“ตรีนุช” นั่งเจ้าภาพประชุมรัฐมนตรีศึกษาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หนุนพัฒนาการศึกษาสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวตรีนุช เทียนทอง นำทีมประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 หรือ APREMC II ภายใต้หัวข้อหลัก “Education Recovery and Transformation towards more Responsive, Relevant and Resilient Education Systems: Accelerating progress towards SDG4 - Education 2030” เมื่อวันที่ 5-7 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การยูเนสโก องค์การยูนิเซฟ และกระทรวงศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจากประเทศสมาชิกกว่า 22 ประเทศ จาก 46 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม รวมถึงผู้บริหารจากองค์การระหว่างประเทศ และผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ กว่า 300 คน
ในงานนี้ กระทรวงศึกษาธิการไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงเป็นประธานในพิธีเปิดและทรงปาฐกถาพิเศษ และทรงเปิดงานนิทรรศการในวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2565
จุดเน้นของการประชุมเป็นการตระหนักถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งก่อให้เกิดความผันผวนที่คาดการณ์ไม่ได้ และมีผลกระทบต่อการศึกษาทั้งในระดับโลกและภูมิภาค รวมถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีของผู้เรียน ที่ส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา ซึ่งมีระยะเวลาเหลืออีกเพียง 8 ปีในการขับเคลื่อน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการหารือร่วมกันของสมาชิก ในการติดตามความก้าวหน้าด้านการศึกษาและวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน เพื่อต่อยอด ช่วยเหลือ และสร้างสรรค์ในการจับมือเดินหน้าร่วมกัน ท่ามกลางสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่
สำหรับประเทศไทย ก่อนเปิดภาคการศึกษาใหม่ 2565 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้รับนโยบายจากนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ให้เร่งติดตามนักเรียนในสังกัดที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ของโรคโควิด-19 ในโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ซึ่งสามารถติดตามกลับมาได้ 93% จากจำนวนที่ตกหล่นหรือหลุดออกจากการศึกษา 10,783 คน
ขณะเดียวกัน ได้นำนโยบายของ รมว.ศธ. ที่ต้องการให้มีการเรียนแบบ On Site 100% ให้มากที่สุด โดยให้จัดเตรียมมาตรการด้านสาธารณสุข ไม่ว่าการประเมินความเสี่ยง การตัดคัดกรอง การเฝ้าระวังอย่างเหมาะสม รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย 6-6-7 เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เกิดกับสถานศึกษา ด้วยหลักการ “ตัดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน” และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครอง ซึ่งภายหลังได้เปิดภาคการศึกษาใหม่ 2565 ไปแล้วกว่า 1 เดือน มีโรงเรียนเอกชนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน มีการเปิดเรียนแบบ On Site 100% ในเขตกรุงเทพมหานคร 635 แห่ง ภูมิภาค 3,003 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2565) ทั้งนี้ โรงเรียนไม่จำเป็นต้องปิดการเรียนการสอนแม้จะพบการติดเชื้อในโรงเรียน แต่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนตามแผนเผชิญเหตุอย่างแม่นยำ และรวดเร็ว เพราะเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้นักเรียนได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ที่โรงเรียน
นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวว่า นางสาวตรีนุช เทียนทอง ได้กำชับ สช. ให้เร่งดำเนินการในส่วนของนโยบายด้านการติดตามค้นหาเด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคันให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ซึ่งในขณะนี้ สช. ได้ดำเนินการติดตามทั้งในกรุงเทพมหานครและรายจังหวัดครบถ้วนแล้ว โดยเด็กเหล่านั้นจะได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ได้รับการศึกษาอย่างน้อยจนจบการศึกษาภาคบังคับ หรือได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือการฝึกอบรม อาชีพและพัฒนาฝีมือเพื่อการมีงานทำ เพื่อดูแล ช่วยเหลือ ส่งต่อ โดยบูรณาการดำเนินงานร่วมกับ หน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องทุกระดับ พร้อมเร่งฟื้นฟู Learning Loss ของนักเรียนอย่างเต็มที่
ซึ่งแนวทางที่ สช. ได้ดำเนินการตามนโยบายทางการศึกษา ของนางสาวตรีนุช เทียนทอง ล้วนสอดรับกับทิศทางการพัฒนาการศึกษา โดยมุ่งมั่นที่จะประสานความร่วมมือเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งในเสริมสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (SDG4) (Education 2030) ซึ่งจะช่วยให้สามารถจัด “การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality) ครอบคลุม (Inclusion) เท่าเทียม (Equity) และมีความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality) ตลอดชีวิตของเด็กและเยาวชน” อันจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนไทยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและเรียนรู้ทักษะการเป็นพลเมืองโลก รวมถึงทักษะของศตวรรษที่ 21