เปิดธุรกิจ SME ที่ได้รับประโยชน์จากธุรกิจออนไลน์ และการเสียภาษีอย่างถูกต้อง
ธุรกิจ SME ได้รับประโยชน์จากออนไลน์ ทั้งด้านการเติบโตและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ธุรกิจขนส่ง คลังสินค้า และบรรจุภัณฑ์เป็นตัวอย่างที่เติบโตพร้อมค้าปลีกดิจิทัล แต่ต้องเข้าใจการเสียภาษีอย่างถูกต้องเพื่อเสริมความมั่นคง
ปัจจุบันธุรกิจออนไลน์เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันท่วงทีและมีความสะดวกสบาย รวมถึงการตอบโจทย์การใช้ชีวิตผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ในการเข้าถึงสินค้าและบริการต่างๆ ง่ายแค่ผ่านปลายนิ้วสัมผัส
ซึ่งในวันนี้จะมาเปิดธุรกิจ SME ที่ได้รับประโยชน์มหาศาลจากธุรกิจออนไลน์ว่าจะมีธุรกิจ SME ประเภทไหนบ้าง และภาษีที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจ SME เหล่านี้ สามารถอธิบายได้ดังนี้
1.ธุรกิจ SME ประเภทขนส่ง (Logistics)
การขนส่งถือเป็นหัวใจหลักสำคัญของการค้าปลีกในธุรกิจออนไลน์ ซึ่งช่วยเกื้อหนุนการขยายตัวในธุรกิจนี้จำนวนผู้ให้บริการมากขึ้นส่งผลดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจขนส่งขั้นสุดท้ายหรือ Last-Mile Delivery จากการ
ขยายตัวของฐานผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยในปี 2565 - 2566 มีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจขนส่งเติบโตเฉลี่ย 4.50% และคาดว่าจะเติบโตเป็นไปตามธุรกิจออนไลน์อีกด้วย (ข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
นอกจากนี้ ธุรกิจ SME ประเภทขนส่ง (Logistics) ยังมีข้อกำหนดในการเสียภาษีเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ โดยมีการเสียภาษีในหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจและรายได้ที่เกิดขึ้น โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล
- หากธุรกิจจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต้องเสียภาษีเงินได้ตามกำไรสุทธิของกิจการในแต่ละปี
- อัตราภาษีสำหรับ SME สำหรับกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาทแรก ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนที่เกิน 300,001 บาท ถึง 3,000,000 บาท อัตราภาษี 15% และส่วนที่เกิน 3,000,001 บาท อัตราภาษี 20%
1.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
- หากขนส่งที่มีพ่วงบริการ่วมด้วย เช่น เป็นขนส่งที่มีห้องเย็นต้องทำความเย็นตลอดการขนส่ง เมื่อรายได้ในส่วนนี้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ธุรกิจจำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเรียกเก็บภาษี VAT จากลูกค้า โดยอัตราภาษี VAT คือ 7% ของมูลค่าสินค้าและบริการ
- ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ธุรกิจเก็บจากลูกค้า สามารถนำมาหักลบกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ธุรกิจจ่ายให้กับผู้จัดหาหรือคู่ค้าได้
1.3 ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
เมื่อทำการจ่ายเงินให้กับผู้ให้บริการภายนอก ธุรกิจขนส่งในนามนิติบุคคลต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เช่น หากมีการจ้างคนขับรถ การเช่ารถเพื่อใช้ในกิจการ หรือจ้างบริษัทขนส่งอื่นๆ ซึ่งต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 1-5% ขึ้นอยู่กับประเภทของการให้บริการ
1.4 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากเจ้าของธุรกิจขนส่งเป็นบุคคลธรรมดา หรือกิจการที่ยังไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จำเป็นต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยคิดจากรายได้รวมในแต่ละปี
1.5 สำหรับธุรกิจขนส่งที่ใช้ป้ายโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขาย จะต้องเสียภาษีป้ายตามกฎหมายอีกด้วย
2.ธุรกิจ SME ประเภทคลังสินค้า (Warehouse)
ธุรกิจคลังสินค้า (Warehouse) ถือเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นจุดจัดเก็บสินค้าเพื่อรอการจัดส่งไปยังผู้บริโภคหรือจุดหมายปลายทางอื่นๆ การเสียภาษีของธุรกิจคลังสินค้าจะมีลักษณะคล้ายกับธุรกิจขนส่ง โดยมีภาษีที่เกี่ยวข้องดังนี้
2.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล
- หากธุรกิจคลังสินค้าจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกำไรสุทธิของธุรกิจ โดยอัตราภาษี SME ในประเทศไทยเป็นดังนี้
- กำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี
- กำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001 - 3,000,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 15%
กำไรสุทธิเกิน 3,000,001 บาท เสียภาษีในอัตรา 20%
2.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากธุรกิจมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และเรียกเก็บภาษีจากลูกค้าซึ่งเป็น 7% ของราคาค่าสินค้าและบริการ
2.3 ภาษีหัก ณ ที่จ่าย การชำระเงินให้กับผู้ให้บริการภายนอก เช่น การจ้างบริษัทจัดการคลังสินค้า หรืองานบริการต่างๆ นิติบุคคลต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งอัตราการหักจะขึ้นอยู่กับลักษณะของบริการ
2.4 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากเจ้าของกิจการคลังสินค้าเป็นบุคคลธรรมดา ธุรกิจยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยอิงจากรายได้ทั้งปี
2.5 ภาษีป้าย หากมีการใช้ป้ายโฆษณาสำหรับธุรกิจ จำเป็นต้องเสียภาษีป้ายตามที่กฎหมายกำหนด โดยคิดตามขนาดและเนื้อหาของป้าย
3.ธุรกิจ SME ประเภทบรรจุภัณฑ์ (Package)
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ขยายตัวควบคู่ไปกับการเติบโตของค้าปลีกออนไลน์ โดยการดำเนินธุรกิจบรรจุภัณฑ์จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และภาษีที่เกี่ยวข้องหลายประการ ธุรกิจประเภทนี้มีภาษีที่ต้องคำนึงถึงดังนี้
3.1 ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
- ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องลงทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% จากลูกค้า
- ธุรกิจจะต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน แม้ว่าเดือนนั้นๆ จะไม่มีรายรับก็ตาม
3.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล หากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ SME จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และมีกำไรสุทธิเกิน 3,000,001 บาท อัตราภาษีที่ต้องเสียสูงสุดอยู่ที่ 20% และธุรกิจจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง (แบบครึ่งปีและแบบสิ้นปี)
3.3 ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เมื่อธุรกิจจ่ายเงินให้ผู้ให้บริการภายนอก เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าโฆษณา หรือค่าบริการต่างๆ นิติบุคคลจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งกรมสรรพากรในอัตราที่กำหนด เช่น 3% หรือ 5% ตามประเภทของการจ่ายเงิน
3.4 ภาษีศุลกากร (กรณีนำเข้า/ส่งออก) หากธุรกิจนำเข้าวัตถุดิบหรือส่งออกบรรจุภัณฑ์ไปต่างประเทศ อาจจะต้องเสียภาษีศุลกากร รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรขาเข้าด้วย
3.5 ภาษีท้องถิ่น ธุรกิจอาจต้องจ่ายภาษีป้าย หรือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ท้องถิ่นที่ธุรกิจตั้งอยู่
3.6 ค่าธรรมเนียมสิ่งแวดล้อม (ถ้ามี) หากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ใช้วัสดุที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และอาจมีค่าธรรมเนียมพิเศษในบางกรณี
กล่าวโดยสรุป ธุรกิจ SME ที่ได้รับประโยชน์จากธุรกิจออนไลน์มีอยู่หลายประเภทดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งสามารถขยายตัวเติบโตและเพิ่มรายได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ในด้านของการบริหารจัดการภาษีก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และต้องทำความเข้าใจปฏิบัติให้ถูกต้องอีกด้วย
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting