posttoday

สถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับเครือข่ายการประกันคุณภาพวัคซีน และยาชีววัตถุของประเทศ จัดการประชุมวิชาการ “Trend of Quality Control along Manufacturing Process”

12 พฤษภาคม 2565

พร้อมเข้าเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (Unit 4) และห้องปฏิบัติการ Biopharmaceutical Characterization Lab (BPCL) ณ มจธ. บางขุนเทียน

เมื่อวันที่ 28 - 29 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับเครือข่ายการประกันคุณภาพวัคซีน และยาชีววัตถุของประเทศ จัดการประชุมวิชาการ “Trend of Quality Control along Manufacturing Process” ในรูปแบบออนไลน์ โดยมี นพ. นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวต้อนรับ และดร.สุภาพร  ภูมิอมร ประธานกรรมการเครือข่ายฯ กล่าวเปิดการประชุม มีหน่วยงานเครือข่ายเข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์กว่า 370 คน 

ดร.สุภาพร กล่าวว่า ตั้งแต่มีการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 เมื่อต้นปี 2563 กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานเครือข่าย ได้ระดมสรรพกำลังในทุกด้าน เพื่อช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดนี้ไปให้ได้ จวบจนวันนี้ประเทศไทยมีการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 หลากหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีการวิจัยพัฒนาวัคซีนและยาชีววัตถุอื่นอย่างต่อเนื่อง การประชุมครั้งนี้ จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิจัย ผู้ผลิต ในด้านการประกันและควบคุมคุณภาพที่สอดคล้องกับกระบวนการผลิต รวมถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

หัวข้อสำคัญตลอดการประชุมได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัคซีนและยาชีววัตถุ ประกอบด้วย PICs GMP Annex 1 revision to be release mid-year 2022, Characterization of Biological Products, ICH Q8 Pharmaceutical Development, ICH Q9 Quality Risk Management & ICH Q10, Pharmaceutical Quality System and Application in Product Development, Monitoring and Control of GMP Facilities และมีการอภิปราย 2 หัวข้อ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงในการควบคุมคุณภาพของกระบวนการผลิตวัคซีนโควิด 19 ใน แต่ละเทคโนโลยี รวมถึงมุมมองของผู้ผลิตต่อนโยบายการลดละเลิกการใช้สัตว์ทดลองในการทดสอบคุณภาพวัคซีนและยาชีววัตถุ

สถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับเครือข่ายการประกันคุณภาพวัคซีน และยาชีววัตถุของประเทศ จัดการประชุมวิชาการ “Trend of Quality Control along Manufacturing Process”

ในช่วงบ่ายวันที่ 29 เมษายน 2565 กรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ผู้บริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ผู้ผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุทุกแห่งของประเทศ รวมทั้งสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (NBF)  Unit 4 ซึ่งเป็นโรงงานผลิตวัคซีนที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง ใช้ระบบ Single use system สามารถรองรับการผลิตได้สูงสุด 2000 ลิตรต่อรอบการผลิต คาดว่าโรงงานฯ จะสามารถเปิดให้บริการผลิตวัคซีนได้ในปี 2566  นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการเฉพาะทางด้านการวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของวัคซีนและยาชีววัตถุ (Biopharmaceutical characterization Lab: BPCL)  ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการฯ 4 ด้าน ได้แก่ 1) Protein Characterization 2) Biologic Testing 3) Microbial & Cell line Characterization และ 4) Viral vector Characterization ขณะนี้เปิดให้บริการทดสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์วัคซีนได้แล้วบางส่วน และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบคุณสมบัติของยา และวัคซีน ประมาณ 25 พารามิเตอร์ ภายในปี 2566 โครงการทั้งสองเป็นความสำเร็จที่เกิดจากการสนับสนุนงบประมาณภายใต้แผนเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีน COVID-19 ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปี พ.ศ. 2563 ซึ่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้รับการอนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี นับเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานด้านการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุ ตลอดจนการทดสอบคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นในประเทศได้เอง ลดค่าใช้จ่าย และค่าเสียเวลาในการเข้าคิวรอการจ้างโรงงานผู้ผลิต และห้องปฏิบัติการทดสอบคุณสมบัติ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ ที่ต่างประเทศ

สถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับเครือข่ายการประกันคุณภาพวัคซีน และยาชีววัตถุของประเทศ จัดการประชุมวิชาการ “Trend of Quality Control along Manufacturing Process”

คณะผู้เยี่ยมชมให้ความสนใจและมีความประสงค์ที่จะสร้างความร่วมมือกับ มจธ. เพื่อเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตัวเองได้ และสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนและยาชีววัตถุให้แก่ประเทศตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ โดยมีเกณฑ์และมาตรฐานสากลด้านการประกันและควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์วัคซีนและยาชีววัตถุเป็นแกนหลักที่สำคัญ