กศน. ฉลองงานวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิดหลักว่าด้วย การพลิกโฉมพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือ
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประกาศให้วันที่ 8 กันยายนของทุกปีเป็นวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ เพราะการรู้หนังสือเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้และการสื่อสารในสังคมปัจจุบัน เป็นบันไดขั้นแรกของการแสวงหาความรู้อันมหาศาลของโลกใบนี้
เนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการเรียนการสอน ตลอดจนโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนบางกลุ่มในสังคม และปัญหาช่องว่างทางดิจิทัล ยูเนสโกจึงยึดมั่นนโยบายหลักที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และได้นำเสนอแนวคิดหลักสำหรับวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือในปีนี้คือ “การพลิกโฉมพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือ”
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลในการขับเคลื่อนงานฉลองดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการรู้หนังสือ มีนิสัยรักการอ่าน มีความสามารถในการแสวงหาความรู้ได้ตลอดชีวิต สามารถพึ่งพาตนเอง พัฒนาคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพได้อย่างมีความสุขตามสภาพสังคมในแต่ละยุคสมัย
กศน. จัดพิธีฉลองงานวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ประจำปี พ.ศ. 2565 ในวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565 โดยมีการอ่านสารของผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก โดยผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพมหานคร และการอ่านสารของนายกรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. กล่าวถึงภารกิจของ กศน. ด้านการจัดการศึกษาตามหลักสูตรการรู้หนังสือไทย พ.ศ. 2557 ว่า “หลักสูตรของเราสนับสนุนให้ประชาชนชาวไทยที่ไม่รู้หนังสือไทย ประชาชนชาวไทยกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มที่ไม่ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน และประชาชนทั่วไปที่สนใจจะเรียนรู้ภาษาไทย สามารถฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาไทย และสามารถคิดคำนวณเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน อันเป็นทักษะพื้นฐานในการแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งขอบข่ายเนื้อหาออกเป็น 12 สภาพการเรียนรู้ ใช้เวลาเรียนตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง”
นอกจากนี้ กศน. ยังมีนโยบายส่งเสริมการอ่านเพื่อการรู้หนังสือโดยเน้นนโยบายการเปลี่ยนบทบาทห้องสมุดให้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนยุคใหม่ ภายใต้แนวคิด “Co-Learning Space” คือการปรับปรุงห้องสมุดในแต่ละพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านพื้นที่และกิจกรรม มีการจัดสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีการจัดมุมกิจกรรมต่างๆ เช่น มุมเด็ก มุมผู้สูงอายุ มุมสร้างสรรค์ และมุมสำหรับทำงาน เพิ่มเวลาการเปิดให้บริการ และบริหารจัดการเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ ปัจจุบัน กศน. มีห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” 108 แห่ง และห้องสมุดประชาชนประจำจังหวัดหรืออำเภออีกกว่า 900 แห่ง สำหรับให้บริการแก่ประชาชน
นายวัลลพ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กศน. ยังมีส่วนส่งเสริมการรู้หนังสือของประชาชนชาวไทยอย่างยั่งยืนผ่านนวัตกรรมการสร้างพื้นที่ที่ส่งเสริมการรู้หนังสือสำหรับคนทุกช่วงวัย สอดคล้องกับแนวคิดหลักของยูเนสโกในปีนี้ โดยจัดการส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบผสมผสานให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างไม่จำกัด ได้แก่ การเรียนรู้ในสถานที่ (onsite) เช่น วัด ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ห้องสมุดประชาชน บ้านหนังสือชุมชน และโรงพยาบาล การเรียนรู้ส่งถึงมือผู้เรียน (on-hand) เช่น การเรียนโดยใช้เทคโนโลยี ห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับชาวตลาด และรถโมบายแห่งการเรียนรู้ การเรียนรู้ออนไลน์ (online) เช่น คลังความรู้ กศน. พิพิธภัณฑ์เสมือน ห้องเรียนเสมือน และวุฒิบัตรส่งเสริมการอ่านออนไลน์ และการเรียนรู้ผ่านโทรทัศน์ (on air) ผ่านรายการ Educational Television, Ministry of Education (ETV)”
นายวัลลพ กล่าวสรุปว่า “การรู้หนังสือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกช่วงวัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศและสังคมโลก โครงการและกิจกรรมส่งเสริมการรู้หนังสือของ กศน. ต่างๆ ตั้งแต่ทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใดหรือมีผู้คนรู้จักมากน้อยเพียงใดก็ตาม ล้วนเป็นโครงการที่มีความสำคัญเป็นประโยชน์ต่อคนยากไร้ คนชายขอบ และคนในท้องถิ่นทุรกันดารทั้งสิ้น”