posttoday

เทรนด์ก่อสร้าง-อสังหาฯในอีก5 ปี เคลื่อนสู่ยุค 'BIM' รับเทคโนโลยี 5 จีมาเยือน

14 สิงหาคม 2562

นายกสมาคมฯ ชี้เทคโนโลยีระบบBIM งานก่อสร้างโมเดล 3 มิติ ลดต้นทุนความซ้ำซ้อนจากการปรับแก้ไขแบบที่มาจากหลายภาคส่วน พร้อมเพิ่มความโปร่งใสการตรวจสอบส่งมอบโครงการฯ

นายกสมาคมฯ ชี้เทคโนโลยีระบบBIM งานก่อสร้างโมเดล 3 มิติ ลดต้นทุนความซ้ำซ้อนจากการปรับแก้ไขแบบที่มาจากหลายภาคส่วน พร้อมเพิ่มความโปร่งใสการตรวจสอบส่งมอบโครงการฯ

เทรนด์ก่อสร้าง-อสังหาฯในอีก5 ปี เคลื่อนสู่ยุค \'BIM\' รับเทคโนโลยี 5 จีมาเยือน นายอมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย และ นายกสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร

นายอมร พิมานมาศ ศาสตราจารย์สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย เปิดเผยในฐานะนายกสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร  (TBIM:Thailand Building Information Modeling)ว่า การนำข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ  มาช่วยในการสร้างแบบ(โมเดล)พิมพ์เขียวโครงการก่อสร้าง 3 มิติ หรือ 'BIM'จะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมโครงการก่อสร้างหรืออาคารประเภทต่างๆมากขึ้น และเห็นแนวโน้มชัดเจนขึ้นภายใน 5 ข้างหน้านี้ ทันทีที่เทคโนโลยี5จี เกิดขึ้นในประเทศไทย

สำหรับ BIM คือ กระบวนการทำงานร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เช่น เจ้าของโครงการ ผู้ออกแบบฝ่ายต่างๆ วิศวกรโครงการ วิศวกรระบบ สถาปนิก ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง และ ผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น โดยการใช้โมเดล 3 มิติ เป็นศูนย์กลางในการทำงานร่วมกัน ด้วยโมเดลดังกล่าวจะมีข้อมูลในแต่ละงานระบบย่อยบรรจุอยู่ และสามารถแบ่งปัน (Sharing)การเรียกดูข้อมูลระหว่างกัน ผ่านเทคโนโลยีคลาวด์

โดย BIM มีจุดเด่นประกอบด้วย 1.ช่วยให้เจ้าของโครงการ (Owner) มองเห็นโมเดลการก่อสร้างและปรับแก้ไขได้แบบเสมือนจริง 2. ลดการปะทะ (Crash) ของโมเดลการออกแบบส่วนย่อยในโครงการ 3. ความสมบูรณ์ครบถ้วนของแม่แบบพิมพ์เขียว(Master Blue Print) โครงการในรูปแบบ3 มิติ จากเดิมอยู่ในรูปแบบ 2 มิติ ที่เห็นแม่แบบพิมพ์เขียวโครงการลักษณะลายเส้น

ด้านที่ 3. เข้ามาช่วยการถอดแบบเพื่อประเมินราคาโครงการแต่ละส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น วัสดุก่อสร้าง 4.สามารถสร้างสถานการณ์จำลองการก่อสร้างโครงการได้เสมือนจริงในทุกช่วงดำเนินการ วิเคราะห์หาระยะเวลาในการก่อสร้างที่เหมาะสม

5. มีความคล่องตัวจากการเขื่อมต่อร่วมกับระบบโปรแกรมด้านการเงิน หรือ ระบบบริหารจัดการอื่นๆ เช่น SAP เป็นต้น เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันมองเห็นเป็นภาพเดียวกัน และ6. แบบจำลองโมเดล 3 มิติดังกล่าวยังสามารถใส่ข้อมูลต่างๅ แทรกในแต่ละวัตถุ (Objects) เพื่อให้เจ้าของโครงการหรือผู้เกี่ยวข้อง เรียกดูคำอธิบายได้ เป็นต้น

"ปัญหาที่ผ่านมา หากโครงการฯนั้นๆ มีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แม่แบบพิมพ์เขียวก็จะยิ่งมีความหลายหลาย และเมื่อมีการปรับแก้แบบแต่ละครั้ง ทั้งจากโอนเนอร์ หรือ ผู้เกี่ยวข้องเกิดขึ้นโดยที่แต่ละฝ่ายไม่ทราบ ก็อาจทำให้โครงการนั้นๆเกิดความผิดพลาด เสียหาย ล่าช้า หรือหากเลวร้ายที่สุด คือ การก่อสร้างโครงการไม่สำเร็จ เป็นต้น นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องความโปร่งใสการก่อสร้างโครงการฯ กรณีที่มีการปรับแก้แบบ จุดใด จุดหนึ่ง โดยโอนเนอร์ สามารถเรียกดูข้อมูลจากผู้รับเหมาก่อสร้างที่เสนอราคาค่าปรับแบบหรือค่าดำเนินการได้อย่างละเอียด ได้ถูกต้องตามจริงด้วย" นายอมร กล่าว

นายอมร กล่าวว่าสมาคมฯ หรือ TBIM ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการ จากสาขาวิชาชีพ และ จากหลากหลายองค์กร เช่น สถาบันวิชาชีพสถาปนิกและวิศวกร ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ที่มีความสนใจ BIM มาใช้ในการทำงานให้สอดคล้องไปในทางเดียวกัน ภายใต้มาตรฐานและข้อกำหนดต่างๆ ที่ใข้สำหรับการทำงานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

ทั้งนี้ ยังร่วมกับสถาบันต่างๆ ผลักดันการใช้งาน BIM ในทุกภาคส่วน เช่น การจัดทำมาตรฐานของวัสดุในแบบจำลองสารสนเทศ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างสมาคมฯกับสภาอุตสาหกรรม การร่วมมือกับชมรม BIM Club Thailand จัดกิจกรรม BIM Boot Camp 2019 ขึ้น เพื่อพัฒนาทักษะการทำงาน BIM ในเชิงเทคนิค

นอกจากนี้สมาคมฯ ยังร่วมกับ เอสซีจี (SCG) และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยจะเตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในโครงการ BIM Object Standard เพื่อกำหนดมาตรฐานการผลิตวัสดุเพื่อนำไปใช้ในงานBIM ในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้องในอนาคต ประมาณเดือน ตุลาคม ปีนี้

รวมถึงทางสมาคมฯยังมีความประสงค์ที่จะขอความร่วมมือกับทาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสำนักงานส่งเสริมเศรษกิจดิจิทัล (DEPA) ในการจัดทำโครงการ Virtual Twin City Project โดยมุ่งเน้นที่ระดับจังหวัด เพื่อส่งเสริมโครงการ Smart City Project ในประเทศไทย ก้าวสู่ Thailand 4.0 ด้วย

ปัจจุบัน มีผู้พัฒนาโครงการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยได้ นำเทคโนโลยีระบบ BIM เข้ามาใช้ในงานก่อสร้างแล้ว อาทิ สถานี โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีส้ม ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และโครงการ แอชตัน อโศก ของบริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) ส่วนในภูมิภาคอาเซียน มีปสิงคโปร์ เป็นประเทศแรกๆที่นำ BIM มาใช้ในการพัฒนาโครงการก่อสร้าง เช่น โครงการสมาร์ท ซิตี

เทรนด์ก่อสร้าง-อสังหาฯในอีก5 ปี เคลื่อนสู่ยุค \'BIM\' รับเทคโนโลยี 5 จีมาเยือน สถานีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู

เทรนด์ก่อสร้าง-อสังหาฯในอีก5 ปี เคลื่อนสู่ยุค \'BIM\' รับเทคโนโลยี 5 จีมาเยือน

ภาพจาก NBM/EBM และ Sino-Thai Engineering and Construction PC