บุคคลธรรมดา สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้หรือไม่?
ไขข้อสงสัย! ธุรกิจบุคคลธรรมดาต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่? พบคำตอบหลากหลายกรณีศึกษา เพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติถูกต้อง ลดความเสี่ยงและภาระภาษีที่ไม่จำเป็น
เชื่อว่าหลายคนโดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการที่ทำในนามบุคคลธรรมดา กำลังสงสัยว่าเมื่อกิจการของตนเองได้มีการว่าจ้างหรือจ่ายเงินให้กับบริการที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จะสามารถหักภาษีจากค่าจ้างที่จ่ายไปเหมือนนิติบุคคลได้หรือไม่
คำตอบคือ! บุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจของตนเอง เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเข้ามาตรา 40(8) สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ในบางกรณี ขึ้นอยู่กับลักษณะประเภทของการจ่ายเงินและกิจกรรมที่ทำ เช่น กิจการที่ทำในนามบุคคลธรรมดามีพนักงานประจำและเงินเดือนถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี กิจการสามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราภาษีก้าวหน้าได้ โดยเป็นการหักภาษีจากเงินเดือนก่อนที่จะจ่ายเงินให้กับพนักงานนั้นๆ
นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือการเข้าใจวิธีการและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อให้การจัดการภาษีเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
บุคคลธรรมดา กับ การหักภาษี ณ ที่จ่าย คืออะไร?
การหักภาษี ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) เป็นวิธีการเก็บภาษีล่วงหน้าจากรายได้ของผู้รับเงิน โดยผู้จ่ายเงินจะทำหน้าที่หักภาษีตามอัตราที่กฎหมายกำหนด และนำส่งกรมสรรพากรแทนผู้รับเงิน การหักภาษี ณ ที่จ่ายมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงจากการหลีกเลี่ยงภาษี
นอกจากนี้คำว่า บุคคลธรรมดา หมายถึง บุคคลทั่วไปที่มีตัวตนจริง ไม่ใช่นิติบุคคลหรือองค์กร ซึ่งการจัดเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดาจะพิจารณาจากรายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี โดยแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ตามประมวลรัษฎากร เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าบริการ ดอกเบี้ย ค่าเช่า ฯลฯ
บุคคลธรรมดา หักภาษี ณ ที่จ่าย ได้ไหม
ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดว่า “ให้บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคลผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน” ซึ่งอาจอธิบายได้ว่า บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจ เช่น ผู้ประกอบการร้านค้า หรือบุคคลธรรมดาที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการจ่ายค่าบริการ ค่าจ้าง หรือผลประโยชน์อื่นๆ ในบางประเภทรายจ่ายต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามประเภทของรายจ่ายนั้นๆ ด้วย
โดยสามารถสรุปลักษณะไหนที่กิจการทำในนามบุคคลธรรมดา สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ และหักไม่ได้ ดังนี้
1.กรณีกิจการที่ทำในนามบุคคลธรรมดาจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานประจำ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราภาษีก้าวหน้า 5-35% สำหรับพนักงานที่รายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี และยื่น ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด.1ก แต่ถ้าเงินเดือนไม่เกิน 26,000 บาท ก็ยังไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ต้องยื่น ภ.ง.ด.1ก
2.กรณีกิจการที่ทำในนามบุคคลธรรมดาเป็นผู้ว่าจ้างหรือผู้จ่ายเงินในธุรกรรมประเภทการจ้างงานอิสระ (Freelance) หรือการว่าจ้างผู้ให้บริการ เช่น นักบัญชี ที่ปรึกษา นักออกแบบ กราฟิก วิทยากร เป็นต้น ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เนื่องจากไม่ได้เป็นพนักงานประจำ
3.กรณีกิจการที่ทำในนามบุคคลธรรมดาได้จ่ายค่าเช่าสำนักงาน โกดังเก็บของ หรือรถเช่า หากมีการเช่าสำนักงาน โกดัง หรือรถเช่าจากบุคคลธรรมดา ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
4.กรณีกิจการที่ทำในนามบุคคลธรรมดาจ่ายค่าจ้างทำของ หากกิจการในนามบุคคลธรรมดามีการจ้างทำของจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการในประเทศไทย โดยไม่ได้มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 5%
5.กรณีกิจการที่ทำในนามบุคคลธรรมดาจ่ายค่าบริการโรงแรมและภัตตาคาร จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
6.กรณีกิจการที่ทำในนามบุคคลธรรมดาจ่ายค่ารางวัลในการประกวด การแข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ในอัตรา 5%
7.กรณีกิจการที่ทำในนามบุคคลธรรมดาจ่ายค่านักแสดงสาธารณะ ได้แก่ นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุและโทรทัศน์ นักร้องนักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ ในอัตรา 5-37% ส่วนผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศ ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 5%
8.กรณีซื้อพลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพทูรย์ หยก และอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เฉพาะที่ยังไม่ได้เจียระไน แต่ไม่รวมถึงสิ่งทำเทียม เพชร ไข่มุก จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคล ที่ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม พรฎ. ฉบับที่ 311
การนำส่งภาษี ณ ที่จ่าย
เมื่อบุคคลธรรมดาทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงิน ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง ค่าบริการหรือรายได้ประเภทอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด จะต้องนำส่งภาษีที่หักไว้นั้นให้แก่กรมสรรพากรภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัด เพื่อให้การชำระภาษีเป็นไปอย่างถูกต้องและครบถ้วน การนำส่งภาษีจะต้องใช้แบบฟอร์มที่เหมาะสมกับประเภทของรายได้และลักษณะของผู้รับเงิน เช่น แบบ ภ.ง.ด. 1 สำหรับเงินเดือนและค่าจ้าง แบบ ภ.ง.ด.3 ใช้สำหรับการจ่ายเงินให้บุคคลธรรมดา และแบบ ภ.ง.ด.53 ใช้สำหรับการจ่ายเงินให้คณะบุคคลหรือบริษัท
กล่าวโดยสรุป โดยทั่วไปบุคคลธรรมดาที่ไม่มีสถานะเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจจะไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ในบางกรณี เช่น การจ่ายเงินเดือน การจ่ายค่ารางวัลประกวด จ่ายค่าบริการทำของจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ย่อมมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งกรมสรรพากร การปฏิบัติตามข้อกำหนดทางภาษีอย่างถูกต้องสามารถช่วยลดความเสี่ยงทางกฎหมายและภาระภาษีได้ในอนาคต
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting