posttoday

ขยายเวลามาตรการภาษีธุรกิจ SME 3 จังหวัดชายแดนใต้ ลดอัตราภาษี หักรายจ่ายได้ 2 เท่า

16 ตุลาคม 2567

รัฐขยายเวลามาตรการภาษีธุรกิจ SME ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ลดอัตราภาษีและหักรายจ่าย 2 เท่า เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและสนับสนุนธุรกิจในพื้นที่ที่มีปัญหา

          เป็นที่ทราบกันว่าสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังมีอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ภาคธุรกิจมีปัญหาไม่กล้าร่วมลงทุนและประกอบธุรกิจในพื้นที่ และมีผลกระทบลุกลามถึงกิจการห้างร้านต่างๆ รวมถึงการว่างงานของแรงงาน มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

          ด้วยเหตุนี้ทางภาครัฐจึงเล็งเห็นถึงปัญหาและออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยในภาคธุรกิจให้มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยล่าสุดได้มีมาตรการส่งเสริมร่วมกันระหว่างธุรกิจที่มีศักยภาพนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ กับธุรกิจที่จัดตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่พิเศษเหล่านี้ ทั้งนี้ยังเพิ่มความร่วมมือกันระหว่างธุรกิจในและนอกเขตพิเศษ ซึ่งประกอบด้วยมาตรการต่างๆ สามารถอธิบายได้ดังนี้

          1. มาตรการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันระหว่างกิจการที่มีศักยภาพนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจกับกิจการที่จัดตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจนำเงินลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วน สามารถนำเงินลงทุนไปใช้ในกิจการเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจได้เท่านั้น และยังนำมาหักเป็นรายจ่ายเงินลงทุนในทรัพย์สินได้ 2 เท่า ภายใต้เงื่อนไขทรัพย์สินต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

          - ทรัพย์สินต้องไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน

          - เป็นทรัพย์สินที่นำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคานั้นต้องได้มาและพร้อมใช้งาน ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2569 (เว้นแต่เครื่องจักรและอาคารถาวรที่อาจได้มาหรือพร้อมใช้งานภายหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2569)

          - ต้องเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ (เว้นแต่ยานพาหนะที่ใช้เพื่อการขนส่งหรือการเดินทางเข้าหรือออกจากเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ)

          - ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่นมาก่อน (ตามประมวลรัษฎากร)

          - ไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม กม. BOI หรือ กม. ว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถ

          - ประเภทสินทรัพย์ ประกอบด้วย เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ยานพาหนะที่จดทะเบียนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ (ไม่รวมรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน) อาคารถาวร (ไม่รวมที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย)

          หมายเหตุ :  เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมเพื่อให้คงสภาพเดิม

            2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนให้มีการติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า เฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา (เฉพาะอำเภอจะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย) และสตูล โดยมีรายละเอียดดังนี้

            - กรณีเป็นบุคคลธรรมดา มีเงินได้ประเภทที่ 5 6 7 และ 8 และมีสถานประกอบกิจการอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ทำการจ่ายซื้อและจ่ายค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569

            - กรณีเป็นนิติบุคคล มีสถานประกอบกิจการอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ทำการจ่ายซื้อและจ่ายค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569

          3. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยมีรายละเอียดดังนี้

          - ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประเภทที่ 7 และ 8 เหลือร้อยละ 0.1 เฉพาะกรณีที่ได้จากการผลิตสินค้าหรือการให้บริการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2567-2569

          - ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเหลือร้อยละ 3 ของกำไรสุทธิ เฉพาะกรณีที่ได้จากการผลิตสินค้าหรือการให้บริการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2567 และสิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2569 และต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับ SME ยกเว้นกำไรสุทธิส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาทแรก (ข้อมูลจาก กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก กรมสรรพากร)

            กล่าวโดยสรุป มาตรการเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ที่มีความท้าทายด้านการพัฒนา ให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนและเพิ่มโอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting