AOT ปั้น “สุวรรณภูมิ” สู่ต้นแบบ Green Airport สนามบินรักษ์โลกแห่งแรกในไทย
AOT จับมือ DCAP ติดตั้ง โซลาร์เซลล์ บนหลังคาอาคารผู้โดยสาร ช่วยลดความร้อนภายในอาคารลดลงมากกว่า 7 องศา ลดใช้พลังงานระบบความเย็นในอาคาร 2% คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 11 ล้านบาทต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่า 3,600 ตันต่อปี เที่ยบเท่าต้นไม้ 3.6 แสนต้นต่อปี
สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินแห่งชาติ ภายใต้การดูแลของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ถือเป็นประตูบานใหญ่ของประเทศไทยที่ผู้คนเข้าออกจากทั่วโลกต่อปี กว่า 100 ล้านคน สามารถรองรับสายการบินจากนานาชาติได้ทั่วโลก ถือเป็นหน้าตาอย่างหนึ่งของประเทศ
ดังนั้นสนามบินสุวรรณภูมิจึงไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาสนามบินด้านต่างๆเพื่อรองรับกับ จำนวนผู้โดยสารจำนวนมากมายต่อปี จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อตอบสนองความสะดวกสบายรวดเร็ว และสร้างความประทับใจให้กับผู้ใช้บริการ สนามบินต้องปรับปรุงให้มีความทันสมัยและต้องคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ตามกระแสรักษ์โลก เพื่อความยั่งยืนอีกด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเดินหน้าสู่เป้าหมายข้างต้น ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ AOT ได้มีการดำเนินการในหลายด้าน ทั้งในแง่ของการปรับปรุงกิจการโดยยึดหลักรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างความทันสมัยเพิ่มความสะดวกรองรับการบริการของผู้โดยสารอีกด้วย
ล่าสุดจึงได้ร่วมมือกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (DCAP) เปิดโครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Solar Rooftop) อย่างเป็นทางการ ไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อปั้น สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้นแบบ Green Airport สนามบินรักษ์โลกแห่งแรกในประเทศไทย
ดร.กีรติ กล่าวว่า โครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นับเป็นหนึ่งโครงการสำคัญที่จะขับเคลื่อนสนามบินสุวรรณภูมิให้ก้าวสู่การเป็นสนามบินต้นแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Airport) แห่งแรกในประเทศไทย โดยมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 4.4 MW (เมกะวัตต์) บนหลังคาอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อนำไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์มาพัฒนาใช้หมุนเวียนภายในท่าอากาศยาน
AOT มั่นใจว่าโซลาร์เซลล์จะทำให้ความร้อนภายในอาคารผู้โดยสารลดลงมากกว่า 7 องศา ลดการใช้พลังงานระบบความเย็นภายในอาคารได้ 2% คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 11 ล้านบาทต่อปี สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 3,600 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับจำนวนต้นไม้ 360,000 ต้นต่อปีที่ต้องใช้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินโครงการดังกล่าว AOT ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ร่วมกันวางแผนพัฒนาและทดสอบหลากหลายขั้นตอนเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานในระดับสากล และมั่นใจได้ว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด ปลอดภัย ไม่กระทบต่อการบินและการควบคุมการจราจรทางอากาศตามกฎขององค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration: FAA) ตลอดจนมั่นใจได้ว่าไม่กระทบต่อตัวอาคารแต่อย่างใด
"AOT ให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเดินทาง การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด การติดตั้ง Solar Rooftop บนหลังคาอาคารผู้โดยสารเป็นแนวคิดที่จะนำพลังงานจากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในโครงการรักษ์โลกที่จะนำไปสู่แผนพัฒนาอุตสาหกรรมทางการบินอย่างยั่งยืน"
ดร.กีรติ กล่าวว่า AOT ตั้งเป้าติดตั้งโซลาร์เซลล์บนอาคารต่างๆ รวมถึง Floating Solar บนพื้นน้ำในเขตสนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายการติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 50 MW ซึ่งเท่ากับปริมาณไฟฟ้า 20% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของท่าอากาศยาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นท่าอากาศยานชั้นนำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป