หุ้น vs กองทุนรวม คุณเหมาะกับการลงทุนแบบไหนมากกว่ากัน? 

27 สิงหาคม 2564

คำถามนี้ถือเป็นคำถามยอดฮิตที่ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนหน้าใหม่หรือนักลงทุนเจ้าเดิมมักจะถามกับตัวเองอยู่เสมอ ทั้งนี้ หากเป็นคำถามที่มาจากนักลงทุนหน้าใหม่ สาเหตุมักจะเป็นเพราะไม่รู้จะเริ่มต้นลงทุนที่หุ้นหรือกองทุนรวมดี ถึงจะให้ผลตอบแทนที่ดี แต่ความเสี่ยงก็ต้องต่ำด้วย ส่วนถ้าเป็นคำถามที่เกิดจากนักลงทุนเจ้าเดิม ก็จะเป็นเพราะไม่แน่ใจว่าตัวเองลงทุนมาถูกทางหรือเปล่า ทำไมผลตอบแทนกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นถึงไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ ซึ่งคำถามข้อนี้จะหมดไปได้ ถ้านักลงทุนรู้จักสไตล์หรือนิสัยการลงทุนของตัวเองอย่างชัดเจน

ก่อนจะรู้ว่าสไตล์การลงทุนของตัวเองเป็นแบบไหน คงต้องเข้าใจก่อนว่าหุ้นและกองทุนรวมมีจุดเด่น ข้อจำกัด และแตกต่างกันอย่างไร ผู้เชี่ยวชาญจาก https://trading.in.th ได้วิเคราะห์เนื้อหาเกี่ยวกับหุ้นและกองทุนรวมไว้ ซึ่งทั้ง 2 ประเภทต่างมีจุดเด่นที่สามารถสร้างกำไรได้ แต่ก็มีข้อจำกัดบางประการเช่นกัน ซึ่งบทความนี้จะช่วยเป็นแนวทางให้นักลงทุนค้นพบสไตล์การลงทุนของตนเองได้

การลงทุนหุ้น

หุ้นคืออะไร? มีจุดเด่นและข้อจำกัดอะไรบ้าง?

จริงๆ แล้ว หุ้นคือสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของกิจการ ดังนั้น การที่เราซื้อหุ้น ก็คือการซื้อสิทธิ์ของการเป็นเจ้าของกิจการ ในขณะที่หลายๆ คนมักจะเข้าใจว่าหุ้นก็คือการซื้อหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็ถือว่าถูกต้องเช่นกัน แต่การให้คำนิยามของหุ้นที่แตกต่างกัน สามารถนำไปสู่แนวคิดการลงทุนหุ้นที่แตกต่างกันได้ หากแนวคิดของนักลงทุนเป็นไปตามคำนิยามแรก คือสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของกิจการ ก็มักจะนำไปสู่การเป็นนักลงทุนแบบ VI (Value Investor) ที่จะมองการลงทุนหุ้นเป็นความยั่งยืนแบบระยะยาว เพราะถือว่าตนเองเป็นเสมือนเจ้าของกิจการคนหนึ่ง และจะมีการเลือกสรรเฉพาะหุ้นของบริษัทที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้ และคุ้มค่าการลงทุน

แต่หากนักลงทุนมีแนวคิดเป็นไปตามคำนิยามที่สอง ก็มักจะนำไปสู่การลงทุนแบบเก็งกำไร หรือเทรดเดอร์ (Trader) หรืออาจเป็นแบบเดย์ เทรดเดอร์ (Day Trader) ก็ได้ โดยจะมองการลงทุนหุ้นว่าสามารถสร้างผลตอบแทนจากกำไรส่วนต่างได้ และผลตอบแทนก็สามารถสร้างได้ภายในระยะสั้น ตั้งแต่รายเดือน รายสัปดาห์ ไปจนถึงรายวัน หรือรายชั่วโมง ซึ่งนักลงทุนกลุ่มนี้มักจะมีเครื่องมือหลากหลายที่ช่วยในการวิเคราะห์ราคาหุ้น ตั้งแต่ fibonacci, กราฟแท่งเทียน, เส้นแนวโน้ม เป็นต้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เพียงแค่การให้ความหมายหรือคำนิยามของหุ้น ก็สามารถแสดงให้เห็นแนวคิดและสไตล์การลงทุนหุ้นแบบภาพรวมได้

จุดเด่นและข้อจำกัดของการลงทุนหุ้น

เนื่องจากการลงทุนหุ้นจะต้องซื้อหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้จะมีจุดเด่นคือ นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในหุ้นบริษัทใดก็ได้ตามแต่ที่ตนเองชอบ หรือสามารถวิเคราะห์ได้ว่าหุ้นตัวนั้นจะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับตนเองได้ นอกจากนี้แล้ว จุดเด่นสำคัญของหุ้นอีกประการหนึ่งคือ สภาพคล่องในการซื้อขาย ซึ่งนักลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นที่ต้องการได้ตลอดเวลา จะเห็นได้ว่า การลงทุนหุ้นมีจุดเด่นหลายอย่างและมีความยืดหยุ่นในการลงทุนค่อนข้างสูง ทำให้นักลงทุนสามารถวางแผนหรือสร้างพอร์ตการลงทุนของตนเองได้ในหลายรูปแบบ เช่น ในพอร์ตหุ้นของตนเอง อาจมีการผสมผสานหุ้นในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน อาจจะมีที่เป็นหุ้นกลุ่มพลังงาน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งก็จะทำให้การลงทุนได้ทั้งกิจการที่เป็น infrastructure ธุรกิจแบบ safe haven และธุรกิจที่ขายนวัตกรรม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลงทุนหุ้นจะมีจุดเด่นที่น่าสนใจ แต่ก็มีข้อจำกัดคือ หากนักลงทุนขาดความรู้ หรือขาดประสบการณ์ในการลงทุน ็จะมีความเสี่ยงขาดทุนสูงมาก ในส่วนของความรู้ นักลงทุนอาจต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษานานพอสมควร ซึ่งอย่างน้อยควรจะต้องศึกษาและอ่านงบการเงินของหุ้นตัวที่เราต้องการซื้อให้ได้ และนำมาวิเคราะห์ความเหมาะสมในการเลือกลงทุน นอกจากนี้ ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งคือ อาจมีสินทรัพย์บางประเภทที่กำหนดให้เฉพาะนักลงทุนสถาบัน ซึ่งสินทรัพย์นั้นอาจให้ผลตอบแทนที่ดี แต่นักลงทุนรายย่อยไม่มีสิทธิ์ในการซื้อขาย เพราะถูกจำกัดไว้เฉพาะนักลงทุนสถาบันเท่านั้น

กลุ่มหุ้นยอดนิยมในการลงทุน

เมื่อนักลงทุนรู้ถึงจุดเด่นและข้อจำกัดของการลงทุนหุ้นแล้ว นักลงทุนควรจะมีไอเดียก่อนว่ามีหุ้นกลุ่มใดบ้างที่เป็นสไตล์ในการลงทุนของเรา ซึ่งจะช่วยให้เราจัดพอร์ตได้ตรงตามความต้องการได้ การแบ่งกลุ่มหุ้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 กลุ่ม

  1. กลุ่มหุ้นโตช้า หุ้นกลุ่มนี้ ได้แก่ กิจการขนาดใหญ่ที่โตเต็มที่ ให้ปันผลดีและสม่ำเสมอ ราคามักไม่แกว่งขึ้นหรือลงมากเกินไป
  2. กลุ่มหุ้นแข็งแกร่ง ได้แก่ กิจการขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง และเติบโตไปเรื่อยๆ แต่ไม่หวือหวา หุ้นกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มที่ปลอดภัยในการลงทุนอยู่ หากต้องลงทุนในช่วงวิกฤต
  3. กลุ่มหุ้นเติบโต หุ้นกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก อยู่ในช่วงกำลังขยายธุรกิจ และมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูง
  4. กลุ่มหุ้นวัฏจักร ได้แก่ กลุ่มกิจการที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์ หรือสินค้าเกษตร ที่จัดเป็น commodity ดังนั้น รายได้จึงมักจะเป็นตามฤดู และกำไรมักจะขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งขึ้นลงตามราคาของสินค้านั้นๆ ในช่วงเวลาต่างๆ
  5. กลุ่มหุ้นฟื้นตัว หรือที่มักเรียกกันว่าหุ้น turnover หุ้นกลุ่มนี้คือกลุ่มที่กิจการเคยแย่หรือขาดทุนมาก่อน แต่กำลังมีสัญญาณว่าจะมีการฟื้นตัวที่ชัดเจน ซึ่งจะมีโอกาสทำกำไรได้มาก เพราะสามารถซื้อได้ในราคาถูก และอาจขายได้ราคาแพงเมื่อมูลค่าราคาหุ้นสูงขึ้นในอนาคต แต่ความเสี่ยงก็มากเช่นกัน
  6. กลุ่มหุ้นสินทรัพย์มาก หุ้นกลุ่มนี้ ได้แก่ กิจการที่มีสินทรัพย์ที่ยังไม่รับรู้มูลค่าเต็มที่ ซึ่งมูลค่าเหล่านี้จะซ่อนอยู่ในงบดุล  

การลงทุนในกองทุนรวม

ก่อนที่เราจะมาดูจุดเด่นและข้อจำกัดของการลงทุนในกองทุนรวม เราต้องรู้ก่อนว่ากองทุนรวมคืออะไร เราจะได้รู้ว่า จริงๆ แล้ว สิ่งที่เรากำลังลงทุนอยู่มีลักษณะอย่างไร กองทุนรวมคือ การระดุมทุนจากนักลงทุนหลายรายเพื่อให้ได้เงินทุนจำนวนมาก จากนั้นก็นำเงินดังกล่าวไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ตามแต่วัตถุประสงค์ของกองทุน เช่น ลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ น้ำมัน หรืออสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อได้กำไรก็นำมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้ลงทุน ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่ระดมเงินทุนดังกล่าวและนำไปลงทุนจะต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) โดยจะต้องนำกองทุนไปขออนุญาตและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เสียก่อน ทั้งนี้ ในแต่ละกองทุนจะมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลและบริหารอยู่ เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนต่อไป

หุ้น vs กองทุนรวม คุณเหมาะกับการลงทุนแบบไหนมากกว่ากัน? 

จุดเด่นและข้อจำกัดของการลงทุนในกองทุนรวม

จุดเด่นของการลงทุนในกองทุนรวมคือ นักลงทุนที่มีทุนทรัพย์จำกัดสามารถเข้ามาทำกำไรหรือสร้างผลตอบแทนในสินทรัพย์ที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากได้ ตัวอย่างเช่น ในการลงทุนบางประเภทอย่างตราสารหนี้ จะมีขั้นต่ำราคาในการลงทุนอยู่ที่ 100,000 บาท ซึ่งเงินลงทุนจำนวนดังกล่าวอาจไม่เหมาะกับนักลงทุนที่มีทุนทรัพย์จำกัด ดังนั้น การลงทุนในกองทุนรวมจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการตรงนี้ได้ โดยจะระดมทุนจากนักลงทุนทั้งหลายเพื่อให้ได้เงินลงทุนที่เป็นไปตามกำหนดขั้นต่ำลงทุน หรืออาจลงทุนสูงกว่า็ได้ ซึ่งจะมีผู้ดูแลจัดการกองทุนให้ และทำหน้าที่วิเคราะห์และสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนดังกล่าวให้กับนักลงทุน เรียกได้ว่า เป็นการลงทุนและสร้างผลตอบแทนไปด้วยกันของนักลงทุนหลายๆ รายนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าการที่มีผู้จัดการกองทุน ซึ่งได้รับการคัดเลือกจาก บลจ. แล้วว่าจะต้องมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ จะช่วยให้นักลงทุนคลายข้อกังวลใจและลดความเสี่ยงจากการขาดความรู้และประสบการณ์ที่มากพอในการลงทุนได้

ทว่า การลงทุนในกองทุนรวมก็มีข้อจำกัดบางประการ ประการแรกคือ ค่าธรรมเนียมการลงทุนจะสูงกว่าการลงทุนด้วยตนเอง ซึ่งค่าธรรมเนียมดังกล่าวนี้ เกิดจากการให้นักบริหารกองทุนมืออาชีพมาช่วยดูแลกองทุนให้ ประการที่สองคือ การลงทุนในกองทุนรวมจะต้องเป็นไปตามนโยบายของกองทุนนั้นๆ หากนักลงทุนไม่ชอบหรือไม่ต้องการหุ้นตัวใดในกองทุน จะไม่สามารถเปลี่ยนได้ ประการที่สามซึ่งถือเป็นประการสำคัญคือ หากเราได้ผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูง ก็มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีกลับมา แต่หากได้ผู้จัดการที่มีความเชี่ยวชาญน้อยกว่า ผลตอบแทนที่ได้อาจจะต่ำกว่า กล่าวคือ มีผู้จัดการกองทุนเป็นตัวแปรนั่นเอง

ประเภทกองทุนรวม

หลังจากที่เรารู้จุดเด่นและข้อจำกัดของกองทุนรวมแล้ว นักลงทุนควรต้องรู้จักประเภทของกองทุนรวมด้วย เพื่อที่นักลงทุนจะได้รู้ว่าการลงทุนในกองทุนรวมใช่สไตล์การลงทุนของตนเองหรือไม่ ประเภทของกองทุนรวมหลักๆ สามารถแบ่งได้ ดังนี้

  1. กองทุนรวมตลาดเงิน หรือ Money Market Fund กองทุนรวมประเภทนี้จะลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ระยะสั้น หรือที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี ซึ่งกองทุนประเภทนี้มักจะเหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ต้องการความเสี่ยง หรือรับความเสี่ยงได้น้อยมาก  
  2. กองทุนรวมตราสารหนี้ หรือ Fixed Income Fund กองทุนลักษณะนี้จะลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง บัตรเงินฝากของธนาคาร เป็นต้น ซึ่งการลงทุนประเภทนี้จะเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะยาว รวมทั้งต้องการลดความเสี่ยงจากดอกเบี้ยขาลง
  3. กองทุนรวมผสม หรือ Mixed Fund กองทุนรวมประเภทนี้จะลงทุนทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุน โดยจะมีสัดส่วนในการลงทุนในหุ้นไม่เกิน 80% ดังนั้น การลงทุนประเภทนี้จึงเหมาะนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลางถึงระดับสูง
  4. กองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น หรือ Flexible Fund ลักษณะของกองทุนนี้จะลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้ทุกประเภทเหมือนกองทุนรวมผสม แต่มีความแตกต่างกันคือ กองทุนประเภทนี้มักจะไม่มีข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุน ดังนั้น จึงเหมาะกับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลางถึงสูง เช่นเดียวกับกองทุนรวมผสม  
  5. กองทุนรวมตราสารทุน หรือ Equity Fund จะลงทุนในตราสารทุนประเภทต่างๆ เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ เป็นต้น โดยหน่วยลงทุนของกองทุนรวมประเภทนี้จะมีสัดส่วนในการลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 80% เพราะฉะนั้น จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูง และสามารถรับความเสี่ยงในระดับสูงได้
  6. กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม หรือ Sector Fund จะลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่มีธุรกิจหลักประเภทเดียวกัน เป็นหมวดอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น กลุ่มอาหาร กลุ่มโทรคมนาคม เป็นต้น โดยเฉลี่ยสัดส่วนแล้วไม่น้อยกว่า 80% ดังนั้น กองทุนประเภทนี้จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะนักลงทุนมีความเชี่ยวชาญ ความชอบ หรือคาดว่าบางกลุ่มธุรกิจจะเติบโตดีกว่า  
  7. กองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือก หรือ Alternative Investment Fund กองทุนประเภทนี้จะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากสินทรัพย์พื้นฐาน ตัวอย่างเช่น ลงทุนในกลุ่มสินค้า commodity ทองคำ หรือน้ำมัน การลงทุนประเภทนี้จะเหมาะกับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงสูงได้ และต้องการกระจายพอร์ตการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่นๆ

จากจุดเด่น ข้อจำกัด และผลิตภัณฑ์หุ้นและกองทุนรวมข้างต้น เชื่อว่า หากนักลงทุนมีความเข้าใจ ก็จะสามารถตอบคำถามตนเองได้ว่า แท้จริงแล้วตนเองเหมาะสมกับการลงทุนสไตล์หุ้นหรือกองทุนรวม หากว่าคุณเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญและมีเครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์แนวโน้มการขึ้นหรือลงของหุ้น รวมทั้งรักอิสระในการลงทุน และพร้อมรับความเสี่ยงได้ แน่นอนว่าคาแรกเตอร์ก็จะเหมาะกับหุ้น แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่มีเวลามากพอในการศึกษาหุ้นตัวต่างๆ และพร้อมจะมอบหมายให้กับผู้เชี่ยวชาญในการบริหารเงินลงทุนของคุณ แต่ก็ยังสามารถรับความเสี่ยงได้ในหลายระดับ นั่นล่ะคือคาแรกเตอร์ของนักลงทุนในกองทุนรวมล่ะ!

Thailand Web Stat