posttoday

'ซีอีโอ' อนันดาฯ เตรียมยื่นอุทธรณ์ใน 30 วัน 'แอชตัน อโศก' หลังศาลปกครองสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ

02 สิงหาคม 2564

อีกหนึ่งประเด็นร้อนในวงการอสังหาริมทรัพย์ หลังคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ "แอชตัน อโศก" คอนโดมิเนียมสูง 50 ชั้น มูลค่าโครงการกว่า 6,700 ล้านบาท ของบริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา

ส่งผลให้หลายฝายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยในโครงการแอชตัน อโศก กว่า 580 ครัวเรือน ต่างรอคำตอบจากบริษัทอนันดาฯ ว่าจะมี "แอคชั่น" ที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้อย่างไร

ต่อเรื่องนี้ บริษัทอนันดาฯ เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ด้วยการ 'ฟีดแบค' ประเด็นนี้ในแทบจะทันทีของช่วงดึกในวันเดียวกัน โดยฝ่ายบริหารบริษัทอนันดาฯ ระบุว่าได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย และเห็นแตกต่างจากคำพิพากษา ด้วยเรื่องดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด พร้อมใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อประโยชน์ลูกค้าและเจ้าของร่วม รวมถึงพันธมิตรธุรกิจประเทศญี่ปุ่น 'มิตซุย ฟูโดซัง'

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม คณะผู้บริหารบริษัท อนันดาฯ นำโดย ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ได้ออกมาชี้แจงผ่านสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ ในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ชานนท์ ระบุว่าบริษัทจะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษา ตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปยังศาลปกครองสูงสุด ภายใน 30 วัน หลังศาลปกครองกลางมีคำสั่ง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับบริษัท และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ซึ่งบริษัทมั่นใจว่ากระบวนการพัฒนาโครงการแอชตัน อโศก ทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องและสุจริต ชอบด้วยกฎหมายทุกขั้นตอน

โดยตลอดช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้เร่งสื่อสารทำความเข้าใจกับเจ้าของร่วมต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมให้การสนับสนุน รวมถึงการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายทุกวิถีทาง รวมถึงการให้ใช้ข้อมูลกับสถาบันการเงิน เพื่อทำความเข้าใจกับกรณีที่เกิดขึ้น

ชานนท์ ย้ำว่าที่ผ่านมา บริษัทดำเนินงานพัฒนาโครงการ แอชตัน อโศก อย่างระมัดระวัง รอบคอบ และให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องของการซื้อที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีการศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ทางเข้า-ออก ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จากโครงการอื่นๆ

"โครงการ แอชตัน อโศก ไม่ใช่รายแรกที่ใช้ทางเข้า-ออกของรฟม. รวมถึงเรื่องการดำเนินงานขออนุมัติใบอนุญาตต่างๆ ทุกขั้นตอนอย่างถูกต้องภายใต้กฎระเบียบและข้อบังคับของภาครัฐอย่างเคร่งครัดเสมอมา และได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน"

สำหรับโครงการ แอชตัน อโศก เป็นคอนโดมิเนียมร่วมทุนกับบริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด เป็นอาคารสูง 50 ชั้น มีห้องชุดพักอาศัยจำนวน 783 ยูนิต มูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ผ่านการอนุมัติจาก 8 หน่วยงานราชการ ได้แก่ 1.สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.), 2.รฟม., 3.สำนักงานเขตวัฒนา, 4.สำนักงานที่ดินพระขโนง, 5.สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพฯ (สจส.), 6.กรมโยธาธิการและผังเมือง, 7.สำนักการโยธา กรุงเทพฯ และ 8.กรมที่ดิน

โดยมีใบอนุญาติ 9 ฉบับ ได้แก่ 1.ใบอนุญาติใช้ทางของรฟม., 2.ใบอนุญาติเชื่อมทางสาธารณะ, 3-5. ใบรับแจ้งการก่อสร้างตามมาตรการ 39 ทวิ 3 ใบ, 6.ใบรับรองเปิดใช้อาคาร, 7.หนังสือรับรองจดทะเบียนอาคารชุด, 8.หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด และ 9 หนังสือเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

นอกจากนี้ บริษัทอนันดาฯ ยังได้ขอความเห็นก่อนดำเนินการจาก 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.รฟม., 2.สำนักงานเขตวัฒนา, 3.กองควบคุมอาคาร, 4.สำนักการจราจร, 5.กองควบคุมอาคาร, 6.สำนักการโยธา กทม., 7.สำนักงานที่ดิน และ 8.สผ. โดยผ่านคณะพกรรมการ 5 ชุด ทั้งนี้ ทุกขั้นตอนมีคณะกรรมการจากหลากหลายส่วนงานเข้ามาพิจารณาร่วมกัน

ชานนท์ สะท้อนมุมมองเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไทย รวมถึงกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง ด้วยปัจจุบันโครงการ แอชตัน อโศก มีการส่งมอบโครงการไปแล้ว 87% คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 5,639 ล้านบาท หรือ 666 ยูนิต มีเจ้าของร่วม 578 ครอบครัว เป็นลูกค้าชาวไทย 438 ครอบครัว และลูกค้าต่างชาติ 140 ครอบครัว จาก 20 ประเทศ

โดยมีลูกบ้านที่ได้เข้าอยู่อาศัยในโครงการมากว่า 2 ปี จำนวน 488 ครอบครัว คิดเป็น 84% ของยอดโอนทั้งหมด และลูกบ้านที่อยู่อาศัยน้อยกว่า 2 ปี จำนวน 90 ครอบครัว คิดเป็น 16% ของยอดโอนทั้งหมด โดยลูกบ้านที่เป็นเจ้าของร่วมทั้งหมดที่ซื้อโครงการยังยืนยันที่จะอยู่อาศัยในโครงการต่อไป

"ประเด็นดังที่เกิดขึ้น จะกระทบต่อการออกหุ้นกู้ชุดล่าสุดของบริษัท 2 ชุด ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2564 วงเงินรวม 6,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเลื่อนการเสนอขายออกไปประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้นักลงทุนได้ความเข้าใจกับข้อมูลและข่าวสารในประเด็นดังกล่าว ซึ่งบริษัทเชื่อว่าหุ้นกู้ที่บริษัทเตรียมออกนั้น จะสามารถออกได้ตามแผนที่วางไว้" ชานนท์ กล่าว

ขณะที่ พันธมิตรญี่ปุ่น บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด ที่ร่วมพัฒนาโครงการ แอชตัน อโศก และอีกหลายๆ โครงการต่างๆกับบริษัท ได้สอบถามเข้ามาในประเด็นดังกล่าว ซึ่งบริษัทได้มีการชี้แจงตอบข้อสงสัยต่างๆ ให้ทางพันธมิตรได้ทราบ แต่ก็ยังมีความไม่เข้าใจในข้อกฎหมายของประเทศไทยอยู่บ้าง

เนื่องจากกฎฑหมายในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ซึ่งพันธมิตรญี่ปุ่นยังมีความเชื่อมั่นในกระบวนการขออนุญาตก่อสร้างของบริษัทที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง โดยได้มีการวางเงินมัดจำให้กับทางรฟม. ไว้ส่วนหนึ่งแล้ว รวมถึงบริษัทจะมีการก่อสร้างอาคารจอดรถ 7 ชั้น ในพื้นที่ดังกล่าวติดกับทางออกสถานี MRT สุขุมวิท ข้างโครงการ แอชตัน อโศก ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างเองให้กับรฟม. เพื่อให้รฟม. ใช้ประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกประชาชนที่มาใช้บริการรถไฟฟ้า

ในส่วนของที่ดิน ที่เป็นข้อพิพาทของโครงการ แอชตัน อโศก ถูกศาลพิพากษาว่าอาจไม่เข้าเงื่อนไขตามพ.ร.บ.เวนคืนที่ดิน ที่รฟม.ขอเวนคืนจากเจ้าของเก่า เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สาธารณะ แต่บริษัทยืนยันว่าขณะนั้นได้ใช้หลักเกณฑ์การพัฒนาที่ดิน แบบ TOD (Transit Oriented Development) โดยสามารถนำมาใช้ในการประกอบธุรกิจที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ได้ ซึ่งทางบริษัทได้มีการให้ค่าตอบแทนโดยการก่อสร้างอาคารจอดรถให้รฟม. รวมมูลค่า 100 ล้านบาท เพื่อแลกกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรฟม. เป็นทางผ่านได้อย่างถูกต้อง

ดังนั้น การดำเนินการของบริษัท ในการขออนุญาตก่อสร้างและการใช้ที่ดินดังกล่าว ถือว่าไม่ขัดวัตถุประสงค์ของการใช้ที่ดินรฟม. ที่อยู่ในพ.ร.บ.เวนคืน ซึ่งศาลปกครองได้มีการพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ แอชตัน อโศก เนื่องจากการดำเนินการของบริษัทขัดวัตถุประสงค์ของการใช้ที่ดินของรฟม. ตามพ.ร.บ.เวนคืน ทำให้บริษัทจะต้องเดินหน้าต่อสู่ เพื่อขอความยุติธรรมให้กับบริษัท และปกป้องลูกบ้านและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน