอันหฤโหดสูงสุด ของการแข่งขัน วองเด โกลบ
วองเด โกลบ ถือเป็นการแข่งขันความเร็วบนผืนทะเลอันน่าเกรงขามที่สุดในโลก และยูลิส นาร์แดง จะได้ร่วมผจญภัยกับความท้าทายนี้ โดยการสร้างสรรค์นาฬิกาสุดทรหดไร้เทียมทาน รุ่น ไดเวอร์ เอ็กซ์ เคป ฮอร์น และ ไดเวอร์ เอ็กซ์ นีโม พอยต์
ปารีส, วันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 – ภายใต้จิตวิญญาณที่หลอมรวม ยูลิส นาร์แดง (Ulysse Nardin) ให้เป็นหนึ่งเดียวกับเหล่านักสำรวจและนักผจญภัยผู้กล้าหาญของโลก แบรนด์ผู้ผลิตนาฬิกาสวิสซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเลอโลค (Le Locle) ใกล้กับเนอชาแตล (Neuchatel) นี้จึงได้จับมือร่วมเป็นพันธมิตรกับ วองเด โกลบ (Vendée Globe) เพื่อสนับสนุนการแข่งขันแล่นเรือใบอันท้าทายสูงสุดในโลก โดยยูลิส นาร์แดง ยังได้สร้างสรรค์ผลงานรุ่น ไดเวอร์ เอ็กซ์ เคป ฮอร์น (DIVER X CAPE HORN) และไดเวอร์ เอ็กซ์ นีโม พอยต์ (DIVER X NEMO POINT) นาฬิกาที่นำเอาองค์ประกอบ เอ็กซ์-แฟกเตอร์ (X-factor) มาร่วมพิชิตซึ่งท้องทะเลอันน่าเกรงขามสูงสุด และเพื่อเป็นเกียรติให้แก่เหล่านักแล่นเรือ ผู้ซึ่งเลือกที่จะกล้าเสี่ยงกับทุกๆ สิ่งในการผจญต่อความท้าทายอันแสนอันตรายและอุปสรรคอีกมากมายตลอดเส้นทางผ่านจุดนีโม หรือนีโม พอยต์ (Nemo Point) สถานที่อันไกลโพ้นจากแผ่นดินออกไปกว่า 2,700 กิโลเมตร
ถือเป็นบททดสอบอย่างสุดขั้วในการแข่งขันความเร็วบนมหาสมุทร วองเด โกลบจะเริ่มต้นและสิ้นสุดการแข่งขันที่ ซาเบลอส์ โดลอนน์ (Sables d'Olonne) ในเขตวองเดของประเทศฝรั่งเศส โดยเป็นการแข่งขันที่ไม่มีการสนับสนุน ไม่มีการจอดพัก หรือความช่วยเหลือทางเทคนิคใดๆ ซึ่งบรรดานักแล่นเรือจะต้องผจญกับสภาวะอากาศอันหนาวเหน็บ กับมหาคลื่นยักษ์ ท่ามกลางท้องฟ้าครึ้มหม่น และคลื่นลมพัดโหมกระหน่ำไปด้วยเสียงอันโหยหวน ขณะที่พวกเขาพยายามเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรใต้เพียงลำพังรอบผืนทะเลอันแสนโหดร้ายและน่าเกรงขามที่สุดบนโลกใบนี้ โดยวองเด โกลบเป็นการแข่งขันที่จัดขึ้นทุกๆ สี่ปี และมักจะถูกขนานนามกันว่าเป็นภารกิจ "เอเวอเรสต์แห่งท้องทะเล" (“Everest of the Seas”) ที่นำพาให้เหล่าเรือยอชท์แบบโมโนฮัลล์ (monohull yachts) มุ่งหน้าเดินทางจากชายฝั่งของฝรั่งเศสออกไปไกลโพ้นถึง 40,075 กิโลเมตร ตามเส้นทางโคจรจากเหนือจรดใต้ซึ่งเป็นระยะทางรอบโลก และเพื่อจำกัดความเสี่ยงต่อการผจญกับภูเขาน้ำแข็ง เส้นทางการแข่งขัน หรือเรซ ไดเรกชั่น (Race Direction) ของรายการนี้จึงได้กำหนดเขตพื้นที่ที่ห้ามแล่นเรือ หรือที่เรียกกันว่า แอนตาร์กติก เอ็กซ์คลูชั่น โซน (Antarctic Exclusion Zone – AEZ) ซึ่งจะอยู่รอบมหาสมุทรแอนตาร์กติกที่ตำแหน่งระหว่าง 45 องศาบนด้านของหมู่เกาะครอเซ (Croset Islands) และ 68 องศาจากแหลมฮอร์น (Cape Horn)
การแข่งขันวองเด โกลบ ครั้งต่อไปจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020และจะเป็นปีที่ 30 นับตั้งแต่เริ่มต้นการแข่งขันอันท้าทายนี้เป็นครั้งแรก โดยมียูลิส นาร์แดง รับหน้าที่เป็นผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการของการแข่งขันนี้ด้วย
"นี่ไม่ใช่แค่เพียงการแข่งขันสำหรับผู้ที่อยากจะเอาชนะตนเอง" แพทริค พรูโนซ์ (Patrick Pruniaux) ซีอีโอของยูลิส นาร์แดง เผย "แต่ยังเป็นความท้าทายในโลกยุคใหม่อันทันสมัยของชาวยูลิส (Ulysses) ผู้ซึ่งเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถเผชิญหน้ากับตนเอง กับความกลัว และพลังอันกร้าวแกร่งสูงสุดของธรรมชาติ เพื่อสร้างและพิชิตซึ่ง มหากาพย์แห่งท้องทะเลได้อย่างสมบูรณ์"
“เราดีใจที่ได้ต้อนรับยูลิส นาร์แดง ในฐานะผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการ (Official Timer) ของการแข่งขันวองเด โกลบ 2020-2021 แบรนด์นักบุกเบิกสร้างสรรค์แห่งวงการการประดิษฐ์เรือนเวลาสวิสชั้นสูง (Swiss Haute Horlogerie) นี้ได้สร้างซึ่งความเชื่อมโยงอันมั่นคงและเป็นสากลกับโลกแห่งท้องทะเลมายาวนาน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่วองเด โกลบ ในฐานะการแข่งขันแล่นเรือเพียงลำพังนอกชายฝั่งซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และยูลิส นาร์แดงจะได้มาจับมือกัน เพื่อสร้างซึ่งสัมพันธภาพอันเข้มแข็งไปสู่การแข่งขันครั้งต่อไป" อีฟ ออวิเนต์ (Yves Auvinet) ประธานแห่งวองเด โกลบ กล่าว
ไดเวอร์ เอ็กซ์ เคป ฮอร์น, 44 มม.
แหลมฮอร์น หรือเคป ฮอร์น นับเป็นหนึ่งจุดที่บรรดานักแล่นเรือของการแข่งขันวองเด โกลบ จะต้องผจญผ่านในระหว่างการเดินทางรอบโลก และเป็นหนึ่งในเส้นทางอันตรายสูงสุด โดยระหว่างที่พวกเขาแล่นเรือรอบจุดปลายสุดทางตอนใต้ของประเทศชิลี กัปตันเรือจะต้องผจญกับทั้งภูเขาน้ำแข็ง คลื่นลมที่โหมกระหน่ำ และกระแสน้ำเชี่ยวอันเต็มไปด้วยอันตราย ทำให้นี่เป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ความกล้าหาญและท้าทายสูงสุดของการแข่งขันรอบโลกอันโด่งดังนี้ ซึ่งขณะที่พวกเขาแล่นเรือออกไปรอบโลก เส้นทางรอบๆ เคป ฮอร์น ยังเป็นหนึ่งในการผจญภัยสูงสุด ด้วยเพราะเป็นจุดที่มหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติกมาบรรจบกัน ธรรมชาติ ณ จุดนี้จึงปลดปล่อยรังสีแห่งความเกรี้ยวกราด แต่ละจุดที่ผ่านจึงยิ่งอันตรายและต้องระวังมากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยจุดบรรจบกันทางภูมิศาสตร์ของเคป ฮอร์น เช่นเดียวกับเส้นทางการแข่งขันของวองเด โกลบนี้ได้ถูกประทับเป็นความพิเศษไว้บนฝาหลังของนาฬิกาแต่ละเรือน
โดดเด่นด้วยงานเย็บตะเข็บสีเหลืองส้มบนสาย ที่ชวนให้นึกถึงเส้นทางสายเครื่องเทศ (Spice Route) หรือการเดินทาง ผจญภัยรอบเกาะติเอร์ราเดลฟูเอโก (Tierra del Fuego) เช่นเดียวกับขอบตัวเรือนคาร์บอน และสัญลักษณ์อักษร 'X' อันเป็นที่จดจำได้ทันทีบนหน้าปัด โดยยูลิส นาร์แดง ไดเวอร์ เอ็กซ์ เคป ฮอร์น ในฐานะนาฬิกาอย่างเป็นทางการของวองเด โกลบ รุ่นนี้จะผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดเพียง 300 เรือนเท่านั้น พร้อมทั้งการขับเคลื่อนของกลไก ยูเอ็น-118 (UN-118) ซึ่งรับประกันได้ถึงความเที่ยงตรงในทุกๆ ซีกโลก และทุกๆ เวลาของทั้งกลางวันหรือแม้แต่กลางคืน โดยประกอบคู่มากับสายผ้าผลิตจากเทคโนโลยีอันล้ำสมัยที่สามารถปรับได้ แต่มีน้ำหนักเบา และวัสดุนี้ยังจับคู่ได้อย่างสง่างามเข้ากับหน้าปัดทำจากคาร์บอนน้ำหนักเบาพิเศษ ซึ่งคาดด้วยอักษร 'X' สีดำขัดซาตินจากตำแหน่ง 6-12 นาฬิกา และตกแต่งแบบนูนต่ำ มีมิติอย่างสวยเด่นอยู่กลางหน้าปัด
ไดเวอร์ เอ็กซ์ นีโม พอยต์, 44 มม.
อีกหนึ่งในสถานที่มากมายที่นักแล่นเรือต้องผจญผ่าน ก็คือจุดนีโม หรือนีโม พอยต์ ตำแหน่งในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ที่อยู่ห่างออกไปไกลโพ้นจากชายฝั่งของประเทศชิลี โดยตั้งชื่อตามกัปตันนีโม ในนวนิยายของนักเขียน จูลส์ เวิร์น (Jules Verne) และมีความหมายที่ค่อนข้างตรงตามชื่อว่า ท่ามกลางความอ้างว้างที่ใดสักแห่ง ซึ่งนีโม พอยต์นี้อยู่ใกล้กับจุดตกหรือสุสานของสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) มากกว่าแผ่นดินเสียอีก โดยตั้งอยู่ที่พิกัด 48°52.6'S 123°23.6'W ตำแหน่งกลางมหาสมุทรที่ห่างไกลจากแผ่นดินมากที่สุดในโลก
โดยเป็นสถานที่ทางมหาสมุทรศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ภายในแพขยะใหญ่แปซิฟิก (South Pacific Gyre) ตำแหน่งที่อยู่ห่างไกลมากที่สุดในโลก ซึ่งการแล่นเรือผ่านนีโม พอยต์ นักเดินเรือจำนวนไม่น้อยที่ร่วมลงแข่งขันในวองเด โกลบ ต้องผจญกับทั้งแรงอันมหาศาลของกระแสน้ำหมุนในมหาสมุทรและแรงสู่ศูนย์กลางที่ทดสอบขีดความสามารถของพวกเขาอย่างถึงแก่น โดยจุดบรรจบทางภูมิศาสตร์ของนีโม พอยต์ เช่นเดียวกับเส้นทางการแข่งขันของวองเด โกลบนี้ได้ประทับเป็นความพิเศษไว้บนฝาหลังของนาฬิกาแต่ละเรือนเช่นกัน
จับคู่มากับสายผ้าสีน้ำเงิน แต่งริมขอบสีแดง ที่ชวนให้นึกถึงสายรั้งกระดานโต้คลื่น พร้อมทั้งเทคโนโลยีการผลิตสายอันล้ำสมัย ผสมผสานเข้ากับขอบตัวเรือนทำจากยางสีน้ำเงิน และสัญลักษณ์อักษร 'X' อันเป็นที่จดจำได้ทันทีบนหน้าปัด นาฬิกายูลิส นาร์แดง ไดเวอร์ เอ็กซ์ นีโม พอยต์ รุ่นนี้จะผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดเพียง 300 เรือนเท่านั้น และขับเคลื่อนด้วยกลไก ยูเอ็น-118 ที่รับประกันได้ถึงความเที่ยงตรงในทุกๆ ซีกโลก และทุกๆ เวลาของช่วงกลางวันหรือแม้แต่กลางคืน มอบความโดดเด่นอันเข้มแข็งด้วยอักษร 'X' สีน้ำเงินตกแต่งแบบนูนต่ำที่ทาบคาดกลางหน้าปัด เช่นเดียวกับเส้นทางการแข่งขันของวองเด โกลบ ที่ประทับไว้บนฝาหลัง
เกี่ยวกับวองเด โกลบ
จวบจนปัจจุบัน วองเด โกลบ (Vendée Globe) ยังคงเป็นรายการแข่งขันแล่นเรือรอบโลกแบบลำพัง ไม่มีการจอดพัก และไม่มีความช่วยเหลือใดๆ เพียงหนึ่งเดียวในโลก โดยการแข่งขันซึ่งเกิดขึ้นตามหลังโกลเดน โกลบ (Golden Globe) นี้ เดิมทีแล้วเป็นการแข่งขันแล่นเรือรอบโลกครั้งแรกในประเภทเดียวกันผ่านสามแหลม (แหลมกู๊ด โฮป (Good Hope), ลียูวิน (Leeuwin) และฮอร์น (Horn)) ในปี ค.ศ. 1968 กระทั่งยี่สิบปีต่อมา หลังจากชนะรายการ บีโอซี ชาเลนจ์ (BOC Challenge) (การแข่งขันแล่นเรือเดี่ยวรอบโลก แต่มีการจอดพัก) มาแล้วสองครั้ง นักแล่นเรือ ฟิลิปป์ ฌองทอต (Philippe Jeantot) จึงได้เสนอแนวคิดของการจัดการแข่งขันรอบโลกรูปแบบใหม่ โดยที่ไม่มีการจอดพัก และนั่นเองที่การแข่งขันรายการวองเด โกลบ ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยในวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 นักแล่นเรือสิบสามคนได้ออกสตาร์ทในการแข่งขันครั้งแรกซึ่งกินระยะเวลานานกว่าสามเดือน และมีเพียงเจ็ดคนเท่านั้นที่กลับมายัง เลส ซาเบลอส์ โดลอนน์ (Les Sables d'Olonne) ได้สำเร็จ
จัดการแข่งขันมาแล้วแปดครั้ง กับรายการที่ถูกเรียกขานกันในวันนี้ว่าเป็น เอเวอเรสต์แห่งท้องทะเล (Everest of the seas) และมีจำนวนผู้แข่งขันมาแล้ว 167 คนที่ได้ร่วมออกสตาร์ทในการแข่งขันความเร็วอันแสนพิเศษนี้ โดยมีเพียง 89 คนในนี้เท่านั้นที่สามารถเดินทางข้ามเส้นชัยได้สำเร็จ ซึ่งแค่เพียงตัวเลขนี้อย่างเดียวก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความยากอย่างขีดสุดของการแข่งขันรายการระดับโลกนี้ ที่ซึ่งผู้เข้าร่วมแข่งขันแบบลำพังแต่ละคนจะต้องผจญกับความหนาวเหน็บ คลื่นยักษ์ และท้องฟ้าครึ้มสีเทาที่รายล้อมทั่วผืนทะเลใต้ (Great South) วองเด โกลบ จึงเป็นการเดินทางแรกและสำคัญทั้งเหนือผืนน้ำและดำดิ่งใต้ท้องทะเล… ซึ่งรายการนี้ได้มอบรางวัลให้แก่นักแล่นเรือผู้ยิ่งใหญ่มาแล้วมากมาย อันได้แก่ ติตูอัน ลามาซู (Titouan Lamazou) ในปี ค.ศ. 1990, อแลง โกธิเยร์ (Alain Gautier) ในปี ค.ศ. 1993, คริสตอฟ อูจิน (Christophe Auguin) ในปี ค.ศ. 1997, วินเซนต์ ริโอ (Vincent Riou) ในปี ค.ศ. 2005, ฟรองซัวส์ กาบาร์ต (François Gabart) ในปี ค.ศ. 2013 และอาร์เมล เลอเคลอา (Armel LeCléac'h) ในปี ค.ศ. 2017 โดยกัปตันเรือจากฟินิสเตเร (Finistère) คนนี้ได้เป็นผู้ครองสถิติใหม่ของการแข่งขันด้วยระยะเวลาทั้งสิ้น 74 วัน และมีนักแล่นเรือเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เคยชนะรายการนี้ถึงสองครั้ง นั่นคือ มิเชล เดสจอโยซ์ (Michel Desjoyeaux) ในปี ค.ศ. 2001 และ ค.ศ. 2009 ส่วนการแข่งขันวองเด โกลบ ครั้งที่ 9 จะออกเดินทางจากเลส ซาเบลอส์ โดลอนน์ ในวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 นี้