๑๙ กันยายน วันพิพิธภัณฑ์ไทย
พุทธศักราช ๒๕๓๘ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบประกาศให้วันที่ ๑๙ กันยายนของทุกปี เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งมิวเซียม หรือพิพิธภัณฑสถาน โดยเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Royal Siamese Museum หรือ มิวเซียมหลวง และเปิดให้ประชาชนเข้าชม ณ หอคองคอเดียในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๑๗ นับเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนแห่งแรกในประเทศไทย
พิพิธภัณฑสถานได้รับการจัดตั้ง สืบทอด และพัฒนาเรื่อยมาทุกยุคทุกสมัย สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้อันสำคัญยิ่งของชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ มีนโยบายในการพัฒนาและปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต ทันสมัย และมีมาตรฐานระดับสากล โดยพุทธศักราช ๒๕๖๔ มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งใหม่ และมีการปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติแล้วเสร็จดังตัวอย่างผลงานสำคัญ ได้แก่
การจัดแสดงนิทรรศการถาวร ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พุทธศักราช ๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมิวเซียมหลวง จากพระบรมมหาราชวังไปจัดตั้งในพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรมศิลปากรได้ปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวร ภายใต้แนวคิดหลักในการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของแท้ ของจริง แสดงคุณค่าผลงาน ชิ้นเอกของมนุษยชาติบนผืนแผ่นดินไทย พร้อมกับการรักษาและแสดงรูปแบบสถาปัตยกรรมภายในพระที่นั่งองค์ต่างๆ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสื่อสารเนื้อหาจากตัววัตถุแก่ผู้ชมอย่างพอเหมาะ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโฉมใหม่ที่มีความทันสมัย และยังคงไว้ด้วยคุณค่าของมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย
การจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์
กรมศิลปากรได้ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาพิพิธภัณฑ์เขื่อนขุนด่านปราการชล บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อใหม่ว่าพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ทรงพัฒนางานด้านชลประทาน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ นอกจากจะจัดแสดงประวัติความเป็นมาของเขื่อนขุนด่านปราการชล และเรื่องราวเกี่ยวกับประชาชนในพื้นที่โดยรอบ ยังจัดแสดงนิทรรศการข้อมูลทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดนครนายก
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
การจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาถึงยุควัฒนธรรมทวารวดีจากหลักฐานทางโบราณคดี รวมถึงข้อมูลใหม่จากการขุดค้นทางโบราณคดีในจังหวัดนครปฐม
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี
กรมศิลปากรได้ปรับปรุงและสร้างอาคารจัดแสดงใหม่ นำเสนอข้อมูลหลักฐานและองค์ความรู้เกี่ยวกับคนที่บ้านเก่าในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตลอดจนพัฒนาการของผู้คนในลุ่มน้ำแควน้อย-แควใหญ่ ที่สืบเนื่องมาจากสมัยหินเก่าสู่สมัยหินใหม่ และบ้านเก่าในปัจจุบัน โดยใช้เทคโนโลยีในการนำเสนอที่มีความทันสมัยได้มาตรฐานสากล พร้อมเป็นศูนย์กลางการศึกษาเรียนรู้ด้านโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ภาคตะวันตกของประเทศไทยได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ นับตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๖๓ เป็นต้นมา สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในทุกระดับ กรมศิลปากรตระหนักในสถานการณ์ดังกล่าว จึงมุ่งเน้นพัฒนาการให้บริการผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว โดยพัฒนาระบบ Virtual Museum พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง ให้สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ๔๒ แห่ง ทั่วประเทศ เสมือนได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ด้วยตัวเอง ผ่านทาง www.virtualmuseum.finearts.go.th และระบบ smart museum ให้ประชาชนสามารถชมการจัดแสดงนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแบบออนไลน์ ผ่านทาง https://smartmuseum.finearts.go.th รวมถึงนำข้อมูลองค์ความรู้เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ ตลอดจนแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ
เนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย พุทธศักราช ๒๕๖๔ กรมศิลปากร โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงได้จัดกิจกรรม MUSEUM EXPO 2021: Recover Together Step Forward มหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทย โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นเวทีสื่อสารกับพิพิธภัณฑ์เครือข่ายและผู้สนใจ ให้สามารถเข้าถึงข้อความ (Message) ที่พิพิธภัณฑ์ต้องการสื่อสาร ในรูปแบบที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ไทยกว่า ๒๗ แห่งมาร่วมจัดแสดงและนำเสนองานแบบออนไลน์ ที่ www.finearts.go.th/thailandmuseum นอกจากนี้ ยังมีการจัด MUSEUM STREAMING: Creating for All กิจกรรมการเสวนาเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ เป็นเวทีพูดคุยของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ผ่านระบบออนไลน์ ในหัวข้อที่สอดคล้องกับสภาพสังคม โดยมุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และต่อยอดการดำเนินกิจการพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมระหว่างวันที่ ๑๙-๒๑ กันยายน ๒๕๖๔ ทาง Facebook Fanpage: Office of National Museums, Thailand